วิทยาศาสตร์ ปีที่ 23 เล่มที่ 11 เดือนพฤศจิกายน 2512, หน้า 997-1002
ดร.ระวี ภาวิไล
รองศาสตราจารย์ แผนกวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และประธานสาขาครูวิทยาศาสตร์ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมป์
ดร.สิปนนท์ เกตุทัต
รองศาสตราจารย์ แผนกวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และผู้อำนวยการโครงการพัฒนามหาวิทยาลัย สำนักงานสภาการศึกษาแห่งชาติ
เด็กไทยสนทนากับ นีล อาร์มสตรอง มนุษย์คนแรกผู้เหยียบดวงจันทร์
นีล อาร์มสตรอง ได้กล่าวนำว่า นักบินอวกาศและคณะรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้มีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และขอขอบคุณชาวไทยทั้งมวลที่มีไมตรีจิตเชิญให้มาเยี่ยมประเทศไทย เขารู้สึกซาบซึ้งในความสนใจของเด็กๆ ทั่วโลก เกี่ยวกับโครงการอวกาศและการไปเยือนดวงจันทร์ บางครั้งรู้สึกทึ่งมากที่เด็กอายุ 12 ขวบ ทราบเรื่องราวอวกาศมากกว่าเขาทั้ง 3 คน เสียอีก
ในวันนี้รู้สึกสียดายที่ไม่อาจนำลูกๆ ของเขามาร่วมสนทนาด้วย เด็กๆ ทั้งหลายอาจไม่เคยคิดว่า เด็กทุกคนโชคดีมากที่ได้เกิดมาในยุคซึ่งมนุษย์มีความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาก ถึงขนาดที่ออกไปนอกโลกได้ การไปดวงจันทร์ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่มนุษย์ได้ฝ่าฟันภยันตรายออกไปเผชิญกับโลกใหม่อย่างสันติ โดยมิได้มุ่งหวังไปครอบครอง หรือนำอาวุธไปด้วยเลย
เอ็ดวิน อัลดริน กล่าวว่า ในการไปเยี่ยมเยือนประเทศต่างๆ รอบโลก วันนี้นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสสนทนาอย่างใกล้ชิดกับนักเรียน ท่ามกลางบรรยากาศอันรมรื่นของโรงเรียน
ไมเคิล คอลลินส์ กล่าวเสริมว่า รู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสคุยกับนักเรียนในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ได้เห็นคณะนักเรียนจากโรงเรียนสิรินธร ที่ได้เชื้อเชิญคณะนักบินอวกาศโครงการอะพอลโล 11 ให้มาเยือนประเทศไทย เขาเคยได้ยินชื่อเสียงของจังหวัดสุรินทร์มามากว่า ไม่เพียงแต่ผู้คนที่มีน้ำใจงามเท่านั้น แต่เรื่องการคล้องช้างก็เป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก
- คำถามจากนักเรียนโรงเรียนจิตรลดา
ผู้แทนนักเรียนโรงเรียนจิตรลดา ถาม นีล อาร์มสตรอง ว่า
รอยเท้าของนักบินอวกาศที่เหยียบลงบนดวงจันทร์ทำไมจึงลึกไม่เท่ากัน นั่นแสดงว่าความหนาของฝุ่นบนพื้นผิวไม่เท่ากันใช่ไหม พอจะบอกได้หรือไม่ว่าภายใต้ฝุ่นพื้นหินเป็นอย่างไร?
นีล อาร์มสตรอง ตอบว่า โดยทั่วไปบริเวณที่ยานอะพอลโล่ 11 ไปลงจอดในบริเวณทะเลแห่งความสงบ (Mare Tranquilitatis) รอยเท้าที่ปรากฏบนฝุ่นลึกประมาณ 1-2 เซนติเมตร นอกจากบริเวณขอบหลุม ซึ่งอาจลึกถึง 10 เซนติเมตร รอยเท้าบนฝุ่นมีขอบที่คม ที่เป็นเช่นนี้แสดงให้เห็นได้ว่า เป็นฝุ่นละเอียดที่จับกันแน่นพอสมควร นักวิทยาศาสตร์เยอรมันผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ คาดว่ารอยเท้านี้คงจะเป็นรอยติดอยู่ไปประมาณ 10-15 ล้านปี นอกจากจะมีผู้อื่นไปย่ำลบเสียก่อน
- คำถามจากนักเรียนโรงเรียนสิรินธร
ผู้แทนนักเรียนโรงเรียนจิตรลดา ถาม เอ็ดวิน อัลดริน ว่า
ศูนย์อวกาศที่ฮูสตัน ควบคุมบังคับยานอวกาศอย่างไร และที่เรียกว่า ควบคุมบังคับด้วยมือนั้นทำอย่างไร?
เอ็ดวิน อัลดริน ตอบว่า คำถามนี้น่าสนใจมาก ศูนย์อวกาศที่ฮูสตันในรัฐเท็กซัส รับช่วงคุมยานอวกาศจากแหลมเคนเนดี เมื่อยานอวกาศเดินทางขึ้นสู่อวกาศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางศูนย์อวกาศจะควบคุมบังคับยานอวกาศโดยวิธีการสื่อสารสองระบบด้วยกัน คืออาจส่งคำสั่งเป็นคำพูดทางวิทยุไปยังนักบินอวกาศให้ปฏิบัติตาม หรืออาจส่งสัญญาณคำสั่งไปกับคลื่นวิทยุไปสู่อุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ให้แปรเป็นการเคลื่อนไหวของกลไกต่างๆ ในยานอวกาศโดยตรง
ทางด้านยานอวกาศนั้น ก็จะส่งข่าวสารเกี่ยวกับสภาพของยานอวกาศเองกับสภาพแวดล้อม ลงมายังศูนย์อวกาศภาคพื้นดินตลอดเวลา เพื่อว่าเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินจะได้ตรวจสอบความปลอดภัยของยานอวกาศ หากมีความบกพร่องเกิดขึ้นสามารถดำเนินการแก้ไขได้ทันเวลา
ในการเดินทางออกสู่อวกาศแต่ละครั้ง ได้มีการวางแผนการดำเนินงานเป็นขั้นๆ อย่างละเอียด นักบินอวกาศและยานอวกาศจะต้องดำเนินการอะไรบ้างเป็นลำดับไป ถ้าหากจะมีการเปลี่ยนแปลงแผนอย่างไร ทางศูนย์อวกาศก็จะแจ้งให้นักบินอวกาศทราบล่วงหน้าทางวิทยุ
สำหรับคำถามเรื่องการควบคุมบังคับยานอวกาศด้วยมือ (Manual Control) ขอตอบว่า ยานอวกาศมีการเคลื่อนไหวอยู่สองจำพวกด้วยกัน คือการเปลี่ยนทิศของการเคลื่อนที่ และการลดหรือเพิ่มความเร็ว
การเปลี่ยนทิศทางนั้น กระทำโดยแรงขับดันของจรวดขนาดเล็ก ควบคุมโดยกลไกอัตโนมัติ สำหรับการเพิ่มหรือลดความเร็วใช้จรวดแรงขับดันสูง เช่น ในขณะเมื่อยานอวกาศจะผละจากวงทางโคจรรอบโลก เข้าสู่วงทางโคจรมุ่งสู่ดวงจันทร์ การเดินเครื่องและหยุดเครื่องจรวดทำด้วยกลไกอัตโนมัติซึ่งมีความแม่นยำสูง
อย่างไรก็ตาม นักบินอวกาศก็สามารถเข้ามาควบคุมการทำงานด้วยตนเองได้เช่นเดียวกัน โดยมีที่บังคับจัดไว้ในยานอวกาศ
ในการลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ นักบินอวกาศอาจปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกลไกอัตโนมัติโดยตลอด แต่ความเป็นจริงในการเดินทางของอะพอลโล 11 อาร์มสตรอง ได้เข้าควบคุมด้วยมือเองโดยรับช่วงต่อจากกลไกอัตโนมัติ
เมื่อยานอีเกิลอยู่สูงจากพื้นผิวดวงจันทร์ประมาณ 100 เมตร และได้นำยานอวกาศลอยพ้นจากบริเวณที่มีก้อนหินขรุขระไปหาที่ซึ่งราบเรียบกว่า และนำยานอวกาศลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ได้อย่างปลอดภัย ด้วยการบังคับควบคุมด้วยมือ (Manual Control)
- คำถามจากนักเรียนโรงเรียนวชิราวุธ
ผู้แทนนักเรียนโรงเรียนวชิราวุธ ถาม ไมเคิล คอลลินส์ ว่า ฟิล์มถ่ายรูปที่ใช้ต้องทำพิเศษเพื่อให้ทนต่อความร้อนใช่ไหม
คอลลินส์ ตอบว่า ในการเดินทางไปดวงจันทร์โดยยานอะพอลโล 11 ครั้งนี้ ต้องประสบสภาพที่มีอุณหภูมิแตกต่างกันมาก ขณะที่ยานอวกาศกลับลงมาสู่ผิวโลก ผิวนอกของยานอวกาศมีอุณหภูมิสูงประมาณ 5,000 องศาฟาเรนไฮต์ (ประมาณ 2,670 องศาเซลเซียส) เพราะการเสียดสีกับบรรยากาศทำให้ความเร็วลดช้าลง พลังงานความเร็วเปลี่ยนเป็นความร้อน และบริเวณพื้นผิวดวงจันทร์ด้านสว่างอุณหภูมิสูงถึงประมาณ 250 องศาฟาเรนไฮต์ (ประมาณ 120 องศาเซลเซียส) ส่วนบริเวณด้านมืดอุณหภูมิต่ำประมาณ -250 องศาฟาเรนไฮต์ (ประมาณ -155 องศาเซลเซียส) ก้นหลุมบนดวงจันทร์อุณภูมิสูงกว่า 250 องศาฟาเรนไฮต์อีก เพราความร้อนและแสงซึ่งสะท้อนไปมาภายในหลุม ด้วยเหตุนี้ในการเดินทางไปดวงจันทร์ครั้งที่แล้ว นักบินอวกาศจึงยังไม่ลงไปในบริเวณหลุม
ยานอวกาศก็ดี กล้องถ่ายรูปก็ดี ได้ถูกอาบไว้ด้วยสิ่งป้องกันและสะท้อนความร้อน ฉะนั้นภายในกล้องถ่ายรูปอุณหภูมิก็ปกติธรรมดา ฟิล์มถ่ายรูปก็ใช้เป็นฟิล์มธรรมดาไม่ได้ทำขึ้นเป็นพิเศษ
- คำถามของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ผู้แทนนักเรียนโณงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ถาม นีล อาร์มสตรอง ว่า เมื่อท่านถูกกักตัวไว้หลังจากเดินทางกลับมาแล้วนั้น น้ำที่ท่านอาบ และของแข็งของเหลวที่ขับถ่ายออกจากร่างกายถูกเก็บเอาไปตรวจ หรือปล่อยทิ้งไปอย่างไร
นีล อาร์มสตรอง ตอบว่า การตรวจสอบทางการแพทย์ที่ได้กระทำต่อนักบินอวกาศซึ่งกลับมายังโลก ในระยะต้นนั้นเน้นตรวจสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อจะศึกษาดูว่าการออกไปสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ในอวกาศเป็นระยะเวลาค่อนข้างยาวนานนี้ จะมีผลต่อจิตใจนักบินอวกาศอย่างไรบ้าง ซึ่งผลการตรวจสอบนี้จะได้นำไปพิจารณาปรับปรุงการเดินทางสู่อวกาศในครั้งต่อๆ ไป
สำหรับการขับถ่ายของแข็งของเหลวออกจากร่างกายนั้น ปรากฏว่าในระยะ 2-3 วันแรก หลังจากกลับมาถึงโลกมีความผิดปกติอยู่บ้าง แต่หลังจากนั้นทุกอย่างก็กลับคืนสู่สภาพปกติ
- คำถามของผู้แทนชุมนุมวิทยาศาสตร์ฯ
ผู้แทนชุมนุมวิทยาศาสตร์ฯ ถาม เอ็ดวิน อัลดริน ว่า การทดลองเกี่ยวกับลมสุริยะได้ผลอย่างไร ลมสุริยะมีอันตรายอย่างไร และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบนผิวดวงจันทร์ได้หรือไม่
อัลดริน ตอบว่า ดวงอาทิตย์ไม่ได้ส่งแต่พลังงานแสงสว่างและความร้อนออกมาเท่านั้น ยังมีพลังงานอื่นและอนุภาคบางชนิดที่เรียกว่า “อนุภาคลมสุริยะ” หรือลมสุริยะมาด้วย
การทดลองนี้มีวัตุประสงค์จะวัดปริมาณของอนุภาคเหล่านี้ในช่วงเวลาที่กำหนด โดยทำแผ่นโลหะคล้ายจอภาพยนตร์เล็กๆ ไปวางตั้งไว้บนดวงจันทร์ ให้หันรับอนุภาคจากดวงอาทิตย์ เมื่อกลับมายังโลกก็นำแผ่นโลหะนี้กลับมาด้วย โดยมีนักวิทยาศาสตร์จากสวิสเซอแลนด์ศึกษารายละเอียดเรื่องนี้
โดยผลที่ทราบในขั้นแรกอยู่ในเกณฑ์ที่นับว่าการทดลองได้ผล กล่าวคือที่แผ่นนี้มีอะตอมของฮีเลียม นีออน อาร์กอน คริปตอน และซีนอน ซึ่งดวงอาทิตย์ส่งมาติดอยู่ ซึ่งธาตุนี้เป็นธาตุที่ไม่รวมตัวกับธาตุอื่นง่ายๆ
ลมสุริยะไม่มีอันตรายต่อนักบินอวกาศ หรือยานอวกาศแต่อย่างใด และอนุภาคเหล่านี้ไม่สามารถทะลุผ่านแม้แต่แผ่นโลหะบางๆ หรือชุดมนุษย์อวกาศได้
- คำถามจากนักเรียนผู้นั่งฟังการสนทนา
ขอถามนีล อาร์มสตรอง ว่า เพราะเหตุใดท่านจึงอยากเดินทางไปสู่ดวงจันทร์
นีล อาร์มสตรอง ตอบว่า ข้าพเจ้าเชื่อว่าเด็กจำนวนมากในทุกยุคทุกสมัย ได้เคยเฝ้ามองดวงจันทร์ และเคยไฝ่ฝันที่จะเดินทางไปถึงดวงจันทร์มาแล้ว ตอนที่ข้าพเจ้าเป็นเด็กเท่ากับผู้ถามคำถาม ก็เคยมีความไฝ่ฝันเช่นนี้ ซึ่งข้าพเจ้าบังเอิญมีโชคดีที่ได้ทำความฝันนี้ให้เป็นผลสำเร็จ เพราะในปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีมากพอที่จะสร้างจรวดเป็นยานพาหนะเดินทางไปถึงและกลับมาได้ และมีผู้อนุญาตให้ข้าพเจ้าได้เดินทางไป
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเมื่อเด็กๆ ได้เติบโตขึ้นจนอายุเท่าข้าพเจ้าแล้ว เชื่อว่าจะมีหลายคนที่จะได้ก้าวลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จแน่นอน