ภารกิจ BepiColombo (เบพิโคลอมโบ) ซึ่งเป็นโครงการร่วมกันระหว่างองค์การอวกาศยุโรป (ESA) และองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) สามารถถ่ายภาพดาวพุธได้ในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เมื่อเวลา 06.34 น. ตามเวลาในประเทศไทย โดยใช้แรงโน้มถ่วงของดาวพุธ ดึงการเคลื่อนตัวของยานให้ช้าลง และเข้าสู่ระดับความสูงไม่ถึง 200 กิโลเมตรจากพื้นผิว ก่อนจะทำการบันทึกภาพขาวดำ ส่งมายังศูนย์ควบคุมภารกิจบนพื้นโลก ขององค์การอวกาศยุโรป ในเมืองดาร์มสตัทช์ (Darmstadt) ประเทศเยอรมนี
ครั้งนี้เป็นการบินผ่านใกล้ดาวพุธเป็นครั้งแรก จากจำนวนทั้งหมด 6 ครั้ง ตามแผนที่กำหนดไว้ โดยภาพชุดแรกที่ส่งมาจากยานเบพิโคลอมโบ แสดงให้เห็นขั้วเหนือของดาวพุธ และภูมิประเทศพื้นผิวลักษณะคล้ายแผลฝีดาษ รวมถึงแอ่งเลอร์มอนตอฟ (Lermontov crater) ขนาดความกว้าง 166 กิโลเมตร
โครงการ BepiColombo เป็นโครงการสำรวจดาวพุธ (Mercury Exploration) ที่ได้รับการออกแบบและควบคุมการปฏิบัติภารกิจในความร่วมมือกันระหว่าง ESA และJAXA ซึ่งประกอบด้วยดาวเทียม จำนวน 2 ดวง คือ ดาวเทียม Mercury Planetary Orbiter (MPO) ที่สร้างขึ้นโดย ESA และดาวเทียม Mercury Magnetospheric Orbiter (MMO) ที่สร้างขึ้นโดย JAXA
โครงการ BepiColombo มีภารกิจในการสำรวจพื้นผิว ชั้นบรรยากาศ สนามแม่เหล็กของดาวพุธ และพิสูจน์ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ (Einstein’s Theory of General Relativity)