ขอต้อนรับผู้อ่านทุกท่านสู่บันทึกการเดินทางและความประทับใจของพวกเราทั้ง 7 คน ที่ได้เข้าร่วมโครงการ Asian Try Zero-G 2023 ซึ่งจัดโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นหรือ JAXA ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณการเดินทางจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
เหตุผลที่สมัครเข้าร่วมโครงการ
- โดย นายชญานิน เลิศอุดมศักดิ์ (ฟุง) ชั้น ม.5 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
การทดลองเรื่อง “ก้อนน้ำทรงกลมกับแรงไฟฟ้าสถิต”
ในโครงการปีที่แล้วผมได้ลองส่งหัวข้อเข้าร่วมการแข่งขันเป็นครั้งแรก เพราะรู้สึกว่าเป็นโอกาสที่พิเศษมาก ที่การทดลองของเราจะสามารถถูกส่งขึ้นไปทำโดยนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติ และคิดว่าจะเป็นโอกาสให้เราได้เรียนรู้ในหลาย ๆ เรื่องเกี่ยวกับฟิสิกส์และเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งผมมีความสนใจอยู่แล้ว แต่ถึงหัวข้อของผมจะยังไม่ได้ถูกคัดเลือกในปีที่แล้ว พอปีนี้ก็ได้รับอีเมลประชาสัมพันธ์ของโครงการจากทาง สวทช. ทำให้ผมสนใจเริ่มคิดหาหัวข้อใหม่ โดยเน้นหัวข้อที่จะเกิดผลลัพธ์ที่น่าสนใจและมีความแปลกใหม่ครับ
- โดย นายจิรทีปต์ มะจันทร์ (ต้นกล้า) ชั้น ม.5 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย (ตัวแทนทีม)
การทดลองเรื่อง “การศึกษาการเคลื่อนที่แบบวงกลมของลูกบอลสองลูกบนเส้นเชือกในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ
ที่ผ่านมา ผมได้ติดตามโครงการนี้และได้พูดคุยกับรุ่นพี่จากโรงเรียนเดียวกันซึ่งเคยส่งไอเดียการทดลองในโครงการนี้มาก่อน พอมาในปี 2023 เมื่อเห็นการเปิดรับไอเดียการทดลองจากทาง สวทช. ผมได้อ่านรายละเอียดและเริ่มชักชวนเพื่อน ๆ ที่มีความสนใจในด้านนี้มาร่วมคิดและเสนอไอเดียการทดลองด้วยกัน ซึ่งพวกเราแต่ละคนก็มีความสนใจในด้านของดาราศาสตร์ อวกาศ และฟิสิกส์ เหมือน ๆ กัน ทำให้การเสนอการทดลองของพวกเรานั้นเป็นเหมือนการทำในสิ่งที่ชอบโดยที่ไม่ได้คาดหวังอะไร ตั้งใจทำด้วยความชอบและรักในศาสตร์เหล่านั้นจริง ๆ ครับ
- โดย นางสาวพุทธิมา ประกอบชาติ (เอม) ชั้น ม.6 โรงเรียนระยองวิทยาคม (ตัวแทนทีม)
การทดลองเรื่อง “การออกกำลังกายท่าดาวทะเลภายใต้สภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ
เหตุผลที่สมัครเข้าร่วมโครงการ Asian Try Zero-G 2023 ก็เพราะว่าพวกเราทั้งสองคนมีความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์และอวกาศ ชื่นชอบลองทำอะไรใหม่ ๆ อีกทั้งยังเห็นว่าถ้าหากผลงานของพวกเราได้รับคัดเลือกก็จะเป็นโอกาสที่ดีที่พวกเราจะได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ JAXA ประเทศญี่ปุ่น และมีโอกาสชมการทดลองของตัวเองแบบ Real Time นอกจากนี้ยังเห็นว่าในปีนี้มี Category การทดลองเปิดใหม่ นั่นก็คือ Exercise in Space ซึ่งตรงกับความถนัดของพวกเรา พวกเราจึงได้เริ่มออกแบบท่าออกกำลังกาย ที่ไม่สามารถทำได้ในสภาวะที่มีแรงโน้มถ่วงเพื่อส่งเข้าร่วมโครงการนี้
ความรู้สึกที่ได้พบเพื่อน ๆ ผู้ร่วมโครงการครั้งแรก
โดย นายจิรทีปต์ มะจันทร์ (ต้นกล้า) ชั้น ม.5 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย
ช่วงบ่ายวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 ทีมพวกเราเดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิ และได้เข้าไปในห้องรับรอง เพื่อถ่ายทำรายการและบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับกิจกรรมโครงการที่พวกเราจะต้องทำที่ประเทศญี่ปุ่น ตอนที่พวกเราได้เจอเพื่อน ๆ ทุกคนและพี่ ๆ ทีมงานก็ค่อนข้างเกร็งกันพอสมควร เพราะเพอ้งได้พบเจอกันครั้งแรก แต่พอได้พูดคุยทำความรู้จักมากขึ้นก็ทำให้ความตื่นเต้นและกังวลของพวกเราลดลง พี่ ๆ CP ได้นำ Special Box ให้กับพวกเราทุกคน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการไปประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ ทั้งเสื้อกันหนาว หนังสือเกี่ยวกับอาหารอวกาศ โคมไฟฉายดาว และสิ่งของอีกหลายอย่าง
หลังทำทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย พวกเราก็ได้ถ่ายภาพร่วมกันที่บริเวณจุดเช็คอินและโหลดกระเป๋า เมื่อพวกเราเดินเข้าไปใน Gate แล้ว ในช่วงระหว่างรอขึ้นเครื่องในเวลา 23.55 น. พวกเราก็ได้พูดคุยทำความรู้จักกันมากขึ้น ทำให้ทุกคนสนิทกันมากกว่าช่วงแรกที่พบกันครับ
เช้าวันแรกที่ญี่ปุ่น
โดย นางสาวฟ้าใหม่ คงกฤตยานุกุล (เพียว) ชั้น ม.5 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย
หลังจากที่เครื่องบินได้ลงมาจอดที่สนามบินนาริตะ ในช่วงเช้าของวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 พวกเราก็ได้ออกมายืนรอรถบัสเพื่อเดินทางเข้าสู่เมืองสึคุบะ ความรู้สึกแรกที่ได้สัมผัสคืออากาศภายนอกอาคารนั้นเย็นมาก ซึ่งต่างจากสภาพอากาศบ้านเราอย่างสิ้นเชิง
และหลังจากพี่พวกเรานั่งรถมาเกือบ 1 ชั่วโมง ก็ได้เดินทางมาถึงเมืองสึคุบะ เมืองวิทยาศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น ภายในเมืองนั้นมีอาคารสำนักงานต่าง ๆ อาคารที่อยู่อาศัย สวนสาธารณะทั่วไปเหมือนที่เราเคยเห็นในซีรีส์ญี่ปุ่น แต่จุดเด่นที่ละสายตาจากเมืองนี้ไม่ได้เลยคือจรวดจำลองขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ของเมือง ซึ่งมีขนาดใหญ่มากเทียบเท่ากับของจริง
นอกจากนี้ระหว่างทางที่พวกเราเดินก็ยังได้เห็นฝาท่อระบายน้ำที่มีลวดลายเป็นรูปจรวด หรือแม้กระทั่งรูปปั้นหินที่เรียงติดกันเป็นดาวในระบบสุริยะ ชาวเมืองสึคุบะคงภูมิใจความเป็นเมืองวิทยาศาสตร์นี้กันไม่น้อย ในตอนเย็นหลังจากที่เราเช็คอินที่พักสำหรับ 2 คืนแรกเรียบร้อยแล้ว พวกเราก็ได้ใช้เวลาที่ว่างอยู่สำหรับเดินสำรวจเมืองต่อจากช่วงเช้า และได้นัดรับประทานอาหารเย็นกับรุ่นพี่สมาคมนักเรียนไทยแห่งมหาวิทยาลัยสึคุบะประเทศญี่ปุ่น เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและการใช้ชีวิตมหาวิทยาลัยในเมืองนี้ และก่อนกลับไปพักผ่อนพวกเราก็ได้แวะร้านหนังสือ ทำให้พวกเราได้เจอเพื่อนใหม่เป็นนักเรียนชาวญี่ปุ่นในวัยเดียวกันเข้ามาทักทายอย่างเป็นมิตร รวมทั้งแนะนำอะไรหลาย ๆ อย่างให้กับพวกเราได้รู้และเกิดความประทับใจในการต้อนรับอย่างอบอุ่นของผู้คนในเมืองวิทยาศาสตร์แห่งนี้
เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อวกาศของ JAXA
โดย นายภูมิพัฒน์ รัตนวัฒน์ (ต้นน้ำ) ชั้น ม.5 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย
เช้าวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 น่าตื่นเต้นมาก ๆ เลยครับ เพราะว่าเป็นครั้งแรกที่พวกเราได้พบกับเยาวชนจากประเทศอื่น ๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ และยังได้พบกับเจ้าหน้าที่จากทาง JAXA ครั้งแรกด้วยครับ เมื่อมาถึง JAXA Tsukuba space Center สิ่งแรกที่สะดุดตาที่สุดคือจรวด H2 ซึ่งใหญ่มากเลยครับ แถมเป็นจรวดที่เคยถูกใช้ในการพัฒนาจรวดของจริง
จากนั้นได้ถ่ายรูปรวมกลุ่ม และแนะนำสถานที่ต่าง ๆ ใน JAXA หนึ่งในสถานที่น่าสนใจก็คือ Space Dome หรือ พิพิธภัณฑ์อวกาศของ JAXA ภายในประกอบไปด้วยยานอวกาศมากมาย ตั้งแต่เริ่มจนมาถึงปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของ JAXA สิ่งที่น่าสนใจและเด่นที่สุด ผมคิดว่าน่าจะเป็น JEM หรือ Kibō Module ขนาดเท่าของจริง โดยคำว่า Kibō แปลว่า ความหวัง ในภาษาญี่ปุ่น เป็นความหมายที่ดีมาก ๆ เลย
ยังมีโมเดลจรวดที่ทาง JAXA พัฒนาขึ้นมาอีกมากเลยนะครับ ทั้ง Pencil rocket ,N-1 ,N-2 ,H-1 ,H-2 และล่าสุดอย่าง H-3 ก็มีนะครับ จากนั้นเราก็ได้แวะซื้อของกันที่ Planet CUBE ซึ่งภายในเป็นร้านค้าเกี่ยวกับอวกาศนะครับซึ่งมีทุกอย่างเลยนะครับ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ตลกมาก ๆ เลยคือทิชชูอวกาศนะครับ และแน่นอนครับสิ่งหนึ่งที่ผมซื้อคือ ป้ายที่ห้อยกระเป๋ารูปจรวด H-2A ซึ่งสวยมาก ๆ เลยครับ
จากนั้นเราได้เข้าไปในพื้นที่พิเศษซึ่งห้ามถ่ายภาพ ได้เห็นพื้นที่ทดสอบนักบินอวกาศโดยจะจำลองโมดูลสถานีอวกาศขึ้นมา และได้เห็นผลงานต่าง ๆ ทั้งชุดอวกาศ และผลงานที่ทาง JAXA ได้พัฒนาขึ้นมา ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่พิเศษมาก ๆ เลยครับ
ประสบการณ์สุดประทับใจ ชมการทดลองในห้อง Mission Control
โดย นายณัฐภูมิ กูลเรือน (เฟรม) ชั้น ม.5 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย
หลังจากแวะเดินชมศูนย์อวกาศสึคุบะ (Tsukuba Space Center) ในช่วงเช้าและเสียเงินมากมายไปกับร้านขายของที่ระลึกแล้ว ราวเที่ยงครึ่งของเวลาญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่ของ JAXA ก็พาพวกเราเดินเข้าไปยังอาคารด้านหลังซึ่งเป็นส่วนที่บุคคลทั่วไปไม่สามารถเข้าได้ พร้อมกำชับว่าห้ามถ่ายรูปในบริเวณนั้น
เมื่อพวกเราเดินมาถึงห้องประชุมใหญ่สักพักเจ้าหน้าที่ JAXA ก็ประกาศจัดแจงโต๊ะที่นั่งของเจ้าหน้าที่ของแต่ละประเทศและผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละทีม ทีมของพวกเรา 4 คนได้โต๊ะที่ติดกับประตูทางที่เข้ามา ร่วมกับทีมจากประเทศสิงคโปร์ ออสเตรเลียและญี่ปุ่น ส่วนฟุง พี่มุกและพี่เอมได้นั่งที่โต๊ะข้าง ๆ
สักพักก็เริ่มมีการแนะนำตัวกัน ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการปี 2023 นี้แทบจะทั้งหมดอยู่ในชั้นมัธยมศึกษา ทั้งเพื่อนจากทีมญี่ปุ่นและสิงคโปร์ก็อยู่ชั้นมัธยมเช่นเดียวกันกับทีมเรา แต่พี่จากทีมออสเตรเลีย (ที่จริงๆแล้วเป็นคนญี่ปุ่น) ดูเหมือนว่าจะเป็นพี่มหาลัยคนเดียวที่มา ถ้าผมจำไม่ผิดน่าจะเรียนสาขาวิศวกรรมการบิน (Aerospace Engineering) มาที่นี่ก็เจอคนเก่ง ๆ จากหลากหลายที่เลยครับ
เวลาบ่ายโมงก็ได้เวลาเริ่มพิธีเปิดโครงการ มีการแจกเกียรติบัตรของผู้เข้าร่วมทุกคน แถมยังมีของสุดพิเศษที่พวกเราไม่คาดคิดอีกอย่างคือ ภาพพร้อมลายเซ็นจากคุณ Norishige Kanai นักบินอวกาศญี่ปุ่นผู้เคยปฏิบัติหน้าที่บนสถานีอวกาศนานาชาติมาแล้ว และเป็นผู้ทำการทดลองของโครงการ Asian Try Zero-G ในปี 2018 อีกด้วย และแน่นอนว่าตัวคุณ Kanai เองก็เป็นคนขึ้นเวทีนำภาพเหล่านั้นมาให้แก่ทีมพวกเราที่เวทีข้างหน้าเลยครับ
หลังจากรับเกียรติบัตรเสร็จสิ้น ก็ยังมีคุณ Takahashi เจ้าหน้าที่ Flight director ของทาง JAXA มาพูดให้ความรู้และแนะนำเกี่ยวกับตัวโมดูล Kibo และการปฎิบัติการต่าง ๆ ในอวกาศให้พวกเราฟังอีกด้วย
หลังจากเสร็จสิ้นพิธีเปิด ก็เข้าสู่ช่วงของการนำเสนอเพื่อแนะนำการทดลองของพวกเราให้ทีมอื่น ๆ ได้รู้จัก โดยการทดลองทั้งหมดที่ถูกส่งเข้าร่วมโครงการมานั้นจะแบ่งเป็นสองประเภทหลัก ๆ คือ กลุ่ม A การทดลองฟิสิกส์อย่างง่าย มีเวลาให้นำเสนอไม่เกิน 8 นาที และกลุ่ม B แนวคิดการออกกำลังกายในอวกาศ มีเวลาให้ไม่เกิน 5 นาที
สำหรับกลุ่มของพวกเราเป็นกลุ่ม A ได้นำเสนอลำดับที่ 2 ซึ่งเป็นหมายเลขต้น ๆ แน่นอนว่าตื่นเต้นมากเลยครับ นี่เป็นครั้งแรกเลยที่ผมต้องนำเสนองานเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ก่อนหน้านั้นมีความกังวลบ้างว่าจะนำเสนอออกมาดีรึเปล่า แต่สุดท้ายก็ผ่านไปได้ด้วยดีครับ สิ่งที่ผมชอบเลยคือไม่ว่ากลุ่มไหนจะขึ้นนำเสนอ ตั้งแต่กลุ่มแรกถึงกลุ่มสุดท้าย ทั้งคนห้องจะเงียบและตั้งใจฟังมาก ๆ เลยครับ
เราใช้เวลานำเสนอการทดลองกันครบทุกกลุ่มจนถึงเวลา 16.25 น. จากนั้นเจ้าหน้าที่ JAXA ได้ชี้แจงเกี่ยวกับตารางเวลาของคุณ Satoshi Furukawa และการทดลองในแต่กลุ่ม จะมีการแยกกลุ่มตามลำดับย่อยที่ให้ไว้ออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 5 การทดลอง จะมี 1 กลุ่มเข้าไปในห้อง Control Room และอีก 2 กลุ่มที่เหลือจะร่วมรับชมในห้องโถงที่เราเข้ามา
แน่นอนครับว่ากลุ่มของพวกเราได้กลุ่ม A หมายเลข 2 จึงอยู่ในกลุ่มย่อยแรกและได้เข้าห้อง Control room ก่อนเป็นกลุ่มแรกเลย แอบเสียดายหน่อยที่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้นำมือถือส่วนตัวเข้าไปในห้อง Control Room จึงไม่สามารถถ่ายรูปเก็บไว้ได้ เจ้าหน้าที่จะพาเราเดินลงจากอาคารในตอนแรกข้ามไปอีกอาคารหนึ่ง ผมเคยมีความคิดครับว่าห้อง Control Room มันอยู่ต้องลึกลับมากแน่ ๆ แต่จริง ๆ แล้วก็อยู่ในชั้น 1 ของอาคารที่เจ้าหน้าที่พาไปนั่นแหละครับ เลี้ยวนิดหน่อยเปิดประตูไปก็เจอแล้ว
พวกเราจะได้นั่งอยู่ในห้องรับชมการทดลองที่ถูกกั้นไว้ด้วยกระจกซึ่งอยู่หลัง Control room พอดี ส่วนพี่ ๆ เจ้าหน้าที่จากไทยที่มาด้วย (พี่เบ้ง อาจารย์อาร์ม และพี่เติ้ล) จะนั่งอยู่ในห้องข้าง ๆ เราซึ่งมองเห็น Control Room เหมือนกันครับ โดยเราจะเห็นตำแหน่งที่นั่ง การทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกคน และสามารถได้ยินเสียงโต้ตอบระหว่างนักบินอวกาศ คือคุณ Satoshi Furukawa กับเจ้าหน้าที่ภาคพี้นได้อีกด้วยครับ
นอกจากนี้คุณ Norishige Kanai นักบินอวกาศที่เราเจอในตอนบ่ายก็จะอยู่ในห้องกับเรา คอยอธิบายการทำงานของแต่ละฝ่ายหรือขั้นตอนต่าง ๆ รวมไปถึงตอบคำถามเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พวกเราสนใจถามด้วยครับ
เมื่อสัญญาณจากสถานีอวกาศนานาชาติพร้อม พวกเราได้เห็นภาพคุณ Satoshi ที่กำลังอยู่ในโมดูล Kibo ทุกคนก็ตื่นเต้นกันมาก ๆ เลยครับ พอผมสังเกตเห็นถุงพลาสติกซิปล็อคสีต่าง ๆ ที่ใส่อุปกรณ์การทดลองของทีมประเทศต่าง ๆ กำลังติดไว้ที่ด้านหนึ่งของผนังโมดูล Kibo ก็ชวนให้รู้สึกน่าเหลือเชื่อจริง ๆ ว่าการทดลองของพวกเราไปถึงอวกาศแล้วจริง ๆ เหรอเนี่ย! (แน่นอนว่าไปถึงอวกาศจริงสิครับ)
อุปกรณ์สำหรับการทดลองนั้นหลังจากการทดลองของแต่ละประเทศได้รับเลือก ทางเจ้าหน้าที่ของ JAXA จะจัดเตรียมให้พวกเราและส่งขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ สำหรับปี 2023 ของพวกเราเป็นทางภารกิจของ Space-X CRS-29 ครับ ที่เป็นผู้จัดส่งอุปกรณ์การทดลองขึ้นไปให้ ซึ่งตัวจรวดถูกปล่อยที่สหรัฐอเมริกาในวันที่ 10 พฤศจิกาย 2023 ครับ
เห็นได้ว่าโครงการ Asian try Zero-G ในการทำงานเบื้องหลังต้องอาศัยความร่วมมือกันของหลายหน่วยงาน ต้องมีการวางแผน ต้องใช้ทั้งเวลา ทรัพยากร และงบประมาณมากมายมหาศาลในการทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้ครับ
ในส่วนของการทดลองนั้นการทดลองของกลุ่มพวกเรา ชื่อการทดลองว่า “Stranger things two ball on string” (เครดิตต้นน้ำเป็นคนคิดชื่อ)
เมื่อการทดลองของพวกเราถูกทดลองโดยคุณ Satoshi เสร็จสิ้นแล้วนั้น สิ่งที่สรุปได้คือสมมุติฐานของพวกเรานั้นผิดอยู่ส่วนหนึ่งครับ คือ ในตอนแรกเนี่ยเราตั้งสมมุติฐานว่าหากหมุนชุดการทดลองของพวกเราไปเรื่อย ๆ พอไม่มีแรงโน้มถ่วงมาดึงแล้วเนี่ย แรงตึงเชือกจะพาลูกบอลลอยขึ้นไปครับ ลูกบอลจะค่อย ๆ ลอยขึ้นมาและขึ้นมาหยุดหมุนที่ระนาบเดียวกับมือของนักบินอวกาศผู้ทำการทดลอง แต่เมื่อคุณ Satoshi ทดลองจริง ๆ ก็พบว่าลูกบอลนั้นลอยขึ้นรวดเร็วมาก ๆ แทบไม่มีเวลาได้หมุนเลย และลูกบอลนั้นยังลอยขึ้นไปสูงกว่ามือของผู้ทำการทดลองอีกด้วย แรงตึงเชือกมีผลมากกว่าที่ทีมเราคิดครับ
การทดลองของเราค่อนข้างสั้นกว่าทีมอื่น ๆ เพราะเป็นการทดลองที่ง่ายอยู่แล้วและเห็นผลการทดลองได้ค่อนข้างชัดเจนครับ
อีกสิ่งหนึ่งที่ผมประทับใจอีกอย่างคือเจ้าหน้าที่ครับ ผมชอบเจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่ชื่อว่าคุณ Kohei มาก ๆ พี่เจ้าหน้าที่คนนี้เป็นผูัติดต่อประสานงานและแจ้งรายละเอียดจากทางญี่ปุ่นทางอีเมลกับทีมผู้ส่งการทดลองของประเทศต่างๆ
พอเมื่อเรามาถึงที่ศูนย์อวกาศสึคุบะในช่วงเช้า คุณ Kohei ก็มาร่วมเดินเป็นไกด์แนะนำสถานที่ต่าง ๆ และพูดคุยกับพวกเราด้วยครับ ที่นี้พอถึงช่วงที่เราต้องเข้าไปใน Control Room ผมเพิ่งจะสังเกตเห็นว่าหนึ่งในคนที่อยู่ในตำแหน่งที่จะได้ติดต่อสื่อสารกับนักบินอวกาศโดยตรง (J-Com) ก็คือคุณ Kohei เองนี่แหละ
พอเวลาทำการทดลองของทีมไหนเสร็จสิ้น พี่ ๆ เจ้าหน้าที่ในห้อง Control room ก็จะคอยหันมายกมือหรือโบกมือให้พวกเราตลอด ซึ่งให้ความรู้สึกเป็นกันเองและดีมาก ๆ เลยครับ
หลังจากนั้นพวกเราก็เดินฝ่าความหนาวกลับไปยังอาคารห้องโถงอีกรอบ พร้อมกับเสียงปรบมือของเพื่อน ๆ ในห้องเมื่อเราเข้ามา
พอกลับมาที่นั่งของตนเอง พี่ๆ เจ้าหน้าที่ก็เรียกกลุ่มที่สอง (การทดลอง A หมายเลข 6-9) และกลุ่มที่สาม (การทดลอง B หมายเลข 1-5) เข้าไปห้อง Control Room ตามลำดับ
ระหว่างรอพวกเราได้เล่นการ์ดเกม Uno กับทีมสิงค์โปร์และทีมไต้หวันด้วยครับ Uno นี่เป็นการ์ดเกมเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศที่ดีจริง ๆ นะครับ(ฮา) เล่นสนุกมากเลยครับ
พูดถึง Uno มีเรื่องราวเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นด้วยนะครับ คือในวันแรกที่พวกเรามาถึงญี่ปุ่นและมาพักที่โรงแรมในสึคุบะ มีร้านหนังสือชื่อ TSUTAYA อยู่ตรงข้ามโรงแรมที่พัก ทีมผมกับฟุงจึงลองเข้าไปเดินเล่นกันแล้วอยู่ดี ๆ ต้นน้ำก็บอกว่าอยากลองไปหาการ์ด Uno กัน
ขณะที่อยู่ในร้าน TSUTAYA ก็มีเด็กญี่ปุ่น 3 คน อายุน่าจะใกล้เคียงกับพวกเราเดินมาทัก หลังจากคุยแนะนำตัวกันเสร็จแล้ว พวกเราได้บอกว่าอยากจะหาซื้อการ์ดเกม Uno ปรากฎว่าเขาก็ช่วยเราตามหาด้วยครับ โดยกระจายกันหาทั่วร้าน แล้วในที่สุดก็หาเจอ เป็นความรู้สึกประทับใจครับที่แบบมีคนแปลกหน้ามาช่วยเหลือเรา และพยายามคุยเป็นภาษาอังกฤษกับเรา
เมื่อการทดลองกลุ่มที่สามซึ่งมีพี่มุกและพี่เอมก็กลับเข้ามาในห้องประชุมประมาณสามทุ่มครึ่ง เป็นอันสิ้นสุดกิจกรรมในวันนี้ครับ
จากนั้นพวกเราได้ขึ้นรถบัสของทาง JAXA เพื่อเดินทางกลับโรงแรมที่พัก ผมสังเกตว่าพี่ ๆ เจ้าหน้าที่ JAXA ที่อยู่กับเราตั้งแต่เช้าก็ยังอยู่ส่งเราจนถึงตอนนี้เลยครับ และเจ้าหน้าที่ของ JAXA นั่งรถไปกับเราด้วย พอรถบัสถึงตัวเมืองก็ถึงเวลาโบกมือร่ำลากับเพื่อน ๆ จากทีมของประเทศอื่น ๆ และเจ้าหน้าที่ของ JAXA และพวกเราก็เดินกลับเข้าที่พักที่โรงแรม JAL City ครับ
วันนั้นเป็นวันที่รู้สึกประทับใจหลายอย่างครับ ได้พบเจอเพื่อนใหม่ ได้พบเจอเจ้าหน้าที่เก่ง ๆ ได้รู้วิธีการทำงานของ JAXA ได้ประสบการณ์มากมายที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และมีน้อยคนจะได้มีประสบการณ์แบบนี้ เป็นการมาต่างประเทศครั้งแรกของผมที่คุ้มค่ามากจริง ๆ ครับ
เยี่ยมชม University of Tsukuba
โดย นายชญานิน เลิศอุดมศักดิ์ (ฟุง) ชั้น ม.5 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 พวกเราได้มีโอกาสไป Campus Tour เยี่ยมชม University of Tsukuba และ Plasma Research Center โดยพวกเราออกเดินทางกันตั้งแต่ช่วงเช้าด้วยรถบัสประจำทาง ซึ่งสะดวกสบายและเป็นระเบียบมาก รถบัสมาตรงเวลาตามตาราง เมื่อเดินทางถึง University of Tsukuba บรรยากาศของมหาวิทยาลัย สะอาด ร่มรื่น น่าเดินเล่นมาก พวกเราได้ฟังการบรรยายแนะนำข้อมูลและหลักสูตรต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยโดย Dr.Nomura Nakao ทำให้ได้ทราบว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้มีความโดดเด่นทั้งด้านวิทยาศาสตร์และกีฬาในระดับนานาชาติ และมีสัดส่วนนักศึกษาต่างชาติสูงมาก นอกจากนี้พวกเรายังได้พบกับพี่นักศึกษา University of Tsukuba ชาวไทยอีกด้วย
จากนั้นพวกเราได้ไปศึกษาดูงานที่ศูนย์วิจัยพลาสมา ซึ่งมีเครื่อง Tandem Mirror ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการศึกษาการสร้างและกักเก็บพลาสมา พวกเราได้เห็นห้องควบคุม และเครื่อง Tandem Mirror ของจริง และได้มีโอกาสพูดคุยสอบถามกับ Dr.Satoshi Togo ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ก่อนไปรับประทานอาหารกลางวันและเดินทางไปกรุงโตเกียว
ให้สัมภาษณ์รายการของ NHK World
โดย นางสาวพุทธิมา ประกอบชาติ (เอม) ชั้น ม.6 โรงเรียนระยองวิทยาคม
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 การได้มีโอกาสไปให้สัมภาษณ์รายการของ NHK World ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่แล้วก็น่าตื่นเต้นมาก ๆ เนื่องจากพวกเราทั้ง 7 คน ไม่เคยถ่ายรายการในสตูดิโอแบบนี้มาก่อน และยิ่งเป็นการให้สัมภาษณ์ในต่างประเทศด้วยเลยยิ่งทำให้รู้สึกประหม่ามากขึ้นไปอีก
แต่เมื่อถึงเวลาได้มาร่วมรายการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ ก็รู้สึกว่าบรรยากาศการทำงานเป็นกันเองกว่าที่คิดไว้มาก พวกเราได้บอกเล่าประสบการณ์การชมการทดลองที่ JAXA การศึกษาแหล่งเรียนรู้ในเมือง Tsukuba อีกทั้งยังได้แสดงความคิดความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาในด้านวิทยาศาสตร์และด้านอื่น ๆ
หลังจากสัมภาษณ์รายการของ NHK World เสร็จ พวกเราทั้ง 7 คน ก็ได้ไปเดินเที่ยวในชิบูย่าซึ่งเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวที่มากรุงโตเกียว พวกเราได้ไปเดินข้ามห้าแยกชิบูย่า ถ่ายรูปกับรูปปั้นสุนัขฮาจิโกะ ถ่ายรูปในตู้สติ๊กเกอร์ เล่นตู้คีบตุ๊กตาและสุ่มกาชาปอง และจบท้ายวันด้วยการซื้อของฝากกลับไทยจนเกือบล้มละลาย
ถึงเวลาเดินทางกลับประเทศไทย
โดย นางสาววรรณวลี จันทร์งาม (มุก) ชั้น ม.6 โรงเรียนระยองวิทยาคม
มาถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 แล้วนะคะ ก็ถึงเวลาที่พวกเราต้องเดินทางกลับประเทศไทยกันแล้วค่ะ เราเดินทางกลับกันที่สนามบินนานาชาติฮาเนดะ ก็รู้สึกใจหายเลยค่ะที่เวลาที่สนุก ๆ แบบนี้ มันช่างผ่านไปไวมากเลย เพราะในทริปนี้นอกจากจะได้รับความรู้ดี ๆ ได้ชมการทดลองที่น่าตื่นเต้นแล้ว ยังได้รับมิตรภาพแล้วก็ประสบการณ์ที่จะจดจำไม่ลืมเลยค่ะ มาถึงส่วนนี้แล้วก็ต้องขอบคุณทาง สวทช. CP และ JAXA ที่ทำให้เยาวชนประเทศไทยกลุ่มนี้ได้รับโอกาสที่ไม่ได้หาได้ง่าย ๆ และพวกเรามีความตั้งใจที่จะเอาความรู้เหล่านี้ไปต่อยอดต่อในอนาคตค่ะ หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะมีความสุขและสนุกไปกับบันทึกการเดินทางในครั้งนี้ของพวกเรานะคะ