นักบินอวกาศนาซ่า เผยคลิป การทดลองปลูกผลึกโปรตีนในอวกาศ หวังสร้างยาต้านมาลาเรียชนิดใหม่ จากความร่วมมือของนักวิจัยไบโอเทค/สวทช. และองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น บนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS เป็นเวลา 30 วัน โดยหลังจากได้ผลึกโปรตีนแล้ว จะถูกส่งกลับมายังพื้นโลกด้วย SpaceX Dragon Capsule เพื่อทำการวิเคราะห์โครงสร้างด้วยแสงซินโครตรอนต่อไป
หลังจากเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2562 เวลา 05:01 น. บริษัท SpaceX ได้ส่งจรวด SpaceX CRS-18 ไปยังอวกาศได้สำเร็จลุล่วง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปล่อยยานอวกาศ Dragon ให้เดินทางไปเทียบท่า ณ สถานีอวกาศนานาชาติ ISS ต่อไป ซึ่งยานอวกาศ Dragon ดังกล่าวนี้ได้บรรจุงานวิจัยไทยไปด้วย
โดยงานวิจัยดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. ร่วมกับ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. และองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA ได้ร่วมดำเนินการส่งงานวิจัยไทยด้านการปลูกผลึกโปรตีนในอวกาศเพื่อการพัฒนายาต้านโรคมาลาเรีย โดยจะทำการทดลอง ณ ห้องปฏิบัติการอวกาศคิโบะ (Kibo Module) ของ JAXA
นักวิจัยไบโอเทค ดร. ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ หัวหน้าทีมวิจัยไบโอเทค/สวทช. คาดว่าผลึกโปรตีนที่ปลูกขึ้นในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง หรือ ในอวกาศ จะมีลักษณะและคุณภาพของผลึกโปรตีนที่ดีกว่าการปลูกผลึกโปรตีนบนพื้นโลก จึงทำให้สามารถมองเห็นโครงสร้างของโปรตีนได้ชัดเจนและนำไปศึกษา เพื่อพัฒนายาต้านโรคมาลาเรียได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการส่งงานวิจัยไปทดลองในอวกาศครั้งนี้ เป็นผลงานจากการดำเนินงานของโครงการวิจัยวิทยาศาสตร์อวกาศและการทดลองในอวกาศ หรือ National Space Exploration (NSE) ของ สทอภ. ที่ได้เปิดรับข้อเสนอการทดลองในอวกาศ และพัฒนาให้สามารถส่งไปทดลองในอวกาศได้สำเร็จ
งานวิจัยนี้เกิดจากการพบว่าเชื้อมาลาเรียที่มีการระบาดในปัจจุบันนี้ เริ่มมีผู้ป่วยดื้อยาที่ใช้ในการรักษากันอยู่ จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้จำเป็นต้องพัฒนายาต้านโรคมาลาเรียชนิดใหม่ที่สามารถฆ่าเชื้อมาลาเรียที่ดื้อยาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โปรตีนที่มีการส่งขึ้นไปบนสถานีอวกาศเพื่อตกผลึกนี้ เป็นเอนไซม์โปรตีน DHFR-TS ที่พบในเชื้อ Plasmodium falciparum และสารยับยั้งการทำงานของโปรตีนนี้ ได้รับการพัฒนาโดยนักวิจัยไบเทค และส่งต่อให้โครงการ NSE ของ สทอภ. ดำเนินการประสานความร่วมมือส่งไปยัง JAXA เพื่อตรวจสอบคุณภาพของสารสำหรับเตรียมส่งขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศ เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์และเมษายนที่ผ่านมา
หัวหน้าโครงการ NSE ดร.อัมรินทร์ พิมพ์หนู กล่าวว่า สทอภ. มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีอวกาศ และเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า วิทยาศาสตร์จะต้องเดินควบคู่ไปกับเทคโนโลยี ดังนั้นจึงได้ดำเนินการพัฒนาโครงการ NSE ขึ้นมาเพื่อส่งงานวิจัยไปทดลองในอวกาศด้วยเทคโนโลยีอวกาศที่มีในปัจจุบัน เพื่อสร้างนวัตกรรมอวกาศและนำไปสู่อุตสาหกรรมอวกาศได้ในที่สุด ทั้งนี้ ยังมีงานวิจัยที่รอการส่งไปอวกาศอยู่อีกมาก อาทิ การหมักเชื้อ PGA ในอวกาศ หรือ การเลี้ยงไข่น้ำในอวกาศ เป็นต้น ซึ่งเป็นผลงานของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียรแห่งชาติ และ มหาวิทยาลัยมหิดล ตามลำดับ รวมทั้งในปัจจุบัน GISTDA อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดลองในสภาวะอวกาศ (Space Laboratory) เพื่อรองรับการทดลองในอวกาศและการต่อยอดไปสู่การประยุกต์ผลการทดลองให้เกิดประโยชน์และส่งเสริมให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศต่างๆ ให้กับประเทศต่อไป
WorkPont News