ยานสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ (Perseverance) เผยภาพหินตัวอย่างบนดาวอังคารบรรจุในหลอดเก็บตัวอย่าง และเก็บรักษาไว้เพื่อรอวันส่งกลับมายังโลก
ภารกิจการเก็บตัวอย่างหินดาวอังคารของ “เพอร์เซเวียแรนซ์” เริ่มต้นขึ้น เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 เมื่ออุปกรณ์ขุดเจาะหินที่ปลายแขนกลของยานสำรวจที่มีลักษณะเป็นรถมี 6 ล้อ ได้ขุดเจาะก้อนหินดาวอังคารที่มีขนาดเท่ากระเป๋าเอกสารซึ่งมีชื่อเล่นว่า “โรเชตต์” (Rochette)
เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 เวลา 11:34 น. ตามเวลาประเทศไทย ยานสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ได้ส่งหลอดตัวอย่างหินดาวอังคารไปเก็บภายในยานสำรวจ เพื่อวัดและบันทึกภาพตัวอย่างหิน จากนั้นได้ปิดผนึกหลอดเก็บตัวอย่างให้แน่นหนา บันทึกภาพอีกครั้ง และเก็บไว้เพื่อรอส่งกลับมายังโลก
สำหรับกล้องที่ใช้บันทึกภาพในภารกิจนี้คือกล้อง CacheCam ซึ่งติดตั้งอยู่ภายในตัวยานสำรวจ โดยหันหน้ากล้องไปที่ด้านบนของหลอดเก็บตัวอย่างเพื่อถ่ายภาพหลอดเก็บตัวอย่างโดยเฉพาะ
ขณะนี้ ตัวอย่างหินดาวอังคารถูกบรรจุในหลอดไทเทเนียมที่อยู่ในสภาพสุญญากาศ เพื่อรักษาสภาพทางวิทยาศาสตร์ให้ได้มากที่สุด และเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือ Mars Sample Return ซึ่งเป็นภารกิจที่จะนำหลอดตัวอย่างหินดาวอังคารจากยานสำรวจเพอร์เซเวียแรนซ์กลับมายังโลก
ภารกิจของยานสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ เป็นการศึกษาบริเวณหลุมอุกกาบาตเจเซโร (Jezero Crater) เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรณีวิทยา และความเป็นมาในสมัยดึกดำบรรพ์ของพื้นที่แห่งนี้ ตลอดจนการอธิบายลักษณะของภูมิอากาศในอดีต โดยมีอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการระบุชนิดของหิน และเก็บรวบรวมตัวอย่างหินบนพื้นผิวดาวอังคาร พร้อมกับการค้นหาสัญญาณบ่งชี้ถึงสิ่งมีชีวิตด้วยกล้องจุลทรรศน์
ยานสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์กำลังสำรวจพื้น “Artuby” ซึ่งเป็นแนวสันเขายาวกว่า 900 เมตร โดยจะใช้เวลาสำรวจอีกหลายร้อยวันในบริเวณนี้ ซึ่งจะต้องเดินทางเป็นระยะทางราว 2.5 ถึง 5 กิโลเมตร และอาจเก็บตัวอย่างหินได้มากถึง 8 หลอดจากทั้งหมด 43 หลอด
หลังจากนั้น ยานสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์จะเดินทางขึ้นไปทางทิศเหนือและทิศตะวันตก เพื่อการสำรวจบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเก่าของขอบหลุมอุกกาบาตเจเซโร ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำดึกดำบรรพ์มาบรรจบกับทะเลสาบภายในหลุมอุกกาบาต พื้นที่ตรงนี้อาจอุดมไปด้วยแร่ธาตุ ดินเหนียว ซึ่งคาดว่าแร่ธาตุดังกล่าวจะสามารถรักษาร่องรอยของจุลชีพยุคโบราณและบ่งชี้ถึงกระบวนการทางชีววิทยาอีกด้วย
เรียบเรียงจาก
– สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
– NASA Press Release