รายงานสรุปกิจกรรม Moon Village Workshop & Symposium 2019
ต้นฉบับจาก
Moon Village Association :
Moon Village Workshop & Symposium 2019 Final Report
แปลและเรียบเรียงโดย
สมาคมยุวชนอวกาศไทย Space Youth Association of Thailand (SYAT)
- นายคมสัน ฐามนกิจประสาท Kyushu University
- นายธรรมบดี ธนศรีบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- นางสาวศริญญา จิตคล่องทรัพย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- นายปพน สุสิกขโกศล โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
- นางสาวภคพร อรัญยกรกุล โรงเรียนแกลง “วิทยสถาวร”
- นายธนัท ศุภกรมงคล การจัดการศึกษาตามอัธยาศัย
The Moon Village Association (MVA) เป็นสมาคมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนาแหล่งที่อยู่อาศัยบนดวงจันทร์ โดยมีสมาชิกจากหลายประเทศทั่วโลก รวมไปถึงประเทศไทยด้วย
“Moon Village” หรือที่แปลตรงตัวว่า “หมู่บ้านดวงจันทร์” นั้น ไม่ใช่หมู่บ้านที่แท้จริงบนดวงจันทร์ ไม่ใช่สถานีอวกาศนานาชาติ และไม่ได้เป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ที่ตั้งอยู่เพียงลำพัง แต่เป็นชุมชนที่มีความหลากหลาย ประกอบไปด้วยโครงการที่ดำเนินการโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากสาขาต่างๆ ทำงานร่วมกัน ทั้งทางเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ฯลฯ และยังเป็นการทำงานประสานกันทั่วโลก โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อบรรลุเป้าหมายในระยะต่อๆ ไป
แล้วทำไมถึงต้องไปดวงจันทร์?
- มีการค้นพบสิ่งใหม่บนดวงจันทร์มากมาย เช่น น้ำ รวมถึงวัสดุที่หายากบนโลก และทรัพยากรที่มีค่าทางเศรษฐกิจอื่นๆ
- เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้อุตสาหกรรมภาคเอกชน สามารถพัฒนาภารกิจที่ท้าทายมากขึ้น เช่น การนำยานอวกาศลงจนบนดวงจันทร์โดยไม่ต้องพึ่งการสนับสนุนของรัฐบาล และการสร้างแบบจำลองทางธุรกิจที่มีศักยภาพทางการเงิน
- ความต้องการของมนุษย์ในการสำรวจ
ด้วยเหตุผลทั้งหมดข้างต้น จะเห็นได้ว่าการสำรวจดวงจันทร์มีความน่าสนใจทั้งทางการเงิน ทางเทคโนโลยี และอาจจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อีกด้วย MVA จึงพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายขององค์กร โดยการส่งเสริมวิสัยทัศน์ขององค์กรให้ผู้คนทั่วไปได้รับรู้ กระตุ้นความตระหนักทั่วโลกเกี่ยวกับประโยชน์ที่จะได้รับจาก Moon Village และปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการออกแบบภารกิจอวกาศระหว่างประเทศสู่วิธีที่เร็วขึ้น ราคาถูกลง มีความสร้างสรรค์ และมีการทำงานร่วมกันมากขึ้น
ด้วยผลกระทบทางการเมืองและความสำคัญของ Moon Village ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงกว้าง นอกเหนือจากวงการอวกาศปกติ เช่น ภาคอุตสาหกรรมและการเงิน วงการวิทยาศาสตร์ สื่อต่างๆ วงการบันเทิง วงการศิลปะและวรรณกรรม รวมถึงนักการศึกษา ฯลฯ MVA จึงทำหน้าที่เป็นตัวแทนของภาคประชาสังคมและประชาคมอวกาศระหว่างประเทศ ในกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับแนวคิด Moon Village
โดยในวันที่ 5-8 ธ.ค. พ.ศ. 2562 The Moon Village Association ได้จัดงานประชุม workshop
ขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีผู้เข้าร่วมจากทั้งหมด 16 ประเทศทั่วโลก ในพิธีเปิดได้มีการนำเสนอจาก 3 เจ้าภาพร่วม ในหัวข้อดังนี้
- “Activities by Space Colony Center” โดย Tokyo University of Science
- “Promotion for Human Space Activity” โดย Kyoto University
- “Legal Aspect of Moon Village” โดย Keio University
ภายในงานได้มีการประชุมหารือกันโดยแบ่งได้เป็น 5 หัวข้อดังนี้
- การหารือทางด้านสถาปัตยกรรมของ MVA
- มนุษย์บนดวงจันทร์ และข้อคำนึงทางวัฒนธรรม
- แผนสู่ตลาดดวงจันทร์
- การร่วมมือประสานงาน และหัวข้อทางกฎหมาย
- การทดลองวิทยาศาสตร์และการส่งการทดลองบนดวงจันทร์
*** สามารถอ่านรายละเอียดรายงานฉบับสมบูรณ์ได้จาก
e-Book นิตยสารสาระวิทย์ ฉบับที่ 85 เดือนเมษายน พ.ศ.2563 (หน้าที่ 56-62)
ดาวน์โหลดได้ที่นี่ |