กาแล็กซี เมสสิเอร์ 74 (M74) อยู่ห่างออกไปมากกว่า 30 ล้านปีแสง ภาพล่าสุดจากกล้องฮับเบิลของ NASA / ESA เห็นเกลียวหมุนวนขนาดมหึมาของกาแล็กซีกังหันนี้เป็นแถบโค้งในอวกาศ แต่งแต้มด้วยสีชมพูแวววาวของก๊าซไฮโดรเจน และจุดแสงสีฟ้าอ่อนๆ ของดาวฤกษ์เกิดใหม่นับล้านดวง
ภารกิจที่ยาวนานกว่า 17 ปีในอวกาศ กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ได้ถ่ายภาพกาแล็กซีมากกว่า 1,000 ภาพ และภาพล่าสุดที่ส่งมาจากวงโคจรรอบโลก มีความชัดเจนมาก จนถือได้ว่าเป็นภาพกาแล็กซีที่ดีที่สุดภาพหนึ่งได้เลย
ภาพที่น่าตื่นตาของฮับเบิล คือ เมสสิเอร์ 74 เป็นกาแล็กซีรูปกังหัน อยู่ห่างออกไป 32 ล้านปีแสงจากโลก ในภาพถ่ายของฮับเบิล แสดงให้เห็นแสงจากดาวฤกษ์นับพันล้านดวงที่อยู่บริเวณแขนกังหันของกาแล็กซีนี้ เห็นเงาดำเป็นริ้วๆ ของฝุ่นที่บดบังแสงดาวที่มาจากแขนกังหันหมุนวนเบื้องหลัง
ปิแอร์ มีเชน นักดาราศาสตร์ฝรั่งเศส
กาแล็กซีนี้ บางทีเรียกว่า NGC 628 ค้นพบครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1780 โดยนักดาราศาสตร์ฝรั่งเศส ชื่อ ปิแอร์ มีเชน เขากำลังค้นหาวัตถุท้องฟ้าอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นดาวหาง
หลังจากพบกาแล็กซีนี้ไม่นาน ก็นำข่าวนี้ไปบอกเพื่อนสนิทของเขาคือ ชาร์ลส เมสสิเอร์ ผู้ซึ่งจัดกาแล็กซีนี้ให้มีชื่อ M74 ในบัญชีวัตถุท้องฟ้าในอวกาศห้วงลึกมากๆ
ในบัญชีวัตถุ M ของเมสสิเอร์ ถือว่า M74 มีความสว่างไม่มากนัก และตรวจพบได้ยากมาก แม้ใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องสังเกต จึงได้ฉายาว่ากาแล็กซีปีศาจ
ในภาพ ยังแสดงจุดแสงสีแดงระยิบระยับแต่งแต้มแขนของกังหันอยู่ทั่วไป พื้นที่ขนาดมหึมานี้ คือกลุ่มเมฆของก๊าซไฮโดรเจน ที่เปล่งแสงออกมาเพราะถูกกระตุ้นจากรังสีพลังงานสูงจากดาวฤกษ์เกิดใหม่ที่ร้อนแรง นักดาราศาสตร์เรียกกลุ่มเมฆแบบนี้ว่า H II
ภาพจากฮับเบิลยังแสดงให้เห็นโครงข่ายที่ซับซ้อนของฝุ่นมากมาย เป็นแถบใหญ่อยู่ระหว่างแขนกังหันของกาแล็กซี
ฝุ่นที่ปั่นป่วนเหล่านี้ เป็นส่วนที่จะไปก่อกำเนิดดาวฤกษ์รุ่นต่อๆ ไป ถือเป็นแหล่งกำเนิดดาวฤกษ์ในกาแล็กซีนี้ เมื่อสสารจากซากดาวฤกษ์เก่าที่ระเบิด ได้เข้ามารวมตัวกันใหม่ มีซูเปอร์โนวาอยู่ 2 แห่ง คือเคยมีดาวฤกษ์ระเบิดใน M74 เมื่อไม่นานมานี้
ในภาพ M 74 นี้ เราเห็นแสงสีฟ้าจากดาวฤกษ์สีฟ้าอายุน้อยนับล้านดวงในส่วนแขนกังหันหลักสองแขนของกาแล็กซี แขนกังหันนี้ไม่ได้ตรึงนิ่งเหมือนกับซี่วงล้อที่ยึดกับแกน
แต่มันเป็นคลื่นที่มีความหนาแน่นสูงเคลื่อนที่ไปรอบ ๆ แผ่นจานกาแล็กซี โดยการบีบอัดก๊าซที่อยู่รอบๆ คล้ายกับคลื่นเสียงเคลื่อนที่ไปโดยการบีบอัดอากาศ การอัดตัวนี้ทำให้เกิดดาวฤกษ์รุ่นใหม่ ขึ้นมา
กาแล็กซีที่มีแขนกังหันสมมาตรกันอย่างสวยงามนี้ นักดาราศาสตร์เรียกว่า “รูปแบบกังหันอันล้ำเลิศ”
M74 มีคู่แฝดที่คล้ายกันมาก ที่เป็นกาแล็กซี “รูปแบบกังหันอันล้ำเลิศ” คือ M51 กาแล็กซีน้ำวน (Whirlpool Galaxy) อยู่ในกลุ่มดาวสุนัขล่าเนื้อ
ภาพ M74 ถือได้ว่าเป็นหนึ่งของสุดยอดกาแล็กซีที่ฮับเบิลได้เคยถ่ายมา เพราะได้เห็นดาวฤกษ์มากมาย และแถบฝุ่นเบาบางอย่างชัดเจน เป็นองค์ประกอบสวยงามที่มีอยู่ในกาแล็กซีนี้
แปลและเรียบเรียง
อ.สิทธิชัย จันทรศิลปิน