กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลของ NASA / ESA ได้ภาพใหม่ของกาแล็กซี NGC 1132 เหมือนเป็นซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลของจักรวาล (cosmic fossil) ที่เกิดจากกาแล็กซีมากมายมาอยู่รวมกัน จากการชนกันอย่างรุนแรง แล้วเกิดกาแล็กซีขนาดใหญ่
แม้จะดูขุ่นมัวแต่ก็สวยงาม นับได้ว่าเป็นกาแล็กซีรูปทรงรีอีกแบบหนึ่งที่น่าสนใจ
ในตอนนี้เราจะไปดูผลงานล่าสุดของกล้องฮับเบิลอย่างใกล้ชิด เป็นภาพกาแล็กซีรูปทรงรีขนาดยักษ์คือ NGC 1132
มีคำถามว่า ความพิเศษในกาแล็กซีที่ขุ่นมัวนี้คืออะไร เพราะมันเห็นไม่ชัดเจนจึงไม่น่าสนใจเลย แต่นักดาราศาสตร์ไม่ได้สนใจว่าที่เห็นตอนนี้เป็นอย่างไร เขาสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นมาในอดีต
ดังนั้นเราจะมาสืบค้นอดีตเรื่องนี้จากรายละเอียดของภาพที่ได้ในปัจจุบัน
NGC 1132 อยู่ห่างออกไป 320 ล้านปีแสงจากโลก ปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวแม่น้ำ หากเรามองแบบผิวเผินในครั้งแรก NGC 1132 ดูเหมือนกาแล็กซีรูปทรงรีทั่ว ไป ดูธรรมดาไม่มีอะไรน่าสนใจ
มีดาวฤกษ์อยู่ประมาณ 100 ล้านดวง ส่วนมากเป็นดาวฤกษ์สีเหลือง ซึ่งบ่งบอกว่ามันมีอายุมากแล้ว แต่เมื่อดูอย่างละเอียดพบว่า NGC 1132 มีความพิเศษในตัวเองคือ มันใหญ่โตมาก ใหญ่กว่าขนาดเฉลี่ยของกาแล็กซีทรงรีทั่วไปหลายเท่า จัดให้อยู่ในบัญชีของกลุ่มกาแล็กซีทรงรีขนาดยักษ์
เมื่อมองในช่วงคลื่นที่ตาเห็น NGC 1132 เห็นเป็นกาแล็กซีเดียว อยู่โดดเดี่ยวและเป็นกาแล็กซีขนาดยักษ์ แต่ที่เห็นนั้นเป็นแค่เพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง เพราะนักวิทยาศาสตร์พบว่า NGC 1132 มีร่องรอยที่แสดงว่ามีสสารมืดอยู่มากมาย
มากพอๆ กับที่พบในกาแล็กซีทั่วๆ ไปรวมกันถึงหมื่นกาแล็กซี และยังแผ่รังสีเอกซ์พลังงานสูงออกมาจากก๊าซร้อนที่มีอยู่มากมาย คือมาจากแต่ละกาแล็กซีที่อยู่ในกลุ่มนี้
เมื่อมองในช่วงคลื่นตาเห็น กาแล็กซีจะมีรัศมีประมาณ 120,000 ปีแสง แต่รังสีเอกซ์ยังแผ่ขยายในอวกาศไกลออกไปอีกเป็น 10 เท่า ขอบเขตการแผ่รังสีเอกซ์นี้ คือขนาดพื้นที่จริงของกาแล็กซีทั้งหมด
ดังนั้น จำนวนสสารมืดและก๊าซร้อนที่มีมากมาย กระจายครอบคลุมกาแล็กซีทั้งกลุ่มนี้เอาไว้ จึงทำให้เราเห็นมันเป็นกาแล็กซีเดี่ยว ๆ และดูว่ามีขนาดมหึมา ซึ่งความจริงไม่เป็นเช่นนั้น
ถ้าเราสังเกตภาพโดยละเอียดเราจะเห็น NGC 1132 ประกอบขึ้นจากกาแล็กซีแคระขนาดเล็กมากมาย ดูเหมือนก้อนปุยฝ้ายหรือปุยสำลี ถือว่าเป็นกาแล็กซีที่มีขนาดผิดไปจากมาตรฐานที่ควรเป็น มันมีอะไรเกิดขึ้นหรือ
นักดาราศาสตร์ส่วนใหญ่อธิบายว่า NGC 1132 เกิดขึ้นจากหลายกาแล็กซีเข้ามาชนกัน บางทีอาจเรียกว่า “กลุ่มซากดึกดำบรรพ์” หรืออีกนัยหนึ่งคือ สิ่งที่เราเห็นนี้ เป็นกาแล็กซีเล็กๆ ทั้งหมดที่หลงเหลือจากการชน แล้วเข้ามารวมกันเป็นกาแล็กซีเดียวในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในอดีต
ถ้าพิจารณาภาพโดยละเอียดแล้ว เราจะเห็นว่า NGC 1132 มีกระจุกดาวทรงกลมเก่าแก่เป็นจำนวนนับพันแห่งล้อมรอบอยู่ กระจัดกระจายทั่วไปในกาแล็กซี เหมือนฝูงผึ้งบินตอมอยู่รอบรังของมัน กระจุกดาวทรงกลมเหล่านี้ อยู่รอดมาได้จากการชนกันของกาแล็กซีเดิมที่มันอยู่ และก็ยังอยู่ใน NGC 1132
ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำอธิบายว่า มันต้องมีการรวมตัวกันในอดีตจนเกิดเป็นกลุ่มกาแล็กซีนี้ทั้งหมด
ยังมีกาแล็กซีอีกมากมายที่กระจัดกระจายไกลออกไป ซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับกลุ่มดึกดำบรรพ์ที่เห็นอยู่ด้านหน้า
กลุ่มดึกดำบรรพ์นี้ยังคงเป็นปริศนาของนักดาราศาสตร์ที่พยายามค้นหาคำตอบ ส่วนใหญ่อธิบายว่ามันเป็นผลผลิตสุดท้ายของการกลืนกินกันในจักรวาล โดยกาแล็กซีขนาดใหญ่กว่าเขมือบเพื่อนบ้านของมันเอง เป็นคำอธิบายที่ไม่ค่อยชัดเจนเท่าไร มันอาจเกิดจากวัตถุที่หายากในอวกาศ มาก่อตัวขึ้นตรงนี้ก็เป็นได้
ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ละกาแล็กซีเติบโตตามปกติ เมื่อมีขนาดมาตรฐานแล้วก็หยุดเติบโต แล้วมารวมกันเป็นกาแล็กซีขนาดใหญ่เพียงหนึ่งเดียว
กาแล็กซีส่วนใหญ่ รวมถึงกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราจัดเป็นกลุ่มกาแล็กซีที่มีแรงโน้มถ่วงระหว่างกัน ซึ่งมีหลักฐานว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกก็เคยกลืนกินกาแล็กซีขนาดเล็กๆ มาตลอดชั่วชีวิตของมัน จึงมีดาวฤกษ์มากมายที่เกิดจากกระบวนการนี้
จะเกิดอะไรขึ้นกับกาแล็กซีทางช้างเผือกและกาแล็กซีเพื่อนบ้านต่อไปในช่วง 2–3 พันล้านปีข้างหน้า นี่เป็นคำถามที่สำคัญมากที่นักดาราศาสตร์พยายามหาคำตอบ เมื่อมีการศึกษาโครงสร้างและวิวัฒนาการของกาแล็กซีอื่นๆ เช่น NGC 1132 นี้
จากการวิเคราะห์คุณสมบัติของมัน น่าจะสืบค้นกลับไปพบร่องรอยในอดีตได้ และทำให้รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับกาแล็กซีเพื่อนบ้านของเราในอนาคต
แปลและเรียบเรียง
อ.สิทธิชัย จันทรศิลปิน