(12 กรกฎาคม 2566) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) และหน่วยงานพันธมิตร ประกาศผลการแข่งขัน “โครงการ The 4th Kibo Robot Programming Challenge” โดยทีมกาแล็กติก 4 (Galactic 4) คว้ารางวัลชนะเลิศของการแข่งขัน ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันรอบชิงแชมป์นานาชาติผ่านทางออนไลน์ ในภารกิจแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศแอสโตรบี (Astrobee) ที่ปฏิบัติงานอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) ให้ปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย โดยจะถ่ายทอดสดจากศูนย์อวกาศสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนตุลาคม 2566 นี้
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สวทช. ร่วมกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือแจ็กซา และหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ บริษัทเดลว์ แอโรสเปซ จำกัด และบริษัทเอ็นบีสเปซ จำกัด ร่วมกันจัดแข่งขันโครงการ The 4th Kibo Robot Programming Challenge เพื่อพัฒนาขีดความรู้ความสามารถด้านสเต็มศึกษาของเยาวชนไทย ซึ่ง สวทช. เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรอบชิงแชมป์ประเทศไทย ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยใช้ภารกิจการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในระบบจำลองหรือ Simulation ควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศ Astrobee เพื่อแก้ไขสถานการณ์แอมโมเนียรั่วไหลภายในสถานีอวกาศ โดยคัดเลือกผู้ชนะเพียง 1 ทีมที่ทำคะแนนได้ดีที่สุดจาก 182 ทีมทั่วประเทศที่สมัครเข้าร่วมโครงการ เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงแชมป์นานาชาติต่อไป
“ผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมชนะเลิศได้แก่ ทีมกาแล็กติก4 (Galactic4) จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีสมาชิก 4 คน ประกอบด้วย นายณัฐวินทร์ แย้มประเสริฐ นายเดชาธร ดาศรี นายกษิดิศ ศานต์รักษ์ และนายชีวานนท์ ชุลีคร ทั้งหมดเป็นนักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ 2 ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงแชมป์นานาชาติ ในรายการ The 4th Kibo Robot Programming Challenge ร่วมกับตัวแทนเยาวชนอีก 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เนปาล นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ไต้หวัน เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม 2566”
ดร.จุฬารัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมสเปซเพนกวิน (Space Penguin) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีมจีดับเบิลยูอาร์ทีม (GWR Team) จากสถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และรางวัลทีมนำเสนอดีเด่น ได้แก่ ทีมยูเมะ (Yume) จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายมัธยม)
ด้าน ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช. กล่าวเสริมว่า ในปีนี้มีเยาวชนสมัครเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 182 ทีม เป็นจำนวนที่สูงมากที่สุดในบรรดาประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงความสนใจของเยาวชนไทยที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการเข้าร่วมกิจกรรม โดยแบ่งออกเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 18 ทีม ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 130 ทีม ระดับมหาวิทยาลัย จำนวน 34 ทีม ซึ่งประสบการณ์จากการเขียนโปรแกรมครั้งนี้ จะทำให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันได้พัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ อย่างบูรณาการ ทั้งคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และยังได้พัฒนาทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 อาทิ การคิดวิเคราะห์และการทำงานร่วมกันเป็นทีม หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความรู้และประสบการณ์ที่เยาวชนได้รับจากการแข่งขันครั้งนี้ จะมีส่วนส่งเสริมต่อยอดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้ได้บุคลากรที่มีคุณภาพมาช่วยพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต
นายทาเคฮิโระ นากามูระ (Takehiro Nakamura) ผู้อำนวยการองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพฯ กล่าวชื่นชมและแสดงความยินดีแก่เยาวชนไทยผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขันทั้ง 182 ทีมว่า “รู้สึกประทับใจในการตอบรับการเข้าร่วมการแข่งขันจากทุกทีมเป็นอย่างยิ่ง ตลอดระยะเวลาหลายเดือนของการพัฒนาโปรแกรมเพื่อการแข่งขันได้เห็นถึงความตั้งใจของทุก ๆ ทีม ในการจะพัฒนาโค้ดเพื่อเอาชนะโจทย์การแข่งขันให้ดีที่สุด ภายใต้แนวคิดการทำงานจริงบนสถานีอวกาศ ขอแสดงความยินดีกับทุก ๆ ทีมที่ได้รับรางวัล และขอต้อนรับทีมผู้ชนะเลิศสู่การแข่งขันรอบชิงแชมป์นานาชาติที่จะถ่ายทอดสดมาจากศูนย์อวกาศสึกุบะ (Tsukuba Space Center) ประเทศญี่ปุ่น หวังว่าจะได้รับประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผลงานและการทำงานในอนาคตต่อไป”
สำหรับทีมตัวแทนประเทศไทยจะได้เข้าร่วมการแข่งขันในรายการ The 4th Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์นานาชาติผ่านทางออนไลน์ โดยถ่ายทอดสดจากศูนย์อวกาศสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนตุลาคมนี้ ผ่านช่องยูทูบของแจ็กซา ทั้งนี้เยาวชนที่เข้าร่วมการแข่งขันทุกคนจะสื่อสารตรงไปที่สถานีอวกาศนานาชาติซึ่งมีนักบินอวกาศเป็นผู้ควบคุมการแข่งขันและได้สัมผัสกับศูนย์อวกาศสึกุบะซึ่งเป็นศูนย์ปฏิบัติการขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น อีกทั้งยังเป็นสถานที่หลักสำหรับปฏิบัติการโครงการวิจัยอวกาศของญี่ปุ่น และฝึกฝนนักบินอวกาศชาวญี่ปุ่นที่ขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ในสถานีอวกาศนานาชาติ
ผู้สนใจติดตามข่าวความเคลื่อนไหวโครงการ Kibo Robot Programming Challenge ครั้งที่ 4 ได้ที่เว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/spaceeducation หรือเฟซบุ๊ก NSTDA SPACE Education