เรื่องโดย ไอซี (วริศา ใจดี)
การมาญี่ปุ่นครั้งนี้ ฉันและพี่สาวมีโอกาสชมการทดลองของพวกเราโดยนักบินอวกาศญี่ปุ่น ณ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA ผ่านการถ่ายทอดสดจากสถานีอวกาศนานาชาติ อีกทั้งยังได้ชม พิพิธภัณฑ์อวกาศ Tsukuba Space Center และพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสมัยใหม่แห่งชาติของญี่ปุ่น (มิไรคัง) อีกด้วย
ไอเดีย (คนซ้ายสุด) กับเพื่อนๆ เข้าร่วมโครงการ Space Seeds for Asian Future ของ สวทช. ในปี พ.ศ. 2556
ก่อนอื่นฉันขอเล่าที่มาของการมาเข้าร่วมกิจกรรม Asian Try Zero G 2017-2018 สักหน่อย ฉันรู้จักโครงการนี้จากพี่ไอเดีย (ศวัสมน ใจดี) พี่สาวของฉัน โดยพี่สาวฉันได้สมัครเข้าร่วมโครงการ Space Seeds for Asian Future 2013 ซึ่งจัดโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับองค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA ซึ่งเป็นการทดลองปลูกถั่วแดงญี่ปุ่นในอวกาศเปรียบเทียบกับที่ปลูกบนโลก
แนวความคิด Zero G painting ของฉันกับพี่ได้รับการคัดเลือกจาก JAXA ในปี 2558
หลังจากนั้นปี พ.ศ. 2558 ก็มีโครงการ Asian Try Zero G 2015 เปิดโอกาสให้เยาวชนอายุไม่เกิน 27 ปี ส่งแนวความคิดการทดลองด้านอวกาศเข้าร่วมประกวด เพื่อคัดเลือกให้นักบินอวกาศของ JAXA นำไปทดลองจริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)
นักบินอวกาศญี่ปุ่น คุณคิมิยะ ยูอิ กำลังทดลองแนวความคิด Zero G Painting ของพวกเราในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)
ฉันกับพี่ชอบอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับดวงดาวและนักบินอวกาศ และก็ชอบดูภาพยนตร์แนวอวกาศอยู่แล้ว จึงช่วยกันคิดและได้ส่งการทดลองเรื่อง Zero G painting เข้าร่วมประกวด เพื่อต้องการทราบว่าในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงนั้น เราจะวาดภาพบนอวกาศได้หรือไม่ ภาพวาดจะออกมาเป็นเช่นใด ปรากฏว่าแนวความคิดของพวกเราได้รับการคัดเลือกให้นำไปทดลองจริงบนสถานีอวกาศนานาชาติในปีนั้น
ต่อมาพวกเราก็ส่งแนวความคิดเข้าร่วมทุกปีจนมาถึงปี พ.ศ. 2560 แนวความคิด “Inside the Slinky” ของพวกเราก็ได้รับการคัดเลือกอีกครั้ง รวมแล้วพวกเราส่งไปทั้งหมด 4 เรื่อง และได้รับเลือก 2 เรื่อง ซึ่งในปีนี้มีการเปิดโอกาสให้เจ้าของแนวคิดที่ได้รับการคัดเลือกได้เดินทางไปชมการทดลองแบบ real time ด้วยตนเองที่ศูนย์ควบคุมภาคพื้นดิน Tsukuba Space Center เมืองสึคุบะ พวกเราจึงได้รับโอกาสเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ในระหว่างวันที่ 11-16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 โดยร่วมเดินทางไปกับคุณปริทัศน์ เทียนทอง (นักวิชาการอาวุโส สวทช.) หรือคุณเบ้ง และ ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ (ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์ สวทช.)
ชมพิพิธภัณฑ์อวกาศ Tsukuba Expo Center
เดินทางมาถึงสนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น
ในวันแรกที่ไปถึงสนามบินนาริตะ โตเกียว อากาศหนาวมากถึงแม้ว่าจะไม่มีหิมะตก แต่ก็มีลมพัดแรง อุณหภูมิประมาณ 5-10 องศาเซลเซียส พวกเราได้เดินทางต่อไปยัง Tsukuba Space Center เมืองสึคุบะ จังหวัดอิบารากิ โดยรถบัสประจำทาง ฉันประทับใจลักษณะเมืองนี้มากๆ เมืองสึคุบะมีฉายาว่าเป็น “เมืองแห่งวิทยาศาสตร์” ฉันเห็นด้วย เพราะดูจากตึกและลักษณะการจัดเรียงต่างๆ ทำเอาฉันรู้สึกเหมือนหลุดเข้ามาอยู่ในภาพยนตร์แนวไซไฟเลยทีเดียว
เมื่อเราเดินทางมาถึง เราก็ต้องเดินเท้าต่อเพื่อนำของไปเก็บยัง Okura Frontier Hotel Tsukuba โรงแรมที่พักซึ่งอยู่ใกล้กับ Tsukuba Space Center ระหว่างทางเดิน เราได้ถามทางกับคุณลุงชาวญี่ปุ่น ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ เขาได้อาสาแนะนำเรื่องทางเดินให้พวกเรา โดยสอนการดูทิศ
คุณลุงบอกว่า เมืองนี้ถูกออกแบบมาให้สอดคล้องกับปรากฏการณ์ทางท้องฟ้าหลายอย่าง อย่างกลางสะพานที่เขาคาดว่าเป็นใจกลางของเมือง เป็นเสมือนจุดที่เมืองเริ่มแผ่กว้างออกไปนั้น จะมีเสาหลักอันสูงที่เมื่อเรายืนตรงกับเสาแล้วมองไปในวันที่เกิดวิษุวัต (equinox) หรือจุดราตรีเสมอภาค เป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งทำมุมฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี ซึ่งจะเกิดขึ้นปีละ 2 ครั้ง หรือในหนึ่งรอบที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ความเอียงของแกนโลกจะเลื่อนมาอยู่ในระนาบที่ได้ฉากกับตำแหน่งดวงอาทิตย์ ซึ่งวันนั้นจะเป็นวันที่มีช่วงกลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี
เราจะสามารถเห็นแนวตึกที่เอียงเรียงต่อกันเป็นเส้นสองฝั่ง ลากไปตัดกันตรงจุดจุดหนึ่งซึ่งจะเป็นจุดที่ดวงอาทิตย์ขึ้นพอดี และการออกแบบแผ่นอิฐปูพื้น ที่การเรียงตัวของมันสามารถบอกทางบอกทิศให้เราโดยไม่ต้องพึ่งการอ่านป้ายหรือดูลูกศรชี้เลย ซึ่งนั่นยิ่งทำให้ฉันทึ่งและนับถือในความเป็นเมืองแห่งวิทยาศาสตร์เข้าไปอีก เพราะไม่ใช่แค่เป็นเมืองที่มีพิพิธภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังเป็นการนำวิทยาศาสตร์มาเกี่ยวข้องกับทุกส่วนของเมือง รวมถึงวิถีชีวิต ของผู้คนอีกด้วย ช่างน่าทึ่งจริงๆ !!
ด้านหน้าของ Tsukuba Expo Center
หลังจากที่เราเก็บของที่โรงแรมแล้ว เราก็เดินทางต่อไปยัง Tsukuba Expo center ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเมืองสึคุบะ เป็นสถานที่ที่ยิ่งใหญ่มากๆ เลยทีเดียว ฉันได้ดูรอบๆ พิพิธภัณฑ์ที่มีการจัดแสดงอธิบายหลักการวิทยาศาสตร์ของนักวิทยาศาสตร์ท่านต่างๆ เช่น เซอร์ไอแซก นิวตัน ก็จัดแสดงเป็นลูกแอปเปิ้ล ส่วนโทมัส อัลวา เอดิสัน ก็จัดแสดงเป็นหลอดไฟ พร้อมคำอธิบายถึงเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์ท่านนั้นๆ และสิ่งที่ท่านคิดค้นขึ้น ฉันสังเกตเห็นว่าเด็กๆ จะชอบบริเวณนี้เป็นพิเศษ เพราะดูคล้ายๆ กับสนามเด็กเล่นที่น่าสนใจ พอเด็กๆ วิ่งมาดูว่าลูกแอปเปิ้ล หรือหลอดไฟอันยักษ์พวกนี้สื่อถึงอะไร พวกเขาก็จะได้รับความรู้ไปด้วยผ่านการเล่นอย่างสนุกสนาน
หินขนาดยักษ์ สามารถขยับเอียงไปมาได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส
สำหรับไฮไลต์ของด้านนอกนี้ก็คือหินขนาดยักษ์น้ำหนักมหาศาล แต่ทุกคนสามารถผลักมันให้ขยับเอียงไปมาได้ด้วยปลายนิ้ว นั่นก็เพราะบริเวณฐานล่างของมันมีตาข่ายและบ่อน้ำรองรับอยู่ ใช้หลักวิทยาศาสตร์ในเรื่องแรงพยุงมาช่วยนั่นเอง
นิทรรศการบริเวณ Fun Science Zone
พอเข้าไปด้านในของพิพิธภัณฑ์ ชั้นล่างสุดจะเป็นโซนของนิทรรศการที่จัดแสดงเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวันที่เราอาจมองข้ามไปผ่านการเล่นกิจกรรมด้วยตนเอง โดยแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ ได้แก่ Fun Science Zone ที่จะมีของเล่นทางวิทยาศาสตร์มาให้เราเล่น ส่วนมากจะเป็นเรื่องกระแสไฟฟ้า ที่จะให้เรากดปุ่ม กดสวิตช์ เชื่อมต่อวงจรให้ไฟติดแล้วสังเกตดูค่าต่างๆ รวมถึงการทดลองเรื่องอื่นๆ เน้นให้ผู้เข้าชมเข้าใจวิทยาศาสตร์ผ่านการลองกด ลองจิ้ม ลองขยับ ลองทำดู เป็นการทดลองสั้นๆ ให้ได้สนุกกันอีกด้วย ต่อมา Energy Zone ให้เราได้เรียนรู้ถึงพลังงานชนิดต่างๆ และการกำเนิดของมัน โดยจะมีทั้งในรูปแบบวิดีทัศน์ และการทดลองเล็กๆ ด้วย
สำหรับโซน Science Work จะแสดงนิทรรศการที่สื่อถึงแรงบันดาลใจที่นำไปสู่ความสำเร็จ ผ่านการมองโลกในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ และยังมี Science Q&A Corner สำหรับหาคำตอบที่เราสงสัยโดยการเล่นของเล่นหรือทำการทดลองง่ายๆ และโซนสุดท้ายของชั้น 1 ก็คือโซน Rediscovery of Science City TSUKUBA เป็นนิทรรศการที่อธิบายถึงที่มาของชื่อเมืองแห่งวิทยาศาสตร์ที่เป็นฉายาของเมืองสึคุบะ โดยมีผลงานวิจัยและการสำรวจต่างๆ มาสนับสนุน และพอเราเดินต่อไป ออกจากเขตโซนของนิทรรศการ เราจะได้ชมนิทรรศการที่เรียกว่า Tsukuba Expo’85 Memorial จัดแสดงเกี่ยวกับวิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่มีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในตู้จัดแสดงก็จะมีตั้งแต่โทรศัพท์รุ่นโบราณ พิมพ์ดีด ภาพมนุษย์อวกาศสมัยแรกเริ่ม เป็นต้น
เมื่อขึ้นไปชั้นที่ 2 ที่เรียกว่า Challenge for future จัดแสดงในห้องที่เป็นคล้ายกับป่าแห่งอนาคต โดยจะมีโซนต่างๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆ กันไป ฉันชอบชั้นสองมากเพราะเขาจัดได้อย่างสวยงามราวกับว่าเราได้หลุดไปอยู่ในโลกอนาคต ที่มีทั้งโมเดลเรือดำน้ำ ยานอวกาศ ดีเอ็นเอ ที่มารวมอยู่ในที่เดียวกัน สื่อถึงว่าทุกอย่างรอบตัวเราหรือแม้แต่ในตัวเราล้วนพัฒนาได้ เป็นเทคโนโลยีในอนาคตได้ทั้งนั้น
ภาพน้ำไหลฉายจากโปรเจ็กเตอร์ เข้ากับบรรยากาศของโซนป่าแห่งอนาคต
เมื่อเดินเข้าไป อย่างแรกที่เราเจอคือแท่นกลมๆ ขนาดใหญ่ที่แสดงภาพน้ำไหลจากการฉายโปรเจ็กเตอร์ลงมา คล้ายเป็นบ่อน้ำ อยู่ตรงศูนย์กลางของนิทรรศการในชั้นนี้
โซน Wonder Lab จัดแสดงบนกำแพงใหญ่ แล้วเจาะเป็นช่องๆ ให้เราส่องดูนิทรรศการด้านใน โดยเนื้อหาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสำรวจทางวิทยาศาสตร์เชิงชีววิทยา มีทั้งกล้องจุลทรรศน์และภาพเซลล์ต่างๆ
ถัดออกมาเป็นโซน Reaching Beyond Limits แสดงถึงว่า เทคโนโลยีหลายๆ อย่าง ในอดีตเราคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่พอมาในปัจจุบันมันกลับเกิดขึ้นได้จริง เช่น การขุดเจาะน้ำมันเชื้อเพลิง การสร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์ จึงคล้ายกับการก้าวข้ามขอบเขตจำกัดของความคิด ทำให้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมา ซึ่งเราสามารถต่อยอดไปสู่อนาคตนั่นเอง
เรือดำน้ำจำลองสำหรับขุดเจาะเชื้อเพลิงใต้ทะเลเป็นสิ่งที่พวกเราชอบมาก เพราะเราจะสามารถเข้าไปนั่งในเรือดำน้ำ และกดดูวีดิทัศน์ที่ถ่ายจากใต้ทะเลได้ ทำให้รู้สึกเหมือนว่าเรากำลังนั่งอยู่ในเรือดำน้ำที่แล่นอยู่ใต้ท้องทะเลจริงๆ
โซนต่อมาคือ Nano Technology นำเสนอเรื่องราวของ Exploring Nano world โดยจัดแสดงให้เราได้ชมภาพขยายของวัสดุใหม่ๆ ที่ทำขึ้นโดยเทคโนโลยีนาโน ซึ่งทำให้มีคุณลักษณะพิเศษต่างออกไปจากวัสดุปกติทั่วไป
เมื่อเรามีเทคโนโลยีมากมายเหล่านี้บนโลกแล้ว เราก็ต้องไม่ลืมที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมเอาไว้ด้วย ไม่ให้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่มาทำลายของเดิมๆ ไปได้ นั่นก็คือที่มาของโซน Saving Global Environment แสดงวิธีการช่วยลดภาวะโลกร้อน ภัยร้ายที่กำลังกัดกินโลกของเรา โดยสาเหตุของมันก็มาจากมนุษย์เรานี่เอง โซนนี้จึงนำเสนอแนวทางต่างๆ ในการลดปัจจัยที่จะก่อให้เกิดภาวะดังกล่าว เช่น การใช้พลังงานสะอาด การไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจก๊าซเรือนกระจก ฯลฯ
ผ่านเรื่องของสิ่งแวดล้อมและพลังงานไปแล้ว ก็ต้องอย่าลืมสิ่งมีชีวิตบนโลกเราด้วยเช่นกัน ในโซน Exploring Life Sciences เป็นเทคโนโลยีเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต ให้เราศึกษาดีเอ็นเอหรือสารพันธุกรรมระดับลึก ฝึกต่อคู่เบส ผ่านสื่อที่เราสามารถกดเลื่อนเล่น และฟังคำอธิบายได้ในหน้าจอที่เป็นส่วนหนึ่งของโต๊ะ
จบไปแล้วสำหรับโซนบนโลก ต่อไปเราก็ไปดูโซนของอวกาศกันบ้าง หรือโซน Exploring Outer Space เป็นโซนที่พวกเราเดินดูอยู่นานที่สุด ด้วยเพราะมีของจัดแสดงที่พวกเราไม่ได้เห็นกันง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่นับดูผ่านรูปภาพหรืออินเทอร์เน็ต แต่นี่จะเป็นโมเดลจำลองอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศ ได้แก่ ห้องทานอาหาร ที่จะต้องมีท่อสำหรับเติมน้ำลงไปในอาหารซอง เพื่อให้มันนิ่มขึ้นและดูดทานได้
ห้องน้ำ ที่ต้องแก้ปัญหาของสภาพไร้แรงโน้มถ่วงที่ของเหลวจะลอยไปมา และก็ต้องยึดตัวคนไม่ให้ลอยไปมาอีกด้วย ห้องควบคุม และชุดนักบินอวกาศ ที่อธิบายถึงส่วนต่างๆ และความสำคัญของมัน ในการปกป้องตัวนักบิน ที่ต้องไปปฏิบัติภารกิจ ไม่ให้เกิดอันตรายทั้งจากรังสี และสภาวะภายนอก และต้องทำให้เอื้ออำนวยความสะดวกในการจะขับถ่าย จะหายใจ เคลื่อนไหว เป็นต้น
นิทรรศการภาพถ่ายนักบินอวกาศญี่ปุ่น
และเรายังได้เห็นภาพถ่ายนักบินอวกาศของประเทศญี่ปุ่น แน่นอนว่ามีคุณโนริชิเงะ คะไน (Mr.Norishige Kanai) นักบินอวกาศญี่ปุ่นที่เราจะได้เจอในวันพรุ่งนี้ ผ่านการไลฟ์-ถ่ายทอดสดจากสถานีอวกาศตอนที่ปฏิบัติการทดลองที่เราส่งไปด้วย
พอเดินออกมาจากโซนป่าแห่งอนาคต จะมีนิทรรศการเล็กๆ ที่จะเปลี่ยนหัวข้อการจัดไปเรื่อยๆ โดยในวันที่เราไป เขาจัดเป็นเรื่องกระบวนการผลิตช็อกโกแลต ฉันเลยได้เห็นตั้งแต่เมล็ดโกโก้ จนผ่านออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ขนมช็อกโกแลตให้เรากินกัน ฉันชอบการทำงานของเครื่องจักรในโรงงาน ที่มีทั้งเครื่องเทช็อกโกแลตลงพิมพ์ เครื่องม้วนกระดาษห่อและแบ่งช็อกโกแลตเป็นช่วงๆ เพื่อห่อแยกชิ้นออกมาอย่างสวยงาม นับเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งเลย
ต่อมาเราได้เดินไปยังอีกห้องนิทรรศการของชั้นสอง ที่จะมีแสดงโครงงานวิทยาศาสตร์ต่างๆ ที่น่าสนใจซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทสัมผัสทั้งห้าของมนุษย์ เช่นการทดสอบการดมกลิ่น การได้ยิน การมองเห็น และเราก็ได้แวะนั่งดูภาพยนตร์สามมิติเกี่ยวกับเรื่องดวงดาวเป็นการปิดท้ายของการชมพิพิธภัณฑ์ในวันนี้
ภารกิจ Asian Try Zero G 2018 ยังไม่จบ ในตอนหน้าจะพาผู้อ่านไปร่วมชมการทดลองจริงแบบ real time ถ่ายทอดสดจากสถานีอวกาศนานาชาติกัน พบกันในฉบับหน้า