เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา (JAXA) ประเทศญี่ปุ่น ประกาศผลการจัดแข่งขันโครงการ “Asian Try Zero-G 2022” โดย JAXA เลือกข้อเสนอแนวคิดการทดลองของเยาวชนไทย จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ การทดลองเรื่อง การศึกษาพฤติกรรมของก้อนน้ำทรงกลมเมื่อถูกแรงกระทำในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Water sphere disturbance in zero gravity) เสนอโดย นางสาวจิณณะ วัยวัฒนะ (พรีม) นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และการทดลองเรื่อง การศึกษาระดับน้ำที่สูงขึ้นจากแรงดึงของผิวภาชนะในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Study of the height of water which is risen up in microgravity) เสนอโดย นางสาวอินทิราภรณ์ เชาว์ดี (ปาย) บัณฑิตจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อนำไปทดลองจริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ โดยนักบินอวกาศญี่ปุ่น นายโคอิจิ วากาตะ ในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้
นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “สวทช. ร่วมกับ JAXA ดำเนินโครงการ Asian Try Zero-G 2022 เชิญชวนเหล่าเยาวชนไทยส่งแนวคิดการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำร่วมกับเยาวชนจากประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย โดยเปิดรับสมัครแบ่งเป็น 2 รุ่น คือ รุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี มีผู้ส่งใบสมัคร จำนวน 154 เรื่อง ประกอบด้วยเยาวชน 378 คน และรุ่นอายุไม่เกิน 27 ปี มีผู้ส่งใบสมัคร จำนวน 18 เรื่อง ผู้สมัคร 51 คน รวมจำนวนใบสมัครทั้งสิ้น 172 เรื่อง และมีเยาวชนไทยเข้าร่วมโครงการจำนวน 429 คน ซึ่งเป็นจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
“คณะกรรมการ สวทช. ได้คัดเลือกแนวคิดการทดลองของเยาวชนไทยจำนวน 6 เรื่อง แบ่งเป็นรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 3 เรื่อง และรุ่นอายุไม่เกิน 27 ปี จำนวน 3 เรื่อง เพื่อส่งเข้าแข่งขันกับประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยทาง JAXA ได้เลือกข้อเสนอการทดลองจาก 5 ประเทศ จำนวน 6 เรื่อง ซึ่งในจำนวนนั้นเป็นการทดลองของเยาวชนไทยถึง 2 เรื่อง เพื่อนำไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ โดยนายโคอิจิ วากาตะ (Koichi Wakata) นักบินอวกาศญี่ปุ่น ในห้องทดลอง Kibo Module ของ JAXA สำหรับการทดลองอีก 4 เรื่องเป็นของญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไต้หวัน ประเทศละ 1 เรื่อง”
นางกุลประภา กล่าวว่า “สำหรับแนวคิดการทดลองทั้ง 2 เรื่อง ที่ได้รับการคัดเลือกประกอบด้วย ไอเดียการทดลองของ นางสาวจิณณะ วัยวัฒนะ (พรีม) นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เรื่องการศึกษาพฤติกรรมของก้อนน้ำทรงกลมเมื่อถูกแรงกระทำในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Water sphere disturbance in zero gravity) มีไอเดียการทดลองว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าน้ำถูกแรงจากภายนอกกระทำ ซึ่งการทดลองแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการศึกษาพฤติกรรมของน้ำเมื่อได้รับแรงดลจากการชนของลูกบอลที่มีมวลแตกต่างกัน คือบอลไม้และบอลเหล็ก โดยการออกแรงผลักลูกบอลให้เคลื่อนที่มาชนกัน และส่วนที่ 2 เป็นการศึกษาการหมุนของลูกข่างกระดกบนผิวน้ำ ซึ่งลูกข่างกระดกเป็นลูกข่างที่ออกแบบให้จุดศูนย์กลางทางเรขาคณิตอยู่คนละจุดกับจุดศูนย์กลางมวลทำให้เมื่อหมุนไปสักระยะลูกข่างจะสามารถพลิกกลับด้านได้ จึงอยากรู้ว่าในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงผลจะเป็นอย่างไร
นางสาวจิณณะ วัยวัฒนะ (พรีม) นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
“ไอเดียการทดลองที่ 2 ของนางสาวอินทิราภรณ์ เชาว์ดี (ปาย) บัณฑิตจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องการศึกษาระดับน้ำที่สูงขึ้นจากแรงดึงของผิวภาชนะในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Study of the height of water which is risen up in microgravity) เป็นการทดลองที่เกิดจากความสนใจเกี่ยวกับการขนส่งของเหลวผ่านท่อในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง โดยตั้งสมมติฐานว่าเมื่ออยู่ในสภาวะที่มีแรงโน้มถ่วงต่ำ เช่น ในระดับความสูงของสถานีอวกาศนานาชาติ จะส่งผลให้ของเหลวที่อยู่ในท่อสามารถขึ้นไปในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับระดับความสูงของของเหลวที่ทำการทดลองบนพื้นโลกอยู่ 1.11 เท่า นอกจากนี้ยังมีการทดลองเปรียบเทียบขนาดรัศมีของท่อที่แตกต่างกันด้วยว่าจะส่งผลให้ระดับความสูงของของเหลวขึ้นไปตามท่อได้แตกต่างกันหรือไม่”
นางสาวอินทิราภรณ์ เชาว์ดี (ปาย) บัณฑิตจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทั้งนี้เยาวชนเจ้าของการทดลองจะมีโอกาสสื่อสารกับนักบินอวกาศแบบเรียลไทม์ และรับชมถ่ายทอดสดการทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติจากศูนย์อวกาศสึกุบะ (Tsukuba Space Center) ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนมกราคม 2566
สามารถติดตามการทดลองโครงการ Asian Try Zero-G 2022 ได้ที่เพจ NSTDA Space Education