หลายคนคงเคยได้ยินข่าวและรู้จัก มิมี่ อ่อง (MiMi Aung) วิศวกรหญิงชาวอเมริกันเชื้อสายพม่า และผู้จัดการโครงการที่ห้องปฏิบัติการ Jet Propulsion Lab (JPL) ของ NASA ซึ่งเธอเป็นหัวหน้าวิศวกรของโครงการเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็ก ที่มีชื่อว่า Ingenuity เพื่อใช้ในการสำรวจพื้นผิวดาวอังคารที่สามารถควบคุมได้จากโลก นับเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของการสำรวจดาวอังคาร
แต่ถ้าหากเอ่ยถึงชื่อ ดร.ปาเดตา ทิน (Dr. Padetha Tin) อาจจะไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก ซึ่ง ดร.ปาเดตา ได้ทำงานร่วมกับ NASA มาเป็นเวลา 28 ปี แล้ว โดยในปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นนักวิทยาศาสตร์อาวุโสของ NASA Glenn Research Center
ดร.ปาเดตา เรียนจบระดับปริญญาโททางด้านฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา จากนั้นจึงได้เดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นอิลลินอยส์ (Western Illinois University) และสำเร็จการศึกษาปริญญาเอก สาขาฟิสิกส์เลเซอร์ จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมิสซูรี (University of Missouri at Rolla) สหรัฐอเมริกา และได้มาทำงานให้ NASA เป็นนักวิทยาศาสตร์โครงการผลิตคริสตัลเหลว (Liquid Crystal Facility : LCF) ซึ่งเป็นการพัฒนางานวิจัยใหม่สำหรับสถานีอวกาศนานาชาติ โดยทำวิจัยเกี่ยวกับคริสตัลเหลวเพื่อให้ใช้งานได้อย่างหลากหลายในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (µg) ทำความเข้าใจฟิสิกส์พื้นฐาน และการประยุกต์ใช้คริสตัลเหลวได้ดียิ่งขึ้น
ความเชี่ยวชาญของ ดร.ปาเดตา ในด้านเลเซอร์สเปกโตรสโคปีและเซ็นเซอร์ออปติคัล (laser spectroscopy and optical sensors) ได้นำไปใช้ในการพัฒนาเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ทางวิทยาศาสตร์สูงสุดจากการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ
ในปี ค.ศ. 2018 ดร.ปาเดตา ได้รับรางวัล Snoopy Silver Award ซึ่งเป็นรางวัลที่ NASA มอบให้กับผู้เกี่ยวข้องที่มีส่วนสำคัญในความสำเร็จของภารกิจการบินอวกาศ โดยรางวัลนี้มีการมอบเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1968
ดร.ปาเดตา ในวัย 67 ปี ยังคงทำงานที่ NASA ในจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่เวลา 8 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น และถ้าเกิดมีไอเดียงานผุดขึ้นมาก็จะเข้าไปทำงานวันเสาร์และอาทิตย์อีกด้วย สำหรับแนวคิดในการทำงาน ดร.ปาเดตา กล่าวไว้ว่า “เราไม่ใช่พระเจ้า เราไม่รู้ทุกอย่าง เราจึงทำงานเป็นกลุ่ม โดยเราทำงานร่วมกับนักวิจัยที่ต้องการทำการทดลองในสาขาต่างๆ เช่น การแพทย์ วิทยาศาสตร์กายภาพ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา”
ปัจจุบัน ดร.ปาเดตา เป็นนักวิทยาศาสตร์ในโครงการ OASIS II (Observation and Analysis of Smectic Islands in Space II) และกำลังออกแบบ Microgravity Science Glovebox ให้กับโครงการ OASIS II โดยมี ผศ. ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม และ ผศ. ดร.อภิชาติ พัฒนโภครัตนา จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สองนักวิจัยคนไทยที่ได้มีโอกาสร่วมเป็นหนึ่งในทีมวิจัยนี้ด้วย โดยมีเป้าหมายพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับหน้าจอรุ่นใหม่ เพื่อใช้งานบนยานอวกาศ สามารถตอบสนองการทำงานในสภาวะแรงโมถ่วงต่ำได้ดี
สำหรับน้องๆ คนไหนที่มีความฝันทำงานใน NASA ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ถ้ามีความมุ่งมั่นและตั้งใจจนมีความเชี่ยวชาญในด้านสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อนาคตข้างหน้าอาจมีโอกาสได้ร่วมงานกับ NASA ได้อย่างแน่นอน
เรียบเรียงโดย
ปริทัศน์ เทียนทอง
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.usra.edu/people/dr-padetha-tin
https://www.nstda.or.th/sci2pub/sci-in-ear-ep24
https://www.mmtimes.com/news/nasa-myanmar-scientist-encourages-harder-thinking.html