ปัจจุบัน เรามีวิธีการที่จะไขปริศนาความลึกลับมากมายในเอกภพ อาจถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดแห่งการค้นพบทางดาราศาสตร์ โดยกล้องโทรทรรศน์ ซึ่งเป็นเครื่องมือมหัศจรรย์ ที่ช่วยมนุษย์เปิดประตูสู่ความรู้ของเอกภพ
สี่ศตวรรษที่ผ่านมา ในปี ค.ศ. 1609 ชายผู้หนึ่งอยู่ที่ลานกว้างใกล้ๆ บ้าน เขาหันกล้องโทรทรรศน์ที่สร้างขึ้นเองไปยังดวงจันทร์ ดาวเคราะห์และดาวฤกษ์ เขาคือ กาลิเลโอ กาลิเลอี
ความรู้ทางดาราศาสตร์ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว เป็นเวลา 400 ปีแล้ว ที่กาลิเลโอสำรวจท้องฟ้าด้วยกล้องโทรทรรศน์เป็นครั้งแรก
ปัจจุบันนักดาราศาสตร์ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่บนยอดเขาสูงหลายแห่งสำรวจสรวงสวรรค์
มีกล้องโทรทรรศน์วิทยุ คอยตรวจจับคลื่นที่แผ่วเบาและเสียงกระซิบจากอวกาศ
นักวิทยาศาสตร์ยังสร้างกล้องโทรทรรศน์ส่งขึ้นไปปฏิบัติงานในวงโคจรรอบโลก อยู่สูงขึ้นไปเพื่อหลีกหนีชั้นบรรยากาศรบกวน และข้อมูลที่ได้คือสุดยอดแห่งความรู้
อันที่จริง กาลิเลโอไม่ได้สร้างกล้องโทรทรรศน์เป็นคนแรก เรื่องนี้ต้องให้เกียรติกับ ฮันส์ ลิปเปอร์เฮย์ ช่างทำแว่นตาชาวดัตช์-เยอรมัน
แต่เขาไม่เคยใช้ส่องดูดาวบนฟ้าเลย เขามุ่งเน้นการใช้เป็นกล้องส่องทางไกลสำหรับการเดินเรือและทหารเรือ
ลิปเปอร์เฮย์ อยู่ในเมืองมิดเดิลเบิร์ก ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าขนาดใหญ่ของสาธารณรัฐดัตช์ในยุคนั้น
ในปี ค.ศ. 1608 ลิปเปอร์เฮย์ พบว่าเมื่อมองวัตถุที่อยู่ไกลๆ ผ่านเลนส์นูนและเลนส์เว้าจะเห็นมันมีขนาดโตขึ้น
ถ้าเลนส์ทั้งสองนั้นวางห่างกันในตำแหน่งที่เหมาะสม
ในเดือนกันยายน ปี ค.ศ.1608 ลิปเปอร์เฮย์ ได้สาธิตสิ่งประดิษฐ์ใหม่นี้แก่เจ้าชายมัวริตส์แห่งเนเธอร์แลนด์
เขายังไม่สามารถประยุกต์ให้มันใช้ประโยชน์ได้มากนัก เพราะตอนนั้นเกิดสงครามยาวนานถึง 80 ปีระหว่างเนเธอร์แลนด์กับสเปน
กล้องสายลับหรือกล้องส่องทางไกลนี้ ทำให้เห็นเรือของข้าศึก และกองทหารที่อยู่ไกลๆ ได้ดีกว่าตาเปล่า
แต่รัฐบาลของดัตช์ตอนนั้น ไม่ได้ช่วยสนับสนุนหรือมอบสิทธิบัตรให้แก่ ลิปเปอร์เฮย์ เลย เพราะมีนายทุนผู้มั่งคั่งต้องการแย่งผลงานนี้ไป โดยเฉพาะคู่แข่งสำคัญคือ ซาชาริแอส แจนส์เสน
ผู้คนจึงไม่ค่อยรับรู้เรื่องสิ่งประดิษฐ์นี้ แต่พอมาถึงวันนี้ จุดกำเนิดที่แท้จริงของกล้องโทรทรรศน์ก็ได้ถูกเปิดเผยออกมาแล้ว
นักดาราศาสตร์อิตาเลียน “กาลิเลโอ กาลิเลอี” บิดาแห่งฟิสิกส์ยุคใหม่ เมื่อรู้ข่าวเรื่องกล้องโทรทรรศน์ ก็นำหลักการมาสร้างกล้องของเขาเอง
กาลิเลโอเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ในยุคนั้น เขาสนับสนุนแนวคิดใหม่ที่นำเสนอโดยนักดาราศาสตร์ชาวโปแลนด์ชื่อ นิโคลาส โคเปอร์นิคัส ที่ว่า โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ และโลกไม่ได้เป็นศูนย์กลาง เมื่อได้ข่าวเรื่องกล้องของชาวดัตช์ เขาก็เลยสร้างกล้องขึ้นมาบ้างและมีประสิทธิภาพดีกว่าเสียอีก
แล้วเขาก็เริ่มใช้กล้องจนคุ้นเคยกับสรวงสวรรค์
เดือนมกราคม ค.ศ.1610 กาลิเลโอสังเกตดาวพฤหัสบดีต่อเนื่องกันหลายคืน พบว่า ใกล้ดาวเคราะห์ดวงนี้มีจุดสว่าง 4 จุด ที่เปลี่ยนตำแหน่งไปตลอดเวลาในแต่ละคืน เมื่อเทียบกับดาวพฤหัสบดี เป็นการเต้นรำในจักรวาลที่ดาวบริวารโคจรรอบดาวเคราะห์ดวงแม่ จุดแสงเล็กๆ 4 จุดนี้ ต่อมาเรียกว่า ดวงจันทร์ของกาลิเลโอ
แล้วกาลิเลโอได้ค้นพบอะไรอีก
พบว่า ดาวศุกร์เป็นเสี้ยว คล้ายดวงจันทร์ ดาวศุกร์ก็มีข้างขึ้นข้างแรมเป็นวงรอบเหมือนกัน
พบว่า ดาวเสาร์มีอะไรแปลกๆ ยื่นออกมา 2 ด้าน
พบจุดที่อยู่บนผิวดวงอาทิตย์
และเขาพบว่า ยังมีดาวฤกษ์อีกนับพันหรือนับล้านดวงที่มีแสงจางมากๆ จนเราไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า
เท่ากับว่าผ้าที่ปิดตาเราไว้ถูกเปิดออกแล้ว เพื่อการสำรวจเอกภพที่ชัดเจนมากขึ้น
ข่าวกล้องโทรทรรศน์แพร่สะพัดไปทั่วยุโรปดังไฟลามทุ่ง
ณ กรุงปราก ที่พระราชวังของจักรพรรดิ รูดอล์ฟ ที่ 2 ณ สถานที่แห่งนั้น โจฮันเนส เคปเลอร์ ก็กำลังเตรียมสร้างกล้องโทรทรรศน์
มีนักเขียนแผนที่ชาวดัตช์ ชื่อ มิเชล แวน แลนเกรน ได้จัดทำแผนที่ดวงจันทร์เป็นครั้งแรก แสดงพื้นที่ที่เขาเชื่อว่าเป็นทวีปและมหาสมุทร
และ โจฮันเนส เฮเวลิอุส มหาเศรษฐีชาวโปแลนด์ สร้างกล้องขนาดใหญ่ที่หอดูดาวในเมืองแดนซิก เป็นหอดูดาวขนาดใหญ่ที่มีหลังคาคลุมถึง 3 ชั้น
แต่กล้องโทรทรรศน์ที่ดีที่สุดในช่วงเวลานั้น น่าจะเป็นของ คริสเตียน ฮอยเกนส์ ในเนเธอร์แลนด์
ในปี ค.ศ. 1655 ฮอยเกนส์ ค้นพบ ไททัน ดวงจันทร์ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ และอีก 2-3 ปีต่อมา เขาก็พบว่าดาวเสาร์มีระบบวงแหวนล้อมรอบ
กาลิเลโอคงเห็นมาก่อนแล้วแต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร
และเรื่องที่สำคัญคือ ฮอยเกนส์ ได้เห็นแถบมืดและสว่างที่ขั้วทั้งสองของดาวอังคาร สิ่งมีชีวิตต่างดาวจะอยู่ที่นี่ได้หรือไม่ เป็นปริศนาที่ท้าทายนักดาราศาสตร์มาถึงทุกวันนี้
กล้องโทรทรรศน์ในยุคแรกๆ เป็นแบบหักเหแสง ที่ใช้เลนส์เป็นตัวรวมแสงดาวให้ผ่านเข้ามาในกล้อง
ต่อมาเปลี่ยนมาใช้กระจกเว้าแทนเลนส์ เป็นกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง สร้างขึ้นครั้งแรกโดย นิคโคโล ซุคชี และพัฒนาจนใช้งานได้โดย ไอแซก นิวตัน
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 มีกล้องโทรทรรศน์ใช้กระจกใหญ่ที่สุดในโลก สร้างโดย วิลเลียม เฮอร์สเชล นักดนตรีที่ผันตัวเองมาเป็นนักดาราศาสตร์ ทำงานร่วมกับน้องสาว ชื่อ คาโรไลน์
ในบ้านของเขาที่เมือง บาธ ประเทศอังกฤษ เฮอร์สเชล สร้างกล้องโทรทรรศน์มากกว่า 400 กล้อง กล้องขนาดใหญ่ที่สุด ต้องใช้คนช่วยกันตั้งถึง 4 คน
ต้องใช้เชือก ล้อและรอก เพื่อปรับกล้องให้เปลี่ยนทิศทางตามการเคลื่อนที่ของดาวบนฟ้า ซึ่งเกิดจากโลกหมุนรอบตัวเอง
ตอนนี้ เฮอร์สเชล กลายเป็นนักสำรวจฟากฟ้าแล้ว เฝ้าตรวจสอบสรวงสวรรค์เบื้องบน จัดทำบัญชีเนบิวลาและดาวคู่ได้นับ 100 แห่ง
เขาได้พบว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา มีลักษณะเป็นจานแบนๆ และเขาก็คำนวณการเคลื่อนที่ของระบบสุริยะไปในแผ่นจานนี้โดยเปรียบเทียบการเคลื่อนที่ของดาวฤกษ์กับดาวเคราะห์
และในวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1781 เขาก็ค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ คือ ดาวยูเรนัส
จากวันนั้นผ่านมาอีกกว่า 200 ปี จึงมียานวอยเอเจอร์ 2 ของ NASA ได้นำภาพระยะใกล้มาให้ชมกันเป็นครั้งแรก
ณ สถานที่แห่งหนึ่งในชนบทของไอร์แลนด์ วิลเลียม พาร์สันส์ เอิร์ลแห่งรอสส์ที่ 3 สร้างกล้องขนาดใหญ่ที่สุดในช่วงศตวรรษที่ 19
ใช้โลหะมาทำเป็นกระจกเว้า กว้าง 1.8 เมตร เป็นกล้องขนาดใหญ่มากจนได้ชื่อว่า ยักษ์ใหญ่ของพาร์สันส์
เมื่อโอกาสอำนวย ฟ้าไร้แสงจันทร์ เขาก็เข้าประจำที่ จ้องมองผ่านเลนส์ตา ส่องสังเกตไปทั่วจักรวาล
ไปที่เนบิวลาโอไรออน เป็นแหล่งฟูมฟักดาวฤกษ์เกิดใหม่
ไปดูความลึกลับของเนบิวลาปู มันคือซากของดาวระเบิด ซูเปอร์โนวา
และน้ำวนนี้ เป็นเนบิวลาหรือไม่
ลอร์ดรอสส์ เป็นคนแรกที่บอกว่า มันคือกาแล็กซีรูปกังหันที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเหมือนกับกาแล็กซีของเรา มีแถบมืดของฝุ่นสลับกับแสงสว่างของกลุ่มก๊าซ มีดาวฤกษ์นับพันล้านดวง และจะมีดาวเคราะห์คล้ายโลกอยู่ด้วยหรือไม่
กล้องโทรทรรศน์จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสำรวจจักรวาล
แปลและเรียบเรียง
อ.สิทธิชัย จันทรศิลปิน