เที่ยวบินพาราโบลิก (Parabolic fight) เป็นการบินในลักษณะรูปคลื่นแบบ Sin wave เพื่อจำลองสภาวะไร้น้ำหนัก (Microgravity) บนโลก ด้วยการบินในระยะเวลาสั้นหลายๆ รอบ ประมาณ 8-10 รอบ ซึ่งสภาวะไร้น้ำหนักดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าตัวเราไม่มีน้ำหนัก แต่หมายถึงเราไม่รู้สึกถึงน้ำหนัก โดยจุดประสงค์หลักในตอนแรกของเที่ยวบินพาราโบลิก คือ เพื่อใช้ฝึกนักบินอวกาศให้ชินกับสภาวะไรน้ำหนักก่อนขึ้นบินขึ้นสู่อวกาศจริง ดังนั้นข้อดีของเที่ยวบินพาราโบลิก จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเพราะไม่ต้องส่งนักบินอวกาศหรือสิ่งของที่ต้องการทดลองนั้นๆ ขึ้นไปยังอวกาศจริงๆ
ในการบินภายใน 1 รอบจะเริ่มจากช่วงขาขึ้นที่ใช้เวลาประมาณ 15-20 วินาที ซึ่งภายในเครื่องบินจะเป็นแรง 2g คือแรงดึงที่สูงกว่าปกติบนโลกเท่าตัว ขณะที่ช่วงขาบินลงประมาณ 15-20 วินาที โดยจากช่วงก่อนจุดยอดของคลื่น ภายในเครื่องบินจะเกิดการหักล้างของแรง เนื่องจากตัวเราจะเริ่มตกลงไปในระดับความเร็วเท่ากับแรง 1g ของโลก กลายเป็นสภาวะไร้น้ำหนักในเครื่องบิน
สำหรับประเทศไทย คุณอาภาภรณ์ บุญยรัตนพันธุ์ นับเป็นทีมผู้เรียนคนไทยทีมแรกที่มีโอกาสได้ขึ้นทำการทดลองบนเที่ยวบินพาราโบลิกของประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคม 2550 ที่ผ่านมา จากหัวข้อการทดลอง เรื่อง The study of medical drug dispersion under microgravity environment บนเที่ยวบินพาราโบลิก ที่เสนอในโครงการ Thailand Zero-Gravity Experiment เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ Japan Aerospace Exploration Agency (JAXA) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 โดยมี ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี เป็นหัวหน้าโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นให้นักวิจัย นักเรียนและนักศึกษา ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนางานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอวกาศของไทย
โดยโครงการ Thailand Zero-Gravity Experiment นี้ ประกอบด้วยโครงการย่อย 2 โครงการ คือ
1. Research Proposal for KIBO เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ร่วมส่งงานวิจัยขึ้นไปทดลองบนสถานีิอวกาศนานาชาติในส่วนของประเทศญี่ปุ่น คือ ยาน KIBO หรือ JEM (Japan experiment Module) โดยมีกลุ่มเป้าหมายของโครงการ คือ นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยทั่วไป
2.The Student Zero- Gravity Flight Experiment Contest เป็นโครงการทดลองในสภาวะไร้น้ำหนัก โดยผู้เข้าร่วมโครงการได้ขึ้นทำการทดลองบนเครื่องบินที่ทำการบินแบบพาราโบลิก (Parabolic fight) เพื่อทำการทดลองและใช้กล้องวิดีโอบันทึกผลการทดลองที่เกิดขึ้นในสภาวะไร้น้ำหนัก โดยมีกลุ่มเป้าหมายของโครงการ คือนักศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือนักเรียนระดับมัธยมศึกษา
เรียบเรียงจาก
สุปราณี สิทธิไพโรจน์กุล, ยงยุทธ บัลลพ์วานิช และอาภาภรณ์ บุญยรัตนพันธุ์.
เทคโนโลยีอวกาศ ระดับมัธยมศึกษา. ปทุมธานี : ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, 2552. (หน้า 100-101)