มีภาพที่น่าตื่นตาจากกล้องฮับเบิลของ NASA/ESA มันเป็นภาพแหล่งกำเนิดดาวฤกษ์ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง และที่โดดเด่นในนั้นคือ N11 มีกลุ่มเมฆก๊าซหลายกลุ่มอยู่ร่วมกับกระจุกดาวฤกษ์ ซึ่งอยู่ในกาแล็กซีเพื่อนบ้านของเรา คือ เมฆแมกเจลแลนใหญ่ แหล่งกำเนิดดาวฤกษ์แห่งนี้ มีปฏิกิริยารุนแรงที่สุดที่อยู่ใกล้เราในเอกภพ
ในเมฆแมกเจลแลนใหญ่หรือ LMC นี้ มีแสงแวววาวของก๊าซเรืองแสงคล้ายฟองผุดขึ้นมา
ที่ใหญ่และตื่นตาที่สุดแห่งหนึ่ง มีชื่อว่า LHA 120-N 11 มาจากลำดับในบัญชี ที่จัดทำโดยนักดาราศาสตร์อเมริกันที่เป็นนักบินอวกาศด้วย ชื่อ คาร์ล เฮไนซ์ ในปี ค.ศ.1956 เรียกกันโดยย่อว่า N11
เมื่อดูใกล้ๆ เราจะเห็นสีชมพูจากก๊าซเรืองแสงที่ขยายตัว ทำให้ N11 ดูเหมือนก้อนขนมสายไหมปั่นเป็นฝอยในงานวัด แต่ก็มีบางคนเห็นรูปทรงนี้เหมือนกับเมล็ดถั่ว จึงมีการตั้งชื่อว่า เนบิวลาเมล็ดถั่ว (Bean Nebula)
จากลักษณะและสีสันที่สว่างเจิดจ้าแบบนี้ แสดงว่าที่นี่คือแหล่งกำเนิดดาวฤกษ์อย่างแน่นอน
N11 ที่อยู่ในระยะ 1,000 ล้านปีแสงจากโลก จึงเป็นบริเวณที่เหมาะสมสำหรับการศึกษา
แหล่งกำเนิดดาวฤกษ์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งใน LMC ซึ่งก่อเกิดดาวฤกษ์มวลมหาศาลเป็นส่วนใหญ่ มีดาวฤกษ์เกิดขึ้นในขั้นตอนที่แตกต่างกัน จึงทำให้ N11 ดูน่าตื่นตามาก เพราะมีดาวฤกษ์เกิดขึ้นถึง 3 รุ่น แต่ละรุ่นจะอยู่กระจายห่างออกไปจากศูนย์กลางเนบิวลาต่อเนื่องกันไป จึงเกิดเป็นชั้นของก๊าซและฝุ่นขึ้นมาเรื่อยๆ
ชั้นต่างๆ นี้ขยายออกไปเพราะแรงดันจากดาวฤกษ์เกิดใหม่ด้านใน การก่อตัวเพื่อให้กำเนิดดาวฤกษ์แบบนี้ จึงเกิดลักษณะเป็นวงแหวนเห็นได้ชัดเจนในภาพ
เมล็ดถั่วนี้ ไม่ได้น่าสนใจที่มีรูปทรงแปลกๆ ที่เห็นสวยงามจากภาพความคมชัดสูงที่ถ่ายโดยกล้องฮับเบิลของ NASA / ESA เท่านั้น
สูงขึ้นไปทางซ้ายของภาพ จะเห็นสีแดงของเนบิวลากุหลาบ คือ N11A กลีบกุหลาบ คือฝุ่นก๊าซที่ถูกกระตุ้นให้ส่องแสงโดยพลังงานจากภายใน ที่มีดาวฤกษ์มวลมหาศาลอยู่ตรงศูนย์กลาง เนบิวลากุหลาบมีความหนาแน่น และขนาดสัมพันธ์กับจำนวนดาวฤกษ์ที่ตายเกิดการระเบิดไปแล้วไม่นานในเนบิวลานี้
มีกระจุกดาวฤกษ์มากมายใน N11 เช่น NGC 1761 ที่อยู่ด้านล่างของภาพ คือกระจุกดาวที่มีดาวฤกษ์มวลมหาศาลอายุน้อยอาศัยอยู่มาก จึงแผ่รังสีอัลตราไวโอเลตความเข้มสูงออกสู่อวกาศ
แม้ว่ามันจะมีขนาดเล็กกว่ากาแล็กซีของเรา แต่ LMC มีแหล่งกำเนิดดาวฤกษ์อยู่มากมาย และเมื่อศึกษาแหล่งฟูมฟักดาวฤกษ์นี้ จะช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจกระบวนการเกิดดาวฤกษ์ได้ดีขึ้นนำไปสู่การศึกษาวิวัฒนาการของมันต่อไป
ทั้ง LMC และสมาชิกที่เล็กกว่าคือ เมฆแมกเจลแลนเล็ก ทั้งคู่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งผู้คนทางซีกโลกใต้จะรู้จักกันดีมาก
คนที่ทำให้ชาวยุโรปรู้จักกาแล็กซีทั้งสองนี้ คือนักสำรวจชาวโปรตุเกส ชื่อ เฟอร์นานโด แมกเจลแลน และลูกเรือของเขา โดยสังเกตเห็นในปี ค.ศ. 1519 ขณะเดินเรืออยู่กลางทะเล
เคยมีนักดาราศาสตร์เปอร์เซียน ชื่อ อัล ราห์มาน อัล ซูฟิ และนักสำรวจอิตาเลียน ชื่อ อเมริโก เวสปุชชี ได้บันทึกกาแล็กซีสว่างนี้ไว้แล้วในปี ค.ศ. 964 และ ค.ศ.1503
แปลและเรียบเรียงโดย
อาจารย์สิทธิชัย จันทรศิลปิน