(20 ธันวาคม 2565) ห้องประชุม SD-601 อาคารสราญวิทย์ สวทช. อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) และหน่วยงานพันธมิตร ส่งมอบต้นกล้าราชพฤกษ์ที่ปลูกโดยใช้เมล็ดที่ผ่านการท่องอวกาศนาน 7 เดือน ให้แก่โรงเรียน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานภาครัฐรวม 21 แห่งทั่วประเทศนำไปปลูก เพื่อต่อยอดสู่การเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากการศึกษาเปรียบเทียบการเติบโตระหว่างต้นราชพฤกษ์อวกาศที่ปลูกด้วยเมล็ดจากอวกาศกับต้นราชพฤกษ์ที่ปลูกด้วยเมล็ดปกติ
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สวทช. ร่วมกับ JAXA และหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) บริษัท กรีน อินโนเวทีฟ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด และ SPACETH.CO ร่วมกันดำเนินการโครงการ Asian Herb in Space (AHiS) โดยแบ่งกิจกรรมย่อยออกเป็น 2 โครงการ ได้แก่ โครงการทดลองปลูกโหระพาเปรียบเทียบระหว่างบนอวกาศกับบนพื้นโลก และโครงการราชพฤกษ์อวกาศ
“ในวันนี้ สวทช. ได้เชิญชวนหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ รับ ‘ต้นกล้าราชพฤกษ์อวกาศ’ นำไปปลูกเปรียบเทียบกับต้นราชพฤกษ์ที่ปลูกด้วยเมล็ดปกติ เพื่อร่วมศึกษาวิจัยและติดตามการเจริญเติบโตของเมล็ดราชพฤกษ์อวกาศ สำหรับโครงการราชพฤกษ์อวกาศ สวทช. โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน คัดเลือก ‘เมล็ดราชพฤกษ์’ เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากราชพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่มีความหมายต่อคนไทย ในฐานะ ‘ดอกไม้ประจำชาติ’ อีกทั้งดอกราชพฤกษ์ยังมีสีเหลืองงดงาม เป็นสีประจำคณะวิทยาศาสตร์ในหลายมหาวิทยาลัย ทาง สวทช. ได้ส่งมอบเมล็ดพันธุ์ราชพฤกษ์ จำนวน 360 เมล็ด ให้แก่ JAXA เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อผ่านกระบวนการตรวจสอบร่วมกับเมล็ดพันธุ์พืชจากอีก 11 ประเทศ ก่อนส่งขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ในวันที่ 7 ธันวาคม 2563 โดยเมล็ดราชพฤกษ์ของไทยถูกเก็บรักษาไว้ในห้องทดลอง Kibo Module ของ JAXA เป็นเวลาประมาณ 7 เดือน ก่อนจะส่งกลับถึงพื้นโลกในวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 อย่างไรก็ตามหวังว่าการส่งมอบต้นกล้าราชพฤกษ์อวกาศให้แก่สถาบันการศึกษาในเฟสแรกนี้ จะช่วยสร้างโอกาสให้เยาวชนและประชาชนไทยได้เรียนรู้และใกล้ชิดเทคโนโลยีอวกาศมากยิ่งขึ้น”
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ฤทัยวรรณ โต๊ะทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความร่วมมือการเพาะกล้าราชพฤกษ์อวกาศและการศึกษาวิจัยว่าทางคณะฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการสนับสนุนความร่วมมือด้านกิจกรรมและการวิจัยระหว่างกลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สวทช. และ JAXA ซึ่งนอกจากการส่งมอบตัวอย่างพืชจากสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เพื่อการวิจัยแล้ว ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์เข้าร่วมกิจกรรม มีการแลกเปลี่ยนความรู้กับหน่วยงานวิจัยระดับชาติ สามารถสร้างแรงบันดาลใจและเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์อวกาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในการวิจัยขั้นแนวหน้าสำหรับอนาคตของมนุษยชาติ ทั้งนี้ โครงการ Asian Herb in Space (AHiS) ได้รับความอนุเคราะห์ให้ใช้โรงเรือนวิจัยของภาควิชาพฤกษศาสตร์ในพื้นที่ศาลายาสำหรับดำเนินโครงการราชพฤกษ์อวกาศ ทางคณะฯ มีความคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าต้นราชพฤกษ์อวกาศที่แจกจ่ายไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้ผ่านสภาพแวดล้อมที่รุนแรงในอวกาศมาแต่ยังสามารถเจริญเติบโตอย่างงดงามต่อไปได้ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความยั่งยืนของประเทศไทยและความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจด้านอวกาศของมวลมนุษยชาติ
สำหรับโครงการราชพฤกษ์อวกาศเฟสแรก มีสถาบันการศึกษาที่ได้รับมอบต้นกล้าราชพฤกษ์จำนวน 21 แห่ง มีดังนี้
ลำดับ | ชื่อโรงเรียน / มหาวิทยาลัย |
1 | ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน |
2 | โรงเรียนเทศบาล 2 (วัดกะพังสุรินทร์) |
3 | โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์(วัดน้อยใน)ในพระราชูปถัมภ์ฯ |
4 | โรงเรียนอุตรดิตถ์ |
5 | โรงเรียนอุบลรัตนราชกัญญาราชวิทยาลัย นครราชสีมา |
6 | โรงเรียนประทาย |
7 | วัดห้วยจรเข้วิทยาคม |
8 | โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม |
9 | โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา |
10 | โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ พะเยา |
11 | โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ |
12 | โรงเรียนโยธินบูรณะ |
13 | โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ |
14 | St. Andrews International School Bangkok |
15 | โรงเรียนม่วงสามสิบอัมพวันวิทยา |
16 | โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย |
17 | โรงเรียนยอแซฟอยุธยา |
18 | โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ |
19 | โรงเรียนยางตลาดวิทยาคาร |
20 | โรงเรียนบ้านม่วงพิทยาคม |
21 | โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ |
คลิปแนะนำโครงการราชพฤกษ์อวกาศ
คลิปนำเสนอความร่วมมือ Thailand – Japan collaboration on the ISS “Kibo”
ประมวลภาพบรรยากาศ