ภารกิจซ่อมบำรุงกล้องฮับเบิลครั้งที่ห้า ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย มีการเปลี่ยนแปลงช่วงเวลา โดยเลื่อนจากวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 2008 ไปเป็นวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 2009
มีนักบินอวกาศ 7 คนไปยังกล้องฮับเบิล เพื่อสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ตอนนั้นกล้องฮับเบิลอายุ 19 ปี เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่มีผลงานมากมาย ช่วยขยายขอบเขตการสังเกตเอกภพ ทำให้เห็นได้ไกลและลึกมากขึ้น เกิดความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์มากมาย
กล้องฮับเบิลย่อมชำรุดไปตามกาลเวลา แต่การซ่อมบำรุงครั้งสุดท้ายนี้ทำให้มันมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิมเสียอีก นักบินอวกาศออกไปเดินอวกาศเพียงห้าครั้ง ก็ทำงานที่กำหนดไว้ได้สำเร็จเรียบร้อย คือติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ 2 ชุด และซ่อมแซมของเดิมอีก 2 ระบบ
แม้เป็นงานที่ดูเหมือนง่าย แต่อันตรายถึงชีวิตได้ ส่วนการติดตั้งอุปกรณ์พิเศษบางอย่าง ที่ไม่มีอยู่ในแผนงานตั้งแต่ตอนเริ่มโครงการในช่วงทศวรรษ 1970 จึงมีทีมวิศวกรพิเศษของ ESA เดินทางไปอเมริกา เพื่อติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่สนับสนุนโดย ESA ผลิตไฟฟ้าให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องยนต์ต่างๆ ซึ่งเป็นเหมือนเลือดที่หล่อเลี้ยงกล้องฮับเบิล
โดยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ต้องอยู่นิ่งคงที่ตลอดเวลาในขณะที่นักบินอวกาศปฏิบัติงาน เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดไปทำแผงเสียหาย
แต่ภารกิจต่างๆ จะดำเนินการได้ ขั้นแรก ต้องนำทุกอย่างขึ้นสู่อวกาศเสียก่อน
ในช่วงส่งยานขนส่งอวกาศ เช้าวันนั้น สภาพอากาศร้อน มีเมฆเล็กน้อย มีแขกรับเชิญ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และนักข่าว รายล้อมอยู่เต็มศูนย์อวกาศเคนเนดี เพื่อสังเกตการณ์ ยานแอตแลนติสเดินทางสู่อวกาศ พร้อมความหวังที่จะปลุกชีวิตใหม่ให้กล้องฮับเบิล
เวลา 20.01 น. วันที่ 11 พฤษภาคม แอตแลนติสจุดจรวดที่ฐานปล่อย ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าไปยังเป้าหมาย เพื่อสร้างประวัติศาสตร์ เมื่อแอตแลนติสถึงจุดที่ปลอดภัยแล้ว เห็นแต่ควันขาวเป็นทางยาวอยู่เบื้องล่าง ทีมงานกล้องฮับเบิลของ ESA ก็เดินทางไปศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ด ในแมรีแลนด์ ซึ่งเป็นศูนย์ควบคุมการทำงานของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ
ทีมงานของ ESA ได้ทำงานร่วมกับทีมของศูนย์กอดดาร์ด เพื่อคอยช่วยเหลือการปฏิบัติงานของนักบินอวกาศ ในขณะออกไปเดินอวกาศ นักบินอวกาศใช้เวลาเดินอวกาศ เพื่อการซ่อมบำรุงมากกว่า 36 ชั่วโมง ในช่วง 13 วัน งานแรกคือ เอากล้อง WFPC 2 ออก แล้วแทนที่ด้วย WFC 3 คือกล้องถ่ายภาพพื้นที่กว้าง 3 ซึ่งมีประสิทธิภาพในการสังเกตการณ์สูงกว่ามาก ช่วยขยายขอบเขตการสังเกตแสงที่ตาเห็น และยังตรวจจับคลื่นในช่วงต่าง ๆ ได้ด้วย
การเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เช่น นักบินอวกาศ จอห์น กรุนสเฟล์ด และ แอนดรูว์ ฟิวสเตล ได้นำอุปกรณ์ปรับความคลาดสีของกล้องชุดเดิมออกไป ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้แล้ว เพราะมีอุปกรณ์ใหม่ คือ อุปกรณ์สังเกตสเปกตรัมจุดกำเนิดจักรวาล หรือ COS มาแทน
COS จะศึกษาภาพใหญ่ของโครงสร้างเอกภพ ตลอดจนการเกิดและวิวัฒนาการของกาแล็กซี ดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ จะช่วยสืบค้นไปถึงการรวมตัวของธาตุที่เป็นพื้นฐานของชีวิต เช่น คาร์บอนและเหล็ก
นักบินอวกาศไม่เพียงแค่เปลี่ยนของใหม่แทนที่ของเก่า พวกเขายังต้องปรับและซ่อมแซมอุปกรณ์เดิม เพื่อให้ทำงานได้ดีที่สุดอีก 2 ระบบด้วย คือ กล้องถ่ายภาพสเปกตรัม หรือ STIS ซึ่งประกอบด้วยกล้องถ่ายภาพกับสเปกโตรกราฟ
ตรวจจับช่วงคลื่นตั้งแต่ใกล้อินฟราเรดไปจนถึงอัลตราไวโอเลต ต้องซ่อมแซมระบบจ่ายพลังงาน
นักบินอวกาศใช้เวลานานมาก เพื่อคลายตะปูเกลียวที่ยึดแผงปิดออก ต้องให้ ไมค์ แมสสิมิโน ที่มีพละกำลังมากไปแก้ปัญหา เขาดึงมือจับเปิดแผงออกอย่างง่ายดาย จึงซ่อมแซม STIS ได้ อีกระบบหนึ่งคือ กล้องสำรวจชั้นสูงที่ต้องซ่อมแซมกันกลางอวกาศ เพราะระบบจ่ายพลังงานเริ่มชำรุดเหมือนกัน การซ่อมบำรุงครั้งนี้จึงเท่ากับฟื้นชีวิตใหม่ให้กล้องฮับเบิล
เมื่อนักบินอวกาศ เมแกน แมกอาร์เธอร์ เสร็จภารกิจสุดท้ายจากฮับเบิล และเข้ามายังยานขนส่งอวกาศได้เรียบร้อย ก็เป็นช่วงเวลาฉลองชัยของนักบินอวกาศ และของทีม NASA / ESA ที่สนับสนุนการทำงานอยู่บนโลก
นี่เป็นครั้งสุดท้ายที่มนุษย์ไปยังกล้องฮับเบิล เครื่องมือที่ช่วยให้เราเรียนรู้จุดกำเนิด และที่อยู่ของเราในเอกภพที่กว้างใหญ่ไพศาล
แปลและเรียบเรียงโดย
อาจารย์สิทธิชัย จันทรศิลปิน