กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งมาเลเซีย (MOSTI) เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติคณะกรรมการอวกาศแห่งมาเลเซียปี ค.ศ. 2022 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา จะถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมกิจการอวกาศ และจัดตั้งคณะกรรมการอวกาศของมาเลเซียเพื่อควบคุมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศภายในประเทศมาเลเซีย
MOSTI แถลงการณ์เมื่อวันที่ 9 ก.พ. กล่าวว่าร่างกฎหมายของคณะกรรมการอวกาศมาเลเซียผ่านการอนุมัติโดยวุฒิสภา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมปีที่แล้ว ก่อนประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะกรรมการอวกาศมาเลเซีย ค.ศ. 2022 เมื่อวันที่ 25 ม.ค.
กฎหมายได้กำหนดการควบคุมกิจกรรมอวกาศ 4 เรื่อง โดยเรื่องแรกคือใบอนุญาตในการควบคุมด้านความปลอดภัยของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ เรื่องที่ 2 คือ การออกใบอนุญาตสำหรับผู้ให้บริการที่ดำเนินกิจกรรมการปล่อยวัตถุสู่อวกาศภายในพื้นที่ประเทศในมาเลเซีย
อีก 2 เรื่อง คือใบรับรองการปล่อย สำหรับผู้เป็นเจ้าของวัตถุอวกาศที่ดำเนินการปล่อยภายในและภายนอกประเทศมาเลเซีย และเรื่องสุดท้ายคือการลงทะเบียนวัตถุอวกาศที่ได้รับการปล่อยตัวและปฏิบัติการในวงโคจรเรียบร้อยแล้ว
สำหรับคำนิยามของ “อวกาศ” ตามที่กฎหมายกำหนด หมายถึงพื้นที่จากความสูง 100 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป
MOSTI กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดตั้งคณะกรรมการอวกาศของมาเลเซีย มีขึ้นเพื่อควบคุมการขึ้นทะเบียนวัตถุในอวกาศ ควบคุมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศให้เกิดความปลอดภัย และป้องกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับอวกาศและเรื่องที่เกี่ยวข้อง เพื่อปกป้องรัฐบาลจากความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากวัตถุในอวกาศใดๆ เช่น ดาวเทียม ยานอวกาศ ยานปล่อย และอื่นๆ รวมถึงส่วนประกอบที่ปล่อยโดยชาวมาเลเซีย
“พระราชบัญญัตินี้จะช่วยให้มั่นใจได้ว่ากิจกรรมด้านอวกาศในประเทศดำเนินไปอย่างมีความรับผิดชอบ ปลอดภัย และปฏิบัติตามแนวทางทั้งหมดที่ตกลงกันในระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านสำนักงานกิจการอวกาศแห่งสหประชาชาติ (UNOOSA)
รัฐบาลมาเลเซียสามารถให้สัตยาบันสนธิสัญญาอวกาศและดำเนินการตามข้อผูกพันภายใต้กรอบกฎหมายระหว่างประเทศ ช่วยกระตุ้นบทบาทของประเทศในการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศไปสู่เศรษฐกิจอวกาศใหม่
สำหรับประเทศไทยของเรา พระราชบัญญัติกิจการอวกาศ ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการร่าง และทาง ศ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ออกมาชี้แจงว่า พระราชบัญญัติกิจการอวกาศฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่มีความทันต่อสถานการณ์และรองรับอนาคตของประเทศไทย เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศ การดำเนินกิจกรรมอวกาศระหว่างประเทศไทยกับนานาชาติ ให้สามารถดำเนินการได้อย่างสอดคล้องกับกฎกติกา สามารถสร้างความเชื่อมั่นของประเทศในระดับสากลได้ และสิ่งสำคัญที่ตามมาคือทำให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีระดับสูงมาสู่บุคลากรภายในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญสร้างความแข็งแกร่ง ที่ส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถการลงทุนด้านกิจการอวกาศของประเทศด้วย
ในส่วนของ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA กล่าวเสริมว่า กฎหมายฉบับนี้ จะช่วยให้ประเทศไทยมีความพร้อมและรองรับการสร้างเศรษฐกิจอวกาศ หรือ New Space Economy ที่เน้นบทบาทร่วมจากภาครัฐและภาคเอกชน เป็นกฎหมายที่ให้การดูแลกิจการนิติบุคคลของไทย ส่งเสริมอำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจกรรมอวกาศของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สร้างมาตรฐานของกิจการอวกาศประเทศไทย ตลอดจนดูเเลการประสานงานกับหน่วยงานอวกาศของต่างประเทศ ทำให้พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย เกิดการลงทุน สร้างรายได้ และการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงภายในประเทศ และหลังจากนี้ ร่าง พรบ.กิจการอวกาศ จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และการพิจารณาของรัฐสภาก่อนที่จะประกาศบังคับใช้ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการใช้ประโยชน์จากอวกาศเพื่อพัฒนาประเทศไทย
เรียบเรียงโดย
ปริทัศน์ เทียนทอง
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เรียบเรียงจาก