จุดกระจาย (radiant) หรือจุดศูนย์กลางของฝนดาวตกอยู่ในกลุ่มดาวเพอร์เซียส (Perseus) จุดกระจายขึ้นที่กรุงเทพฯ เวลา 22:29 น. (จังหวัดอื่นเวลาอาจแตกต่างบ้างเล็กน้อย) ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มุมทิศ (azimuth) 29 องศา จากทิศเหนือ
ดาวตกที่อยู่ใกล้จุดกระจายจะมีเส้นสั้น ส่วนดาวตกที่ยิ่งห่างจากจุดกระจายเส้นก็ยิ่งยาวครับ
ตามหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษของราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2535 ควรเขียนชื่อกลุ่มดาว Perseus ว่า “เพอร์เซียส” ไม่ใช้ “เพอร์ซีอัส” หรือ “เพอร์ซีอุส” เปรียบเทียบกับคำว่า nucleus เขียนว่า “นิวเคลียส” ไม่ใช้ “นิวคลีอัส” หรือ “นิวคลีอุส”
ฝนดาวตกเกิดได้ทั่วท้องฟ้า สามารถมองทิศทางใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมองที่จุดกระจาย หรือไม่ต้องรอเวลาให้จุดกระจายขึ้นจากขอบฟ้าครับ
อย่างไรก็ตาม ถ้ารู้จักตำแหน่งจุดกระจายจะช่วยให้แยกระหว่างดาวตกของฝนดาวตกเพอร์เซียสกับดาวตกปกติที่มีทุกคืนอยู่แล้ว ดาวตกของฝนดาวตกเพอร์เซียสจะมีทิศทางพุ่งออกมาจากจุดกระจายหรือพุ่งออกจากกลุ่มดาวเพอร์เซียส (ดูรูปประกอบ) ส่วนดาวตกปกติจะมีทิศทางไม่แน่นอน พุ่งไปทางใดก็ได้
ฝนดาวตกเพอร์เซียสเกิดนานหลายวัน ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม ถึง 24 สิงหาคม 2563 และยังเกิดตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน คาดว่ามากที่สุดคืนวันพุธที่ 12 สิงหาคม 2563 เวลา 20:00-23:00 น. ตามเวลาประเทศไทย
คืนนั้นดวงจันทร์แรม 9 ค่ำ เดือน 9 ขนาดดวงจันทร์ 40% (เกือบครึ่งดวง) ดวงจันทร์ขึ้นที่กรุงเทพฯ เวลา 00:34 น. (ของวันที่ 13) แสงจันทร์สว่างหลังเที่ยงคืน ทำให้เห็นดาวตกน้อยลง
สถานที่ที่เหมาะสำหรับดูฝนดาวตกคือที่มืด กว้าง เงียบ และปลอดภัย ยิ่งมืดยิ่งเห็นดาวตกได้มาก และที่เงียบอาจได้ยินเสียงดาวตกด้วย สามารถค้นหาสถานที่ได้จากแอป Light Pollution Map ดาวน์โหลดฟรี ใช้ได้ทั้งระบบ Android และ iOS สามารถพิมพ์ชื่อสถานที่เป็นภาษาไทยได้ด้วยครับ
ภาพจำลองการเกิดฝนดาวตกเพอร์เซียส (Perseids ) วันพุธที่ 12 สิงหาคม 2563 เวลา 23:00 น. ที่กรุงเทพฯ จากแอป SkyPortal 3.3.1.1, iPhone SE (2nd generation), iOS 13.6