ปาลิตา สุฤทธิ์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
จากการนำเสนอผลงานในงาน Access to Space for All-hypergravity/Microgravity Webinar Series 2021 ที่จัดโดย UN Office for Outer Space Affair (UNOOSA) ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการพูดถึงประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาภาวะสุขภาพของนักบินอวกาศจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาขณะปฏิบัติภารกิจอยู่ที่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) และแนวทางการแก้ไขเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพเหล่านี้ ผู้เขียนจึงอยากยกประเด็นนี้มาเล่าให้ฟัง
โดยเราจะไล่เรียงปัญหาทางสุขภาพไปทีละระบบ เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น ขอเริ่มที่ระบบแรกนั่นคือ ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ (musculoskeletal system)
การเคลื่อนไหวของร่างกายนั้นเกิดจากการทำงานประสานกันของสมอง การรับรู้ (มองเห็น, สัมผัส) และระบบการทำงานของกระดูกและกล้ามเนื้อ ซึ่งการเคลื่อนไหวร่างกายบนโลกที่มีแรงโน้มถ่วง (gravity) ถึง 9.8 m/s2 ทำให้เราสามารถเดินโดยที่เท้าของเราติดกับพื้นได้ ซึ่งทุกๆ การเคลื่อนไหวต้องอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกเสมอเพื่อให้ตัวเราไม่ลอยขึ้น (สามารถเห็นได้บ่อยๆ ในหนังแนวอวกาศ) ร่วมกับการทำงานของ 3 ระบบข้างต้น เพื่อการเปรียบเทียบให้เห็นภาพมากขึ้น ให้คุณลองเดินขึ้นไปบนพื้นชัน อาจจะไม่ต้องชันมาก แล้วลองสังเกตดูแรงที่เราใช้ในการเดินขึ้นพื้นชันว่าเราต้องออกแรงเพิ่มหรือเปล่า ซึ่งคำตอบก็น่าจะตรงกันว่า “ใช่” เราต้องออกแรงเพิ่มจากปกติที่เคยเดินบนพื้นราบ นั่นเป็นเพราะเราต้องเดินต้านกับแนวแรงของ “แรงโน้มถ่วง” ที่มีทิศพุ่งลง
แต่ในทางกลับกันการที่นักบินอวกาศต้องอยู่บนสถานีอวกาศซึ่งมีแรงโน้มถ่วงต่ำทำให้ลดการใช้แรงตรงส่วนนี้ไป (F = mg) จึงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย (สรีรวิทยา) เช่น
การเกิดกล้ามเนื้อบริเวณขาหดเกร็งและลีบ (chicken legs/bird legs) จากการที่ไม่มีการใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณนั้นเป็นเวลานาน เนื่องจากในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (microgravity) การเคลื่อนไหวร่างกายจะใช้แรงเพียงนิดเดียวเท่านั้น ซึ่งต่างจากโลกที่มีแรงโน้มถ่วงถึง 9.8 m/s2
มวลกระดูกที่สามารถลดลงได้ถึงร้อยละ 12 (-12% of bone density) หากอยู่ในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำเป็นเวลานาน เนื่องจากไม่มีการใช้งานของกระดูกและข้อต่อเพื่อรองรับน้ำหนัก ทำให้เกิดกระดูกบางและเปราะแตกง่าย (osteoporosis) ถ้าเทียบกับมวลกระดูกของคนที่อยู่บนโลก
ปวดหลัง (back pain) เนื่องจาก paraspinal muscles ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่ยึดกระดูกสันหลังไว้ด้วยกันและเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวเกิดการหดตัวขึ้นทำให้กระดูกสันหลังยืดตัวออก จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง (Elisa R Ferre, 2021)
รูปที่ 6 ตัวอย่างภาพจำลองการสลายของมวลกระดูกเมื่อยู่ในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ
ภาพจาก http://sciencemag.vasantvalley.org/category/may-2020/
รูปที่ 7 osteoporosis หรือโรคกระดูกพรุน เป็นภาวะที่ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลงมีผลทำให้กระดูกเปราะบางขึ้นและมีความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักได้ง่าย
ภาพจาก https://oryon.co.uk/blog/osteoporosis-gut-health/
นอกเหนือจากปัญหาสุขภาพดังกล่าวที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อแล้ว ระบบการไหลเวียนโลหิต (circulartory system) ก็เป็นอีกหนึ่งระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงและส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพต่อนักบินอวกาศเช่นกัน
ระบบไหลเวียนโลหิตมีเป้าหมายที่สำคัญคือ รักษาการไหลเวียนของเลือด (blood flow) ให้สามารถไปเลี้ยงอวัยวะทุกส่วนในร่างกายเพื่อให้ได้รับก๊าซออกซิเจนและอาหารตามความต้องการ การไหลเวียนเลือดนี้เป็นไปตามกลไกความแตกต่างของความดันในหลอดเลือด โดยอาศัยการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular system) ซึ่งในภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำจะพบความผิดปกติของโครงสร้างและการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดดังนี้
ความผิดปกติทางโครงสร้างและการทำงานของหัวใจ
การศึกษากลไกการสร้างเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจของแมลงในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำพบว่า การแสดงออกของยีน (gene expression) (รูปที่ 8) ที่เกี่ยวกับการสร้าง muscle protein ลดลง ส่งผลให้ปริมาณเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ (muscle fibrils) ที่สร้างขึ้นลดลง มีผลต่อการจับกับคอลลาเจน (collagen) ลดลง ทำให้โครงสร้างของหัวใจผิดปกติ คือขนาดของหัวใจเล็กลงกว่าปกติ (Karen Ocorr, 2021)
นอกจากนี้การเรียงตัวที่ไม่เป็นระเบียบของ muscle fibrils ยังส่งผลทำให้การจับกับคอลลาเจนไม่แข็งแรง (รูปที่ 9) มีผลต่อการบีบตัวของหัวใจลดลง (contraction) อีกทั้งกระบวนการ recycling system ที่บกพร่อง ซึ่งเป็นกระบวนการ recycle และ reuse ของโปรตีนที่ใช้สำหรับการทำงานของหัวใจ ส่งผลทำให้การสร้างเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจใหม่และการทำงานของหัวใจลดลงด้วย (Karen Ocorr, 2021)
จากการทดลองเพื่อติดตามค่า BCG และ SCG ของหัวใจมนุษย์ (BCG และ SCG เป็นค่าที่ใช้ในการประเมินการทำงานของหัวใจ) พบว่ามีค่าลดลงเมื่อเทียบกับภาวะแรงโน้มถ่วงบนโลก นั่นหมายถึงในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ หัวใจมีการบีบตัวลดลง ส่งผลให้ปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจใน 1 นาทีลดลง (cardiac output) (Jeremy Rabineau, 2021) ซึ่งจะส่งผลต่อระบบการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ในร่างกายตามมา
รูปที่ 8 ตัวอย่างภาพจำลองการแสดงของยีนที่ลดลงในสภาะแรงโน้มถ่วงต่ำ
ภาพจาก https://www.ucsf.edu/news/2017/07/407806/
รูปที่ 9 ตัวอย่างภาพจำลองโครงสร้างกล้ามเนื้อหัวใจที่ไม่แข็งแรงซึ่งเป็นผลจากจำนวนที่ลดลงและการเรียงตัวไม่เป็นระเบียบของ muscle fibrils
ภาพจาก https://www.sciencenewsforstudents.org/article/teen-athletes-with-even-mild-covid-19-can-develop-heart-problems
ความผิดปกติของหลอดเลือด
จากการศึกษาในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำพบความผิดปกติของการไหลเวียนเลือดในหลอดเลือด ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากกล้ามเนื้อลีบบริเวณขาหรือ chicken leg (ดังที่เคยกล่าวมาข้างต้น) ที่ทำให้ปริมาณน้ำในเนื้อเยื่อซึมผ่านเข้าหลอดเลือดเพิ่มขึ้นจากการหดตัวของกล้ามเนื้อและการหดตัวของหลอดเลือดบริเวณส่วนปลาย (ขา) ส่งผลให้ความดันในหลอดเลือดเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำในหลอดเลือดจึงถูกส่งขึ้นยังส่วนบนของร่างกายและศีรษะมากขึ้น
อีกทั้งการอยู่ในภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำก็ยิ่งเพิ่มการไหลของน้ำขึ้นส่วนบนของร่างกาย ทำให้เลือดบริเวณส่วนบนเพิ่มขึ้นและส่วนล่างของร่างกายลดลง ดังนั้นเราจะสังเกตเห็นว่านักบินอวกาศที่ไปปฏิบัติหน้าที่บนสถานีอวกาศเป็นเวลานานจะเกิดภาวะใบหน้าบวม หรือ puffy face syndrome (รูปที่ 10) เมื่อเทียบกับก่อนเดินทาง ความผิดปกติของการไหลเวียนเลือดนี้เองก็ได้ส่งผลให้เกิด “ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่า” หรือ post-fight orthostatic intolerance ซึ่งจะพบได้บ่อยในนักบินอวกาศที่เดินทางกลับโลก จากการที่ปริมาณเลือดเดิมที่ส่วนใหญ่อยู่บนศีรษะและส่วนบนของร่างกายกลับเคลื่อนที่ลงมาที่ส่วนล่างของร่างกายตามแนวแรงโน้มถ่วงที่เปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความดันโลหิตอย่างรวดเร็ว เกิดอาการหน้ามืด เวียนศีรษะคล้ายกับ orthostatic hypotension ซึ่งพบได้บ่อยในผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียง (Elisa R Ferre, 2021)
รูปที่ 10 puffy face syndrome คือลักษณะของใบหน้าที่บวมขึ้นจากความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือดหลังจากไปอาศัยอยู่ในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำเป็นเวลานาน นอกจากนี้เป็นสาเหตุทำให้เกิด chicken leg หรือขาลีบได้ด้วย
ภาพจาก https://www.linkedin.com/pulse/puffy-face-bird-legs-syndrome-venkateswaramurthy-n
นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงของทั้ง 2 ระบบข้างต้นแล้ว สมอง (human brain) ซึ่งเป็นอีกอวัยวะที่มีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกายก็เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการอยู่ในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำเช่นกัน จากการศึกษาและทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำพบความผิดปกติทางสมองดังนี้
Structure ความผิดปกติทางด้านโครงสร้างของสมอง
จากการทำ MRI ของนักบินอวกาศที่อยู่บนสถานีอวกาศ 169 วัน พบ blue spot บริเวณ vestibular ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทรงตัว และการที่มีความดัน (pressure) เพิ่มขึ้น (จากความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือดดังกล่าว) ยังส่งผลทำให้ brain ventricle size เพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลต่อการทำงานของสมอง การเปลี่ยนแปลงทั้ง 2 อย่างนี้ส่งผลกระทบต่อการควบคุมการทรงตัว จากการศึกษาทดลองในผู้เข้าร่วมวิจัย (ในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ) เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงคลื่นไฟฟ้าสมองโดยการทำ EEG (คลื่นไฟฟ้าสมอง) พบว่าคลื่นแอลฟา (alpha wave) ลดลง (โดยปกติ alpha wave จะพบเป็นช่วงจังหวะขณะตื่นที่รู้สึกผ่อนคลายและสงบ) ทำให้มีผลต่ออารมณ์ ความคิด และการตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ
Functions ความผิดปกติทางด้านการทำงานของสมอง
จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในสมองข้างต้น นอกจากจะส่งผลต่อการทรงตัวแล้ว ยังส่งผลต่อการเชื่อมต่อสัญญาณประสาทกับพื้นที่รอบๆ ในสมองลดลง มีผลทำให้การทำงานของพื้นที่เหล่านั้นลดลงไปด้วย และจากการศึกษาทดลองพฤติกรรมของหนูเกี่ยวกับความสามารถในการทำงานของสมองต่อการเรียนรู้ในสถานการณ์ต่างๆ (brain plasticity) () พบว่าสิ่งแวดล้อมมีผลต่อความสามารถของสมองในการฟื้นตัวและปรับโครงสร้างต่อการบาดเจ็บหรือการเสื่อม (neuroplasticity) () ทำให้การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป
นอกเหนือจากการสั่งการของสมองที่ผิดปกติที่มีผลต่อการทรงตัวของร่างกาย ระบบที่มีผลต่อการทรงตัวอีกระบบคือ vestibular system หรือระบบการส่งข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งและการเคลื่อนที่ของศีรษะไปยังสมองซึ่งอยู่ภายในหูชั้นใน เกิดการเปลี่ยนแปลงและส่งผลต่อการทรงตัวเช่นกัน (รูปที่ 11)
โดย vestibular system มี semicircular canals ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อการหมุนศีรษะ และ otolith organs ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อการเคลื่อนที่ในแนวตรง โดย semicircular canal และ otolith organs ทั้ง 2 ส่วนนี้เกี่ยวข้องกับแรงโน้มถ่วงโดยตรง เพราะการหมุนตัวต้องอาศัยการเคลื่อนที่ของ endolymph และการเคลื่อนที่ในแนวตรงต้องอาศัยการเคลื่อนที่ของ otoliths ซึ่งทั้ง endolymph และ otolith ล้วนมีทิศทางการเคลื่อนที่ที่สัมพันธ์กับแรงโน้มถ่วงก่อนที่จะส่งสัญญาณไปยังสมองเพื่อสั่งการการเคลื่อนไหวร่างกายในแนวต่างๆ (Elisa R Ferre, 2021)
รูปที่ 11 ความผิดปกติของการทรงตัวจากผลกระทบของสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำต่อ vestibular system ทำให้รูปแบบการเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงไป
ภาพจาก https://www.dreamstime.com/illustration/two-astronauts.html
นอกจากนี้ vestibular system ที่ทำงานผิดปกติไปยังส่งผลต่อการรับรู้ต่อสภาพแวดล้อมที่ผิดปกติ ทำให้การเคลื่อนไหวที่ตอบสนองต่อแรงโน้มถ่วงเกิด space adaptation syndrome หรือ space motion sickness คือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากการรับรู้ต่อสภาพแวดล้อมที่ผิดปกติ (Elisa R Ferre, 2021) ลักษณะเหมือนเราไปเล่นเครื่องเล่นเฮอร์ริเคนที่สวนสนุกดรีมเวิลด์
นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงของระบบทางร่างกายทั้ง musculoskeletal system, circulatory system, brain และ vestibular system จิตใจก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญของมนุษย์ และแน่นอนการเป็นนักบินอวกาศล้วนถูกคาดหวังจากผู้คนมากมาย ทั้งยังต้องเผชิญความเครียดกับวิธีการเดินทาง (แม้ปัจจุบันจะไม่มีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นขณะขนส่งนักบินขึ้นสู่อวกาศ) และต้องไปเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจากเดิม ความเครียดแม้จะเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่หากความเครียดนี้ไม่ได้รับการจัดการที่เหมาะสมก็สามารถทำให้เกิดอันตรายต่อบุคคลนั้นและผู้อื่นได้
เรื่องต่อไปนี้จะเล่าถึงผลกะทบของความเครียดขณะอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายดังนี้
ความเครียด (stress)
จากการที่เหล่านักบินอวกาศต้องเผชิญต่อสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้ยเคย ทำให้เกิดภาวะเครียด ไปกระตุ้น immune cell เกิดการหลั่งไซโตไคน์ (cytokine) ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบในร่างกาย ทำให้เกิดกระบวนการอักเสบขึ้น โดยปกติพฤติกรรมโดยทั่วไปที่เกิดขึ้นบนโลกจะพบว่าระดับของไซโตไคน์มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคทางระบบประสาทและสมอง และความสามารถในการเรียนรู้ลดลง
จากการทดลองโดยใช้หนูเพศเมียเพื่อศึกษาความสัมพันธ์เกี่ยวกับการหลั่งสารไซโตไคน์ต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป พบว่าในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำมีผลทำให้การหลั่งไซโตไคน์เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ มีผลไปรบกวนการนอน (sleep disruption) (รูปที่ 12) และการแสดงออกทางพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยปกติหนูทั่วไปมีพฤติกรรมออกหาอาหารหรือทำกิจกรรมต่างๆ ในเวลากลางคืน แต่ในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำพบว่าหนูมีพฤติกรรมเหล่านี้ลดลง อีกทั้งยังพบพฤติกรรมนอนหลับมากกว่าปกติในเวลากลางวัน
ทั้งนี้ในการศึกษาได้มีการใช้ PLX-PAD (อนุพันธ์ของ stromal cell ที่ได้มาจาก maternal placenta) พบว่าช่วยควบคุมปริมาณไซโตไคน์ให้อยู่ในระดับปกติได้แม้จะอยู่ในภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Ama Luthens, 2021)
นอกจากนี้การที่เรานอนไม่หลับจะส่งผลทำให้ร่างกายอ่อนแอและผิดปกติได้ และจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน (osteoporosis) เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน หรือเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือด
รูปที่ 12 ภาพจำลองการถูกรบกวนการนอน (sleep disruption) ในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ เนื่องจากความเร็วในการเคลื่อนที่ของสถานีอวกาศนานชาติเร็วมากจนสามารถเคลื่นที่รอบโลกได้ถึง 15 ครั้ง ใน 1 วัน ทำให้ช่วงเวลาของการขึ้นและตกของพระอาทิตย์เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกายไปรบกวนการนอน
ภาพจาก https://www.psycom.net/can-insomnia-cause-mental-illness
จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของระบบต่างๆ ภายในร่างกายที่เกิดขึ้น เรามักจะคุ้นเคยหรือรู้จักกันมาบ้างแล้ว เพียงแต่ความผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งนั่นหมายถึงสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรมาก เพียงแต่เราจะสามารถประยุกต์นำองค์ความรู้ที่มีอยู่มาช่วยพัฒนาสิ่งใหม่เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาและพัฒนาให้ดีขึ้น หรือเราจะใช้องค์ความรู้ใหม่ที่ได้มาปรับใช้เพื่อช่วยเหลือหรือพัฒนาสิ่งที่มีอยู่บนโลกใบนี้ให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไรบ้าง
นี่คือตัวอย่างผลงานและแผนในอนาคตจากการนำเสนอผลงานที่จัดโดย UNOOSA
skinsuit (รูปที่ 13) ทำขึ้นเพื่อลดอาการปวดหลัง “gravity’s spinal cord compression”
การพัฒนา device ที่สามารถบันทึกค่า SCG ของหัวใจมนุษย์โดยใช้สมาร์ตโฟนเพื่อวินิจฉัยและเฝ้าสังเกตภาวะหัวใจล้มเหลว (heart failure)
การนำฐานข้อมูลจากการศึกษากลไกของเซลล์ (cellular mechanism) แมลงมาศึกษาต่อเพื่อทำความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจมนุษย์ทั้งอยู่บนโลกและในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำอย่างลึกซึ้ง เพื่อพัฒนาเป็นองค์ความรู้ในการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาทางสุขภาพให้แก่นักบินอวกาศ รวมถึงมนุษย์บนโลกใบนี้
การศึกษาความเชื่อมโยงของการหลั่งไซโตไคน์ต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง เป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาชีววิทยาอวกาศ (space biology) ในเชิงอุตสาหกรรมและการค้า
รูปที่ 13 skinsuit เป็นชุดที่สั่งทำพิเศษจากผ้า spandex ด้วยการทอแบบ 2 ทิศทาง เพื่อต้านทานต่อภาวะการขาดแรงโน้มถ่วง โดยการบีบจากส่วนหัวไหล่ลงไปที่เท้าด้วยแรงที่คล้ายกับโลก เพื่อแก้ไขปัญหาการปวดกระดูกและกล้ามเนื้อที่ไม่ถูกใช้งาน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักทำให้ปวดหลัง ออกแบบโดย The Space Medicine of ESA’s European Astronaut Center
ภาพจาก: https://www.universetoday.com/138634/special-skinsuits-help-astronauts-avoid-back-pain-spines-expand-space/
จากที่ผู้เขียนได้กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่เกิดขึ้น และทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นนำมาซึ่งประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติอย่างมาก จึงอยากใช้จุดเล็กๆ นี้มาช่วยจุดประกายความคิดของคนที่ได้อ่านบทความนี้ ว่าเราเองสามารถคิดหรือทำอะไรเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นได้บ้าง ไม่จำเป็นต้องเริ่มจากสิ่งที่ไกลตัว ลองมองดูรอบๆ ตัว มองดูว่าปัญหาที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเรานี้ เราสามารถแก้ไขได้อย่างไรบ้าง หรือสิ่งที่เรามีอยู่แล้วนั้นสามารถนำไปพัฒนาเพื่อต่อยอดให้เกิดประโยชน์มากขึ้นได้อย่างไร
อ้างอิง
- Gallagher, M., Arshad, I. & Ferrè, E.R. Gravity modulates behaviour control strategy. Exp Brain Res 237, 989–994 (2019). https://doi.org/10.1007/s00221-019-05479-1
- Rabineau, J., Hossein, A., Landreani, F. et al. Cardiovascular adaptation to simulated microgravity and countermeasure efficacy assessed by ballistocardiography and seismocardiography. Sci Rep 10, 17694 (2020). https://doi.org/10.1038/s41598-020-74150-5
- Walls, S., Diop, S., Birse, R., Elmen, L., Gan, Z., Kalvakuri, S., Pineda, S., Reddy, C., Taylor, E., Trinh, B., Vogler, G., Zarndt, R., McCulloch, A., Lee, P., Bhattacharya, S., Bodmer, R., & Ocorr, K. (2020). Prolonged Exposure to Microgravity Reduces Cardiac Contractility and Initiates Remodeling in Drosophila. Cell reports, 33(10), 108445. https://doi.org/10.1016/j.celrep.2020.108445
- Rubinstein L, Paul AM, Houseman C, Abegaz M, Tabares Ruiz S, O’Neil N, Kunis G, Ofir R, Cohen J, Ronca AE, Globus RK, Tahimic CGT. Placenta-Expanded Stromal Cell Therapy in a Rodent Model of Simulated Weightlessness. Cells. 2021; 10(4):940. https://doi.org/10.3390/cells10040940
- Dietrich, D., Dekova, R., Davy, S., Fahrni, G., & Geissbühler, A. (2018). Applications of Space Technologies to Global Health: Scoping Review. Journal of medical Internet research, 20(6), e230. https://doi.org/10.2196/jmir.9458