โครงการ “The Student Zero-gravity Flight Experiment Contest” ครั้งที่ 8 ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือสวทช. กับ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา โดยโครงการวิจัยที่ได้รับเลือกในครั้งนี้ คือ “การศึกษาไซโคลซิสของสาหร่ายหางกระรอกในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง” ผลงานของกลุ่มนักศึกษา 4 คน คือ นางสาวศรีสุดา โรจน์เสถียร จากนายสุทธิเกียรติ ช่างเรือนงาม นายปฐมพงษ์ เป้ามีพันธุ์ และนายธนทรัพย์ ก้อนมณี จากมหาวิทยาลัยมหิดล
“การทดลองนี้จะศึกษาไซโคลซิสจากการวัดอัตราเร็วและสังเกตรูปแบบการเคลื่อนที่ของคลอโรพลาสต์ภายในเซลล์สาหร่ายหางกระรอกในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง เพื่อเปรียบเทียบกับไซโคลซิสในสภาวะที่มีแรงโน้มถ่วงปกติ โดยคาดว่าผลจากการทดลองนี้จะเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับการปลูกพืชในอวกาศเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสำรวจอวกาศต่อไป” สมมติฐานของ 4 เยาวชนไทย ที่องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น คัดเลือกให้ขึ้นไปร่วมทดลองในสภาวะไร้น้ำหนัก บนเครื่องบินที่บินแบบพาราโบลา ณ เมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 22-31 ธันวาคม พ.ศ. 2556 และที่พิเศษสุดครั้งนี้เด็กๆ ยังได้รับโอกาสให้เข้าเยี่ยมชมศูนย์พัฒนาดาวเทียมขนาดเล็ก UNIFORM Project ของมหาวิทยาลัยวาเซดะ อีกด้วย
เมื่อคณะเยาวชนเดินทางไปถึงยังจุดหมายปลายทางที่เมืองนาโกยา เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 56 ก็พบกับอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 6 องศาเซลเซียส และวันรุ่งขึ้นได้เริ่มลงมือประกอบชุดทดลองเพื่อนำขึ้นทดลองบนเครื่องบินที่ทำการบินแบบพาลาโบลา คือ โค้งขึ้นและลงเป็นรูปคลื่น ทำให้เกิดสภาวะไร้น้ำหนักประมาณ 20 วินาที ในแต่ละรอบ จำนวน 10 รอบ โดยได้ทำการทดลองทั้งหมด 2 วัน คือวันที่ 25 และ 26 ธ.ค. 56 และใช้กล้องวิดีโอบันทึกผลการทดลองที่เกิดขึ้น เพื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับผลการทดลองที่เกิดขึ้นบนผิวโลก ซุ่งผลการทดลองทั้งสองวันก็ประสบความสำเร็จด้วยดี โดยตัวแทนเยาวชนไทย 2 คน มีโอกาสได้ขึ้นบินคือ นางสาวศรีสุดา โรจน์เสถียร และนายธนทรัพย์ ก้อนมณี
หลังจากที่เยาวชนไทยทั้งสองคนลงมาจากเครื่องบินแล้ว ได้เล่าประสบการณ์ที่ได้รับว่า รู้สึกตื่นเต้นและสนุกมากที่มีโอกาสได้ลอยตัวอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนักบนเครื่องบิน ถึงแม้เป็นช่วงเวลาไม่กี่วินาที และต้องรัดเข็มขัดอยู่ที่พนักเก้าอี้ แต่ก็รับรู้ได้ถึงสภาวะไร้น้ำหนัก ของทุกอย่างในเครื่องบินจะลอยเคว้งไปหมด นอกจากนี้ยังต้องพบกับสภาวะ Hyper G หรือแรงโน้มถ่วงเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เมื่อเครื่องบินเร่งความเร็วเชิดหัวขึ้นสูงเพื่อเตรียมเข้าสู่สภาวะไร้น้ำหนัก และเมื่อเข้าสู่สภาวะไร้น้ำหนักรอบหลัง ๆ เริ่มรู้สึกเวียนหัวและคลื่นไส้ เพราะภายในร่างกายจะรู้สึกปั่นป่วนจากสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปหลายๆ ครั้ง
เมื่อภารกิจการทดลองสำเร็จลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางคณะเยาวชนไทย ได้เดินทางไปเยี่ยมชมและศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็ก ซึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นมีความก้าวหน้าในเรื่องการสร้างดาวเทียมเป็นอย่างมาก โดยในครั้งนี้ได้มีโอกาสเข้าไปชมโครงการ Uniform Project ที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ ในกรุงโตเกียว