เมื่อท้องฟ้ามองด้วยตาเปล่า ห่างออกไป 1,500 ปีแสงจากโลก คือเนบิวลาสว่างใหญ่ ในกลุ่มดาวนายพรานโอไรออน ซึ่งรู้จักกันมาตั้งแต่ยุคโบราณ
เป้าหมายของกล้องฮับเบิล เพื่อศึกษาระบบของดาวฤกษ์ที่ค้นพบใหม่ 42 แห่ง ซึ่งกำลังก่อเกิดระบบที่มีดาวเคราะห์เหมือนกับระบบสุริยะของเรา ตรงบริเวณดาบที่อยู่ใต้เข็มขัดในกลุ่มดาวนายพรานโอไรออน คือเนบิวลาสว่างใหญ่ในกลุ่มดาวนายพราน
เนบิวลานี้ รู้จักกันดีว่าเป็นบริเวณที่มีดาวฤกษ์เกิดใหม่ เพราะเมฆของกลุ่มฝุ่นก๊าซที่หมุนวนเป็นสิ่งก่อเกิดชีวิตใหม่ของดาวฤกษ์
ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 นักดาราศาสตร์ค้นพบสิ่งที่เรียกว่า Proplyds ในเนบิวลานี้ โดยใช้กล้องฮับเบิล
Proplyd คือสสารที่มีลักษณะเป็นแผ่นจาน ที่เริ่มก่อตัวเป็นดาวเคราะห์ แผ่กระจายห่างออกมาจากดาวฤกษ์เกิดใหม่ ซึ่งเป็นฝุ่นก๊าซหมุนวนอัดตัวกันหนาแน่น
นั่นคือ ตรงศูนย์กลางมีดาวฤกษ์เกิดใหม่และล้อมรอบด้วยก้อนฝุ่นกระจายออกเป็นแผ่นจาน ดังนั้น Proplyds คือ ระบบสุริยะอายุน้อยที่กำลังเติบโต
ย้อนกลับไปดูอารยธรรมยุคเก่าก่อน ชาวมายาที่อยู่ทางใต้ของเม็กซิโกปัจจุบัน
คิดว่านี่คือเส้นทางสู่สรวงสวรรค์ และเชื่อว่ากลุ่มดาวนายพรานและเนบิวลานี้เป็นตำนานของการก่อเกิดชีวิต โดยจินตนาการว่าดาวฤกษ์ที่เรียงกัน 3 ดวงคือหัวใจ และเนบิวลาก็คือไฟที่ให้ความอบอุ่นหัวใจนั้น
เนบิวลานายพรานเป็นเป้าหมายแรกของนักดาราศาสตร์ เมื่อมีการสร้างกล้องโทรทรรศน์ในช่วงศตวรรษที่ 17 จึงมีการถ่ายภาพเนบิวลานี้เป็นแห่งแรก เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว โดยนักดาราศาสตร์อเมริกัน ชื่อ เฮนรี แดรเปอร์ ผู้บุกเบิกการถ่ายภาพดาราศาสตร์ ภาพของเขาถ่ายในปี ค.ศ. 1880 เป็นภาพประวัติศาสตร์ทางดาราศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง
เนบิวลานายพรานไม่ได้มีเฉพาะแค่ความสวยงามเท่านั้น นักดาราศาสตร์ยังสนใจอย่างอื่นด้วย เพราะเป็นแหล่งก่อเกิดดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้โลกที่สุด ซึ่งดาวฤกษ์เหล่านี้มีมวลมากพอ จนทำให้ก๊าซที่อยู่รอบๆ เกิดความร้อน เรืองแสงออกมา
เสน่ห์ที่ชวนหลงใหลนี้จึงเป็นเป้าหมายแรกๆ ของกล้องฮับเบิลตั้งแต่เริ่มต้นปฏิบัติงาน ภาพคมชัดมากที่สุดของเนบิวลานายพรานถ่ายได้ในปี ค.ศ. 2006
เป็นภาพจากกล้องสำรวจชั้นสูงของกล้องฮับเบิล เห็นดาวฤกษ์มากกว่า 3,000 ดวงที่มีขนาดต่างกัน ซึ่งบางดวงไม่เคยเห็นได้ในช่วงแสงที่ตาเห็น
มองเข้าไปในก้อนฝุ่นก๊าซที่หมุนวน เห็นชัดว่ามีดาวฤกษ์เกิดใหม่มากมายในเนบิวลานี้ มวลก๊าซที่ดูวุ่นวายในกลุ่มดาวนายพราน นักวิจัยจึงใช้กล้องถ่ายภาพพื้นที่กว้าง จากกล้องสำรวจชั้นสูงของกล้องฮับเบิล ศึกษาลักษณะแผ่นจานที่แตกต่างกัน 2 แบบ
แบบหนึ่งคือ แผ่นจานในกระจุกดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้กับดาวสว่างมากที่สุดคือ Theta 1 Orionis C และอีกส่วนหนึ่งอยู่ไกลออกไป
ดาวฤกษ์ดวงนี้จึงมีผลต่อแผ่นจาน ทำให้ก๊าซที่อยู่ภายในร้อนขึ้น เรืองแสงออกมา สสารที่ถูกกระตุ้นจนเกิดแสงเรืองแวววาวนี้ จะไปกลบแสงของดาวฤกษ์ดวงนั้น จึงเห็นแสงกระจายทั่วไปในเนบิวลา
ความน่าสนใจของเนบิวลานี้อีกอย่างหนึ่งคือ มวลสารที่พุ่งเป็นลำออกมาเรียกว่า Jet และเกิดคลื่นกระแทกอย่างรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่ออนุภาคประจุไฟฟ้าจากดาวฤกษ์มวลมากที่อยู่ใกล้ๆ ทำปฏิกิริยากับก๊าซในเนบิวลา จึงทำให้มันมีรูปทรงเช่นนี้
บางแห่งดูคล้ายกับบูมเมอแรงหรือลูกศร และในภาพหมายเลข 181 และ 825
คลื่นกระแทกทำให้ Proplyds ดูเหมือนแมงกะพรุนอวกาศ
ส่วนแผ่นจานที่อยู่ไกลออกไป ได้รับพลังงานจากดาวฤกษ์ไม่มากพอที่จะทำให้ก๊าซมีปฏิกิริยาขึ้นมา จึงไม่เรืองแสงออกมา แต่เห็นแผ่นจานเป็นเงาดำๆ ที่มีแสงสว่างของเนบิวลาอยู่เบื้องหลัง ฝุ่นในแผ่นจานนี้ดูดกลืนแสงจากเบื้องหลังเอาไว้
แผ่นจานเงาดำแบบนี้ นักดาราศาสตร์จะศึกษารายละเอียดของฝุ่นได้ดีกว่าแบบสว่าง เมื่อมันก่อตัวเป็นดาวเคราะห์เหมือนในระบบสุริยะของเรา
ดาวฤกษ์ที่กระตุ้นให้ Proplyds สว่างออกมา จนทำให้เรามองเห็นได้ มีทั้งข้อดีและไม่ดี เพราะพลังงานจากดาวฤกษ์ทำให้สสารในแผ่นจานร้อนขึ้น จนเรืองแสงออกมาต่อเนื่อง แต่เมื่อนานขึ้นมันจะค่อยๆ จางลงและหายไป ศักยภาพที่จะก่อตัวเป็นดาวเคราะห์ก็หมดไป
Proplyds บางแห่งถูกดึงจนแตกสลายไป แต่ก็มีบางส่วนยังรวมกันอยู่ และพวกนี้อาจพัฒนาไปเป็นระบบดาวเคราะห์
เป็นเรื่องยากที่จะได้เห็นภาพ Proplyds ในช่วงแสงที่ตามองเห็น แต่ศักยภาพที่เยี่ยมยอดของกล้องฮับเบิล ได้ถ่ายภาพเนบิวลานายพรานที่อยู่ไม่ไกลจากโลกมากนัก ให้เราเห็นอย่างน่าประทับใจ
แม้ว่า Proplyds บางแห่งที่เป็นเพียงภาพจางๆ แต่มันคือเมล็ดพันธุ์ของระบบสุริยะแห่งใหม่ในอนาคต
แปลและเรียบเรียงโดย
อาจารย์สิทธิชัย จันทรศิลปิน