โครงการ
“การทดลองในอวกาศและสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง”
National Space Exploration II
โดย
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ความเป็นมา
การสำรวจอวกาศและการศึกษาทำความเข้าใจถึงสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (microgravity) จัดเป็นรากฐานสำคัญ ซึ่งต้องการการเรียนรู้และค้นคว้าวิจัยถึงสภาวะแวดล้อมอวกาศรวมทั้งผลที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ในอดีตประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำมากนัก และไม่มีนโยบายด้านการสำรวจอวกาศที่ชัดเจน ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติจึงได้จัดทำ (ร่าง) ยุทธศาสตร์อวกาศแห่งชาติปี 2560 – 2579 ขึ้น โดยประกอบด้วยยุทธศาสตร์ใน 7 ด้าน คือ
- การพัฒนากิจการอวกาศเพื่อความมั่นคง
- กิจการอวกาศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
- การพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ
- การบริหารโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศของประเทศ
- การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอวกาศ
- การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน
- การพัฒนาความร่วมมือกับต่างประเทศ
ในการดำเนินการส่วนยุทธศาสตร์ที่ 5 ให้เป็นรูปธรรมนั้น สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ สทอภ. (GISTDA) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. (NSTDA) ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินโครงการทดลองในอวกาศและสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง ระยะที่ 2 ประจำปีพ.ศ. 2561 หรือ National Space Exploration (NSE-II) ได้รวบรวมเอาการศึกษา และการทดลองงานวิจัยในอวกาศเพื่อยกระดับงานวิจัยในประเทศ และก่อให้เกิดนวัตกรรมอวกาศ เพื่อสร้างอุตสาหกรรมอวกาศมีเป้าหมาย คือ ผลการทดลองและการสำรวจอวกาศนำไปสู่การสร้างเป็นนวัตกรรมอวกาศที่มีประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ ตัวอย่างเช่น อาหาร เวชภัณฑ์ และวิชาการด้านต่างๆ ตลอดจนการเตรียมบุคลากรเพื่อออกสู่อวกาศ พัฒนานักวิจัยและบุคลากรในประเทศให้มีศักยภาพ สร้างแรงบันดาลใจและความภูมิใจแก่เยาวชน รวมถึงส่งผลให้เกิดการลงทุนอย่างยั่งยืนทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาโดยโครงการนี้จะเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการสำรวจอวกาศของประเทศไทย ดังนั้นการมีความร่วมมือกับองค์กรอวกาศต่างประเทศจึงเป็นส่วนสำคัญ มีการผลักดันให้เกิดโครงการนักบินอวกาศคนไทยขึ้นไปปฏิบัติภารกิจการสำรวจและทดลองงานวิจัยในอวกาศต่อไปในอนาคต เพื่อการศึกษาต่อยอดธุรกิจอวกาศ อันนำมาซึ่งความมั่นคงยั่งยืนของประเทศสืบไป
วัตถุประสงค์
- สร้างแรงบันดาลใจและเพื่มความสนใจในการศึกษาด้านอวกาศแก่เยาวชนและประชาชนภายในประเทศ
- เพื่อการยกระดับงานวิจัยในประเทศด้านการสำรวจอวกาศและการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในสภาพแวดล้อมอวกาศโดยการประสานความร่วมมือกับองค์กรอวกาศจากต่างประเทศ
- เพื่อชี้ให้เห็นประโยชน์ของการวิจัยอวกาศ และให้ข้อมูลแก่นักวิจัย อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ประชาชนผู้สนใจในการสำรวจและการทดลองในอวกาศโดยประเทศชั้นนำด้านอวกาศของโลก
- เพื่อเปิดโอกาสให้องค์กรอวกาศต่างประเทศได้ให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมือในการสำรวจอวกาศและการทดลองในอวกาศแก่ประเทศไทย
- เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในการลงทุนด้านอวกาศแก่ภาครัฐภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา
การทดลองในอวกาศคืออะไร?
ความแตกต่างสำคัญระหว่างสภาพแวดล้อมบนโลกและในอวกาศ คือ แรงโน้มถ่วง ในชีวิตประจำวันของเรานั้นพึ่งพาแรงโน้มถ่วงให้สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ มากมาย และทุกๆ การทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ดำเนินการขึ้นบนโลกนั้นอยู่ภายใต้อิทธิพของแรงโน้มถ่วงเสมอ ทว่านับตั้งแต่มนุษย์มีความสามารถจะเดินทางออกสู่อวกาศ ในสภาพที่แรงโน้มถ่วงมีขนาดน้อยมากได้ทำให้เราได้รับทราบถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ที่แตกต่างจากบนโลก เช่น ลักษณะการไหลของของไหล การก่อตัวของผลึก การเคลื่อนที่ การตอบสนองของระบบในร่างกายของสิ่งมีชีวิตที่เปลี่ยนไปในสภาวะไร้น้ำหนัก ซึ่งการพยายามศึกษาและทำความเข้าใจปรากฏการณ์เหล่านี้ได้ก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์มากมาย และนำไปสู่การสรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ย้อนกลับไปแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์บนโลก
โดยทั่วไปแล้ว งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ที่ทำบนสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำหรือในอวกาศ มักดำเนินการภายใต้ 3 พื้นที่ ดังนี้
1. สถานีอวกาศ โดยทั่วไปแล้วสถานีอวกาศมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำการวิจัยและการทดลอง ซึ่งแบ่งได้เป็นการทดลองภายนอกสถานีอวกาศเพื่อใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมอวกาศภายนอก ไร้แรงโน้มถ่วง มีอนุภาคและรังสีต่างๆ อีกประเภทคือการทดลองภายในสถานีอวกาศซึ่งเน้นที่การศึกษาผลที่เกิดขึ้นจากการไม่มีแรงโน้มถ่วงเพียงอย่างเดียว โดยใช้ชุดอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ภายในสถานีอวกาศสร้างความดัน อุณหภูมิ และเงื่อนไขอื่นๆ ที่เหมาะสมกับการทดลองที่ต้องการ รวมถึงมีนักบินอวกาศประจำการซึ่งทำให้สามารถดำเนินการทดลองโดยใช้มนุษย์ได้ ภายในสถานีอวกาศนั้นจึงสามารถดำเนินการทดลองได้หลากหลาย
2. Recoverable satellite เป็นดาวเทียมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำโดยเฉพาะ ชุดการทดลองจะถูกติดตั้งอยู่ภายใน ซึ่งดาวเทียมจะถูกวางแผนให้โคจรรอบโลกเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 10 วันหรือถึง 1 เดือน ก่อนที่จะลดระดับวงโคจรตกสู่พื้นโลก ซึ่งยังสามารถวิเคราะห์ชุดการทดลองภายหลังจากที่ตกกลับมายังโลกได้อีกด้วย เหมาะสำหรับการทดลองด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และอื่นๆ
3. Non-recoverable satellite เป็นดาวเทียมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่อในระยะยาว ระดับหลายเดือนจนถึง 1 ปี แต่ไม่มีการลดระดับวงโคจรทำให้ยากที่จะดำเนินขั้นตอนการวิเคราะห์ชุดทดลองหลังจากส่งขึ้นไปแล้ว เหมาะสำหรับการทดลองประเภทวัสดุศาสตร์ การทดสอบอุปกรณ์ การทดลองด้านรีโมทเซนซิง การทดลองด้านดาราศาสตร์ และอื่นๆ
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขอเชิญท่านที่สนใจร่วมเสนองานวิจัยไปทดลองในอวกาศกับโครงการ National Space Experiment NSE-II
ตั้งแต่วันนี้ถึง 31กรกฎาคม 2561
ลักษณะงานวิจัยที่เปิดรับข้อเสนอ
งานวิจัยวิทยาศาสตร์ที่ใช้คุณสมบัติของสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง สร้างผลการทดลองและองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่แตกต่างจากการทดลองบนโลก