มีงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร PNAS (The Proceedings of the National Academy of Sciences of the USA.) ระบุว่า โลกของเราในทุกวันนี้ใช้เวลาหมุนรอบตัวเองยาวนานขึ้นกว่าเดิมราว 5 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับเวลา 1 วันในยุคดึกดำบรรพ์เมื่อประมาณ 1,400 ล้านปีก่อน ที่โลกใช้เวลาหมุนรอบตัวเองนาน 18 ชั่วโมง 41 นาที
นั่นเป็นเพราะดวงจันทร์ค่อยๆ เคลื่อนห่างออกจากโลกไปปีละ 3.82 เซนติเมตร จึงทำให้โลกหมุนช้าลงและมีช่วงเวลา 1 วันยาวนานขึ้นโดยเฉลี่ย 1/75,000 วินาทีต่อปี
นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ข้อมูลจากการวิเคราะห์ตะกอนดินใต้ทะเลที่เก่าแก่กว่าพันล้านปี ในแหล่งเซี่ยหม่าหลิง สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งจากชั้นหินในสันเขาใต้มหาสมุทรแอตแลนติก เพื่อมองหาสัดส่วนของทองแดงและอะลูมิเนียมที่บ่งบอกถึงวงจรการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกในรอบกว่าพันล้านปีที่ผ่านมา
ความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศดังกล่าว เกิดจากการที่โลกได้รับแสงอาทิตย์ในลักษณะที่ต่างออกไป โดยเชื่อมโยงกับวงจรทางดาราศาสตร์ที่เรียกว่า “วงจรมิลันโควิตช์” (Milankovitch cycle) ซึ่งชี้ว่าดวงดาวต่างๆ ในระบบสุริยะมีแรงดึงดูดระหว่างกัน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อระยะห่างและวิถีการโคจรของกันและกัน ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นแบบหมุนเวียนไปเป็นรอบ ในช่วงเวลาที่ยาวนานหลายแสนหรือหลายล้านปี
แต่ไม่ต้องกลัวว่าดวงจันทร์จะถอยห่างจากโลกไปเรื่อยๆ จนหลุดลอยออกไป เพราะวงจรการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์จะกลับมาที่จุดซึ่งมีความเสถียรในอีกหลายล้านปีข้างหน้า โดยเมื่อถึงเวลาดังกล่าวผู้คนจะมองเห็นดวงจันทร์ได้จากพื้นที่ในซีกโลกหนึ่งเท่านั้น!
เรียบเรียงข้อมูลจาก BBC Thai
https://www.bbc.com/thai/international-44368271