กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยความสำเร็จของเยาวชนไทย เมื่อ JAXA คัดเลือกไอเดียการทดลอง เรื่อง “การเคลื่อนที่ของวัตถุที่มีน้ำหนักต่างกันภายในสลิงกี้ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง”(Inside the Slinky) ของ นางสาวศวัสมน ใจดี (น้องไอเดีย) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนศรีบุณยานนท์ และ นางสาววริศา ใจดี (น้องไอซี) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสาธิต มศว. ปทุมวัน ขึ้นไปทดลองในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง บนสถานีอวกาศนานาชาติ
คุณกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) ร่วมกับ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ Japan Aerospace Exploration Agency (แจ็กซ่า) จัดทำโครงการ Asian Try Zero-G 2018 เพื่อเปิดรับแนวคิดการทดลองวิทยาศาสตร์จากเยาวชนไทย ส่งให้มนุษย์อวกาศญี่ปุ่น นายโนริชิเงะ คะไน เลือกนำไปใช้ทดลองในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง บนสถานีอวกาศนานาชาติ
“โดยในโครงการมีเยาวชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจาก นิวซีแลนด์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ญี่ปุ่น เป็นต้น ให้ความสนใจส่งไอเดียการทดลองวิทยาศาสตร์เข้าร่วมจำนวน 40 เรื่อง ซึ่งน่ายินดีว่าทางแจ็กซาได้คัดเลือกไอเดียของเด็กไทยจำนวน 1 เรื่อง คือ “การเคลื่อนที่ของวัตถุที่มีน้ำหนักต่างกันภายใน สลิงกี้ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง”(Inside the Slinky) ของ นางสาวศวัสมน ใจดี และ นางสาววริศา ใจดี ขึ้นไปทดลองจริงในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง บนสถานีอวกาศนานาชาติ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561ที่ผ่านมา ที่สำคัญเยาวชนทั้ง 2 คน ได้ร่วมรับชมการถ่ายทอดสดการทดลองจากสถานีอวกาศนานาชาติ ผ่านห้องบังคับการที่ศูนย์อวกาศสึคุบะ (Tsukuba Space Center) และร่วมกิจกรรมหลักสูตรฝึกมนุษย์อวกาศระยะสั้น 1 วัน ร่วมกับเยาวชนจาก 4 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์”
นางสาววริศา ใจดี หรือ น้องไอซี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสาธิต มศว. ปทุมวันกล่าวว่า ตนเองและพี่สาวมีความสนใจและติดตามโครงการAsian Try Zero-G 2018 มาก และได้ร่วมส่งข้อเสนอการทดลองทางอวกาศเข้าร่วมทุกปีตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งปีแรกก็ได้รับเลือก ก็รู้สึกสนุกอยากส่งอีกเรื่อยๆ จึงพยายามศึกษาดูการทดลองในปีเก่าๆ เพื่อไม่ให้แนวคิดซ้ำเดิม
“โดยในปีนี้เห็นว่า สลิงกี้ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีให้เลือกใช้แต่ไม่ค่อยถูกนำมาใช้ เลยไปค้นหาสลิงกี้ที่มีในกล่องของเล่น สิ่งที่พบคือสลิงกี้ที่พลิกไปมาและมีตัวต่อของเล่นเข้าไปอยู่ในนั้น หากเราดึงสลิงกี้ให้ยืดออก ของเล่นข้างในก็จะร่วงตกลงมาตามแรงโน้มถ่วงของโลก จึงเกิดแนวความคิดของไอเดียการทดลองเพื่อศึกษาดูการเคลื่อนที่ของวัตถุที่มีน้ำหนักต่างกันภายในสลิงกี้ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง โดยเราจะออกแรงกระทำในลักษณะที่ต่างกันกับสลิงกี้ที่ภายในช่องว่างถูกบรรจุด้วยลูกบอลทำจากวัสดุต่างกัน และมีน้ำหนักต่างกัน แต่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากัน เช่น จับสลิงกี้ยืดออกในแนวนอน ยืดออกในแนวตั้ง พลิกกลับไปมา แล้วสังเกตดูการเคลื่อนที่ของลูกบอลวัสดุต่างกันคือ ฟองน้ำ ไม้ พลาสติก และลูกเหล็ก”
ด้าน นางสาวศวัสมน ใจดีหรือ น้องไอเดียนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนศรีบุณยานนท์กล่าวเพิ่มเติมถึงผลการทดลองว่า จากการทดลองในครั้งนี้พบว่า ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง น้ำหนักของวัตถุไม่มีผลต่อทิศทางการเคลื่อนที่ของวัตถุภายในสลิงกี้เลย สิ่งที่มีผลคือแรงกระทำจากภายนอกที่กระทำต่อสลิงกี้ซึ่งผลการทดลองเป็นไปตามสมมติฐานที่ได้ตั้งไว้ แต่มีจุดสังเกตอีกอย่างหนึ่ง คือ หากเราใช้สลิงกี้ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่ขึ้น โดยใช้วัตถุที่มีน้ำหนักเท่ากัน แต่มีรูปทรงแตกต่างกัน การเคลื่อนที่ของวัตถุนั้นๆภายในสลิงกี้จะเหมือนหรือแตกต่างไปจากเดิมอย่างไร ซึ่งหากมีโอกาสอยากจะทำการทดลองเพิ่มเติม
“สิ่งที่ได้จากผลการทดลองนี้ ทำให้เราทั้งสองคนคิดถึงหลักการเคลื่อนย้ายวัตถุจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง โดยออกแรงกระทำที่ท่อนำส่ง วัตถุไม่ว่าหนักหรือเบาก็จะถูกทำให้เคลื่อนที่ได้โดยการออกแรงที่เท่ากันในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงซึ่งหลักการนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในอวกาศอนาคต ในเรื่องการขนส่งสิ่งของระหว่างจุดสองจุด ในท่อนำส่งระบบสุญญากาศ”
อย่างไรก็ดีการเข้าร่วมรับชมการถ่ายทอดสดการทดลองจากสถานีอวกาศนานาชาติ ผ่านห้องบังคับการที่ศูนย์อวกาศสึคุบะ ในครั้งนี้ นางสาวศวัสมน ใจดี ยังได้วาดภาพของนายโนริชิเงะ คะไน มนุษย์อวกาศญี่ปุ่น เพื่อมอบให้เป็นที่ระลึกสำหรับแทนคำขอบคุณ โดยทางเจ้าหน้าที่ของแจ็กซ่าได้ทำการสแกนภาพวาดและส่งผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้กับนายโนริชิเงะ ที่ปฎิบัติหน้าที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติด้วย ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับมนุษย์อวกาศ และเป็นการสานฝันสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทยทั้ง 2 คน เป็นอย่างมาก
เราสองคนรู้สึกตื่นเต้นมากๆที่ได้มีโอกาสไปร่วมชมการทดลองที่ถ่ายทอดสดจากสถานี ISS มายังภาคพื้นดินที่ผ่านห้องบังคับการที่ ศูนย์อวกาศเมืองสึคุบะ (Tsukuba Space Center) ของ JAXA ณ ประเทศญี่ปุ่น เราได้ฟังแนวความคิดของเพื่อนๆประเทศอื่นๆที่ก็ส่งการทดลองมาเช่นกัน พวกเขาล้วนมีจุดประกายเริ่มต้นที่แตกต่างกันไป ได้เห็นในหลายๆมุมมองของเพื่อนๆในแต่ละประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่พวกเขาอยากมีโอกาสได้ขึ้นไปบนยานอวกาศจึงอยากเป็นวิศวกร และนักบินอวกาศ เรายังได้มีโอกาสได้เข้าชม Tsukuba Expo Center และพิพิธภัณฑ์อวกาศ JAXA ได้เห็นเทคโนโลยีอวกาศ ทั้งแบบจำลองดาวเทียม กระสวยอวกาศ และจรวดขนส่งดาวเทียม และได้เข้าร่วมกิจกรรมจำลองการฝึกทำภารกิจบนอวกาศ เตรียมตัวเพื่อที่จะเป็นนักบินอวกาศจริงๆ สำหรับฉันกับพี่ถึงแม้จะยังไม่ได้ขึ้นไปอยู่บนอวกาศตามที่เราฝันกันไว้ แต่ฉันกับพี่ก็ดีใจที่ได้รู้ว่า เราก้าวเข้าไกลความฝันขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งแล้ว
หลังจากการได้เข้าร่วมกิจกรรม Asian Try Zero G อย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมที่ศูนย์อวกาศเมืองสึคุบะ ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับอวกาศกับเพื่อนๆพี่ๆและผู้เชี่ยวชาญ ในตอนนี้ฉันกับพี่คิดว่าเรื่องราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีในอวกาศเป็นเรื่องที่สำคัญเรื่องหนึ่งและทุกคนควรเปิดกว้างในการศึกษาหาความรู้ เพราะถึงแม้มันอาจจะดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งคือในอวกาศที่ห่างออกไปนั้น ยังมีแหล่งความรู้ที่กว้างไกลและยังมีคำตอบของข้อสงสัยที่รอให้เราไปค้นหาอีกมากมาย