องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) และองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (National Aeronautics and Space Administration: NASA) ได้มีความร่วมมือกันภายใต้โปรแกรม JAPAN US Open Platform Partnership (JP-US OP3) ดำเนินการจัดการแข่งขัน Kibo Robot Programming Challenge เขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศ Astrobee ซึ่งการจัดแข่งขันในปี พ.ศ. 2565 นี้ ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 เพื่อค้นหาตัวแทนทีมเยาวชนจากประเทศสมาชิก Kibo-ABC (Asian Beneficial Collaboration through “Kibo” Utilization) เข้าร่วมโครงการแข่งขัน The 3rd Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์โลก ในเดือนกันยายน 2565 ณ ศูนย์อวกาศสึกุบะ (Tsukuba Space Center) ประเทศญี่ปุ่น
สำหรับหุ่นยนต์ที่ใช้ในการแข่งขัน คือหุ่นยนต์ Astrobee ของ NASA และหุ่นยนต์ Int-Ball ของ JAXA โดยการแข่งขันกำหนดให้เยาวชนผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ต้องเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยภาษา JAVA เพื่อควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์ Astrobee ที่ใช้งานอยู่จริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) ให้ปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย
เพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทย ในการพัฒนาขีดความรู้ความสามารถด้านสะเต็มศึกษา (Science Technology Engineering and Mathematics Education: STEM Education) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรสมาชิกของ Kibo-ABC ได้รับมอบสิทธิ์ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรอบชิงแชมป์ประเทศไทย เพื่อคัดเลือกทีมผู้ชนะตัวแทนเยาวชนไทย จำนวน 1 ทีม (สมาชิกในทีม 3 คน) เข้าร่วมการแข่งขัน The 3rd Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์โลกในเดือนกันยายน 2565 ต่อไป
โดย สวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และ สถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (สทอศ.) ดำเนินการจัดการแข่งขันภายในประเทศร่วมกัน
วัตุประสงค์ของโครงการ
1. สร้างโอกาสเพื่อเยาวชนไทยเรียนรู้ผ่านองค์ความรู้ที่ทันสมัย ได้ฝึกฝนทักษะการเขียนโปรแกรม และเสริมสร้างความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์
2. เยาวชนไทยได้รับการเสริมสร้างให้มีวินัยในการทำงาน รู้จักการทำงานร่วมกับผู้อื่น การแบ่งหน้าที่และทำงานเป็นกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. เยาวชนผู้ชนะเลิศการแข่งขันในระดับประเทศ ได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงแชมป์โลกร่วมกับเยาวชนต่างประเทศ สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และได้รับประสบการณ์จากการแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติ
4. ได้รับโอกาสในการพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้กับนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร NASA และ JAXA ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาการศึกษา และวิชาชีพของตนเอง ผ่านโครงการแข่งขันครั้งนี้
กลุ่มเป้าหมาย
นักเรียนทุกระดับชั้น จนถึงระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
กติกาการแข่งขัน (สำหรับประเทศไทย)
1. เปิดโอกาสให้นักเรียนทุกระดับชั้นจนถึงระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า สมัครเข้าร่วมการแข่งขันประเภททีม สมาชิกทีมละ 3 คน (หัวหน้าทีม 1 คน และสมาชิก 2 คน) สมาชิกภายในทีมสามารถเรียนอยู่ต่างระดับชั้นและต่างสถาบันการศึกษาได้
2. กรอกใบสมัครทางออนไลน์ที่ https://bit.ly/3v5TdcS ภายในวันที่ 6 มิ.ย. 65 เวลา 23.59 น. เมื่อทางโครงการฯ ได้รับข้อมูลใบสมัครแล้ว ระบบอัตโนมัติจะจัดส่ง Team ID ให้กับตัวแทนทีมทางอีเมล เพื่อใช้สำหรับเข้าสู่ระบบเพื่อการทดสอบโปรแกรมในระบบ Simulation และใช้เป็น Team ID สำหรับส่งไฟล์ APK เข้าร่วมการแข่งขัน
3. ทีมผู้เข้าแข่งขันต้องเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ภาษา JAVA ปฏิบัติภารกิจตามที่กำหนด เพื่อบังคับหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศ Astrobee ของ NASA ในระบบ Simulator บน Server ของ JAXA ประเทศญี่ปุ่น ที่ลิงก์ https://jaxa.krpc.jp/ โดยสามารถศึกษาได้จากคู่มือประกอบการแข่งขัน
4. การแข่งขันรอบชิงแชมป์โลก ในช่วงเดือนกันยายน 2565 จะเป็นการ Run Program จริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS/Kibo) เพื่อควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee และถ่ายทอดสดจาก Tsukuba Space Center ประเทศญี่ปุ่น โดยสื่อสารแบบ Real-time กับสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งมีนักบินอวกาศเป็นผู้ควบคุมการแข่งขัน
*** ผลตัดสินการแข่งขันของผู้จัดงานถือเป็นที่สิ้นสุด กำหนดการและข้อกำหนดอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม
การส่งใบสมัครและเอกสารคู่มือ
Application Form (ใบสมัครออนไลน์) กรอกข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ (สมาชิกทีมละ 3 คน) |
Guide Book (คู่มือแนะนำ) ภาษาอังกฤษ |
กำหนดการ
- เปิดรับใบสมัคร
ถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2565 เวลา 23.59 น. - อบรมออนไลน์ (Free Virtual Training)
มิถุนายน 2565 - การแข่งขันรอบชิงแชมป์ประเทศไทย
กรกฎาคม 2565 - ประกาศผลแชมป์ประเทศไทย
กรกฎาคม 2565 - การแข่งขันรอบชิงแชมป์โลก
เดือนกันยายน 2565
เงินรางวัล
- รางวัลทีมชนะเลิศ
เงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร - รางวัลทีมรองชนะเลิศ อันดับ 1
เงินรางวัล 15,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร - รางวัลทีมรองชนะเลิศ อันดับ 2
เงินรางวัล 9,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร - รางวัลทีมนำเสนอยอดเยี่ยม (จำนวน 2 รางวัล)
เงินรางวัล 3,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
หมายเหตุ
มูลค่าเงินรางวัลต่าง ๆ จะมีการหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 5% และจะมีเอกสารหักภาษี ณ ที่จ่าย ส่งไปให้ตามรายชื่อผู้รับเงินต่อไป
- ทีมที่ส่งไฟล์ APK เข้าร่วมการแข่งขันจะได้รับเกียรติบัตรจากโครงการ (e-Certificate)
รายชื่อประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน
- Australia(ASA/OGL)
- Bangladesh(NMST)
- Indonesia(LAPAN)
- Japan(JAXA)
- Malaysia(MYSA)
- Nepal(NESARC)
- New Zealand(NZSA)
- Singapore(SSTL)
- Taiwan(NSPO)
- Thailand(NSTDA)
- United States of America(NASA)
- Vietnam(STI)
จัดโดย
องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
หน่วยงานร่วมจัด
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
สถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (สทอศ.)