ทุกชีวิตที่อาศัยอยู่บนโลกของเราล้วนแล้วแต่ต้องการน้ำเพื่อใช้หล่อเลี้ยงชีวิต โดยมีมหาสมุทรที่ทอดยาวกินพื้นที่ประมาณ 71% ของพื้นผิวโลก เป็นองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งกลไกที่ทำให้มีน้ำอยู่บนโลกจึงเป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจว่า ความสามารถในการดำรงชีวิตสามารถพัฒนาบนดาวเคราะห์ดวงนี้ได้อย่างไร
ภารกิจการสำรวจอวกาศ เช่น ยาน Hayabasa2 เพื่อสำรวจดาวเคราะห์น้อยริวกุ (Ryugu) และภารกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างยาน Martian Moons eXploration (MMX) เพื่อสำรวจดวงจันทร์โฟบอส (Phobos) ของดาวอังคาร เกิดขึ้นเพื่อศึกษาว่าน้ำแข็งสามารถเคลื่อนตัวมาจากการก่อตัวในระบบสุริยะชั้นนอกที่เยือกเย็นได้อย่างไร แล้วเคลื่อนที่มาสู่วงโคจรที่มีอุณหภูมิพอเหมาะของดาวเคราะห์หิน เกิดเป็นดาวเคราะห์น้อยและดาวหางที่พุ่งชนโลกขณะที่โลกของเรายังมีอายุไม่มากนัก และปลดปล่อยน้ำลงสู่โลกของเรา
เมื่อปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา มีบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Astronomy ได้รายงานถึงแหล่งน้ำซึ่งเกิดจากกระแสของอนุภาคไฮโดรเจนจากดวงอาทิตย์ที่เรียกว่า “ลมสุริยะ” เมื่อลมสุริยะกระทบกับเม็ดฝุ่นสามารถผลิตน้ำขึ้นมาได้
โดยพบหลักฐานของกระบวนการนี้ในตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยอิโตกาวะ (Itokawa) ที่ได้เก็บรวบรวมและส่งกลับสู่พื้นโลกโดยภารกิจ Hayabusa1 ในปี พ.ศ. 2555 เป็นผลลัพธ์ของภารกิจการส่งคืนตัวอย่างหินจากดาวเคราะห์น้อยอิโตกาวะที่ทรงคุณค่า ช่วยให้เห็นถึงถึงกลไกการส่งน้ำแบบใหม่ไปยังดาวเคราะห์ที่เป็นหิน
ศาสตราจารย์ Usui Tomohiro
ศาสตราจารย์ Usui Tomohiro ผู้ดูแลกลุ่มวิจัยวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ ของ JAXA ซึ่งมีหน้าที่ดูแลตัวอย่างจากภารกิจยาน Hayabusa และ MMX ที่กลับมาสู่โลก พูดถึงความเป็นไปได้ต่างๆ สำหรับน้ำบนดาวเคราะห์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจต่อความเข้าใจของมนุษย์ในเรื่องสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการอยู่อาศัย โดยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า
“การสำรวจอวกาศและการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์เมื่อเร็วๆ นี้แสดงให้เห็นว่าน้ำหรือน้ำแข็งมีอยู่ทุกที่ในระบบสุริยะอย่างน่าประหลาด สิ่งนี้ทำให้เกิดคำถามพื้นฐานใหม่แก่เราว่า น้ำหรือน้ำแข็งชนิดใดที่อาจเป็นแหล่งกำเนิดมหาสมุทรของโลกได้ ซึ่งบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Astronomy ได้เสนอแนวคิดที่น่าสนใจโดยศึกษาตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยอิโตกาวะ (Itokawa) ว่าลมสุริยะอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการกำเนิดน้ำของโลก”
อีกไม่ช้าเราคงได้รู้ความลับของการเกิดน้ำบนโลก และมีความเข้าใจในระบบสุริยะของเรามากยิ่งขึ้น จากโครงการยานสำรวจดาวเคราะห์น้อยและดวงจันทร์ของ JAXA และเราอาจจะเริ่มเข้าใจในจุดกำเนิดของชีวิตต่อไปได้ในอนาคต
ข้อมูลอ้างอิง https://cosmos.isas.jaxa.jp/global-space-news-asteroid-itokawa-hints-at-an-additional-source-for-the-earths-oceans