ในอดีตเคยมีนักบินอวกาศจากองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA เดินทางมาบรรยายพิเศษในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และบรรยายพิเศษในสถาบันการศึกษาของไทยหลายแห่ง
โดยนักบินอวกาศญี่ปุ่นคนแรกที่เคยมาเยือนเมืองไทย คือ ดร.โคอิจิ วากาตะ (Koichi Wakata) นักบินอวกาศชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ปฎิบัติภารกิจบนยาน Endeavour เที่ยวบินที่ STS-72 ในปี พ.ศ. 2539 และเที่ยวบินที่ STS-92 ในปี พ.ศ. 2543 โดยได้เดินทางมาเยือนเมืองไทย 2 ครั้งด้วยกัน ซึ่งครั้งแรกคือ การบรรยายพิเศษในหัวข้อ การฝึกอบรมนักบินอวกาศ และการประกอบสถานีอวกาศนานาชาติ ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2548
ดร.โคอิจิ วากาตะ บรรยายพิเศษ “การฝึกอบรมนักบินอวกาศ และการประกอบสถานีอวกาศนานาชาติ”
งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2548
ดร.วากาตะ เป็นผู้ที่มีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักบินอวกาศตั้งแต่เด็ก และเริ่มเข้ารับการอบรมหลักสูตรนักบินอวกาศกับ NASA รุ่นที่ 14 ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2535 และสอบผ่านการเป็นผู้เชี่ยวชาญงานภารกิจ ซึ่งภารกิจด้านเทคนิคของ ดร.วากะตะ ที่นาซาก็คือ การตรวจสอบระบบซอฟต์แวร์ของยานอวกาศในห้องทดลองระบบเชื่อมโยงยานอวกาศ นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ดูแลการปฎิบัติการของหน่วยสาธิตยานอวกาศ STS-85 ซึ่งเป็นงานทดลองด้านระบบหุ่นยนต์ของหน่วยงานยานอวกาศญี่ปุ่น
สำหรับการมาเยือนเมืองไทยครั้งที่สองของ ดร.วากาตะ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 โดยเป็นการบรรยายพิเศษให้กับนักเรียนรับฟังในหัวข้อเรื่อง Mission on the international space station จัดโดยองก์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
ดร.มาโมรุ โมริ อดีตนักบินอวกาศคนแรกของประเทศญี่ปุ่น บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ท้าทายความรู้ด้วยวิทยาศาสตร์”
งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2549
ส่วนนักบินอวกาศญี่ปุ่นคนที่สองที่เคยมาเยือนเมืองไทยก็คือ ดร.มาโมรุ โมริ (Mamoru Mohri) อดีตนักบินอวกาศคนแรกของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเดินทางมาบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ท้าทายความรู้ด้วยวิทยาศาสตร์” (Challenge the Know with Science) ภายในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2549 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค กรุงเทพฯ ซึ่งได้บรรยายให้ผู้เข้าร่วมงานได้ฟังในวันที่ 11 และ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2549
ดร.โมริ ได้เล่าถึงเหตุการณ์ภายหลังการท่องอวกาศแล้ว เขามีมุมมองต่อโลกและสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปและกว้างขึ้น เริ่มศึกษาศาสตร์ต่างๆ อย่างกว้างขวาง ไม่จำเพาะแต่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งประสบการณ์ที่อยากเล่าเริ่มตั้งแต่การทะยานออกนอกโลกด้วยความเร็วของยาน ทำให้กดตัวเราไว้กับเบาะจนแน่น แต่เมื่อบินอยู่เหนือโลกแล้ว เราก็เห็นโลกในมุมที่งดงามยิ่ง โดยโลกที่เราอยู่มีขนาดเล็กมากๆ เมื่อเทียบกับจักรวาลทั้งมวล แม้ว่าขณะนี้เราก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าจักรวาลมีขอบเขตหรือมีที่สิ้นสุดหรือไม่
ในปัจจุบัน ดร.มาโมรุ โมริ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเจ้าหน้าที่บริหาร พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสมัยใหม่แห่งชาติ หรือ มิไรคัง (MIRAIKAN) ประเทศญี่ปุ่น
ส่วน ดร.โคอิจิ วากาตะ ปัจจุบันกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติในภารกิจ SpaceX Crew-5 (Expedition 68/69) นับเป็นภารกิจอวกาศครั้งที่ 5 ของ ดร.โคอิจิ วากาตะ ที่จะต้องทำหน้าที่อยู่บนอวกาศนานประมาณ 6 เดือน (ต.ค. 65 – เม.ย. 66)