โครงการราชพฤกษ์อวกาศ
Asian Herb in Space (AHiS)
โดยความร่วมมือระหว่าง สวทช. กับ JAXA และหน่วยงานพันธมิตร
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ร่วมกับ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือแจ็กซา (JAXA) และหน่วยงานพันธมิตร ร่วมกันดำเนินการโครงการ Asian Herb in Space (AHiS) หรือโครงการราชพฤกษ์อวกาศ
โดย สวทช. ได้คัดเลือก ‘เมล็ดราชพฤกษ์’ เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากราชพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่มีความหมายต่อคนไทย ในฐานะ ‘ดอกไม้ประจำชาติ’ อีกทั้งดอกราชพฤกษ์ยังมีสีเหลืองงดงาม เป็นสีประจำคณะวิทยาศาสตร์ในหลายมหาวิทยาลัย ทาง สวทช. ได้ส่งมอบเมล็ดพันธุ์ราชพฤกษ์ จำนวน 360 เมล็ด ให้แก่ JAXA เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อผ่านกระบวนการตรวจสอบร่วมกับเมล็ดพันธุ์พืชจากอีก 11 ประเทศ ก่อนส่งขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ในวันที่ 7 ธันวาคม 2563 โดยเมล็ดราชพฤกษ์ของไทยถูกเก็บรักษาไว้ในห้องทดลอง Kibo Module ของ JAXA เป็นเวลาประมาณ 7 เดือน ก่อนจะส่งกลับถึงพื้นโลกในวันที่ 10 กรกฎาคม 2564
และเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 สวทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานพันธมิตร เริ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ราชพฤกษ์อวกาศ ณ โรงเรือนวิจัย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา โดยมีการปลูกเปรียบเทียบการเติบโตของต้นราชพฤกษ์ระหว่างเมล็ดพันธุ์จากอวกาศกับเมล็ดพันธุ์ปกติ ดำเนินการศึกษาโดย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ก่อนที่จะส่งมอบให้กับหน่วยงานภาครัฐและสถานศึกษาทั่วประเทศที่สมัครเข้าร่วมโครงการได้ปลูกต้นราชพฤกษ์อวกาศเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่สำคัญต่อไป
พฤษภาคม 2561
ไบโอเทค สวทช. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ราชพฤกษ์ จำนวน 360 เมล็ด เพื่อส่งมอบให้ JAXA
7 ธันวาคม 2563
JAXA ส่งเมล็ดพันธุ์โครงการ Asian Herb in Space ไปกับจรวด Falcon-9 ในภารกิจ SpaceX CRS-21 ของบริษัท SpaceX
ธันวาคม 2563 – กรกฎาคม 2564
เมล็ดพันธุ์ราชพฤกษ์ของไทยเก็บรักษาอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติใน Kibo Module ของ JAXA เป็นเวลา 7 เดือน
2 ธันวาคม 2564
สวทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานพันธมิตร เริ่มโครงการเพาะเมล็ดราชพฤกษ์ ณ โรงเรือนวิจัย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ วิทยาเขตศาลายา
ภาพการเปรียบเทียบการเติบโตของต้นอ่อนราชพฤกษ์ระหว่างเมล็ดพันธุ์จากอวกาศกับเมล็ดพันธุ์ปกติ ดำเนินการศึกษาโดย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา
20 ธันวาคม 2565
พิธีส่งมอบต้นกล้าราชพฤกษ์อวกาศ เฟสที่ 1 ให้แก่โรงเรียน จำนวน 21 แห่ง