วงการเทคโนโลยีการบินอวกาศประสบความสำเร็จอีกครั้ง หลังจากมีการพัฒนาการนำจรวดส่งยานอวกาศกลับลงมาบนพื้นโลก ซึ่งโดยปกติแล้วจรวดส่งยานอวกาศจะตกลงสู่ท้องทะเลหลังจากที่มีการใช้เชื้อเพลิงหมด ในช่วงที่ผ่านมา 2 บริษัทใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีการบินอวกาศของสหรัฐฯ ได้พัฒนาจรวดขับดันมีขาตั้งที่สามารถพับได้ และมีการใช้ซอฟแวร์ควบคุมตัวขับดันและควบคุมช่องเปิด-ปิดเพื่อ ให้จรวดส่งยานอวกาศเคลื่อนที่ช้าลงและสามารถลงจอดที่ฐานยิงได้อย่างแม่นยำ ทำให้จรวดขับดันท่อนที่หนึ่งหรือท่อนล่างสุดสามารถกลับลงมาสู่พื้น โลกหลังหมดเชื้อเพลิงในลักษณะตั้งตรง โดยไม่เกิดความเสียหายใดๆ เพื่อนำกลับมาซ่อมบำรุง เติมเชื้อเพลิง และใช้ในครั้งต่อๆ ไป จะสามารถลดต้นทุนการผลิตเป็นหลายร้อยเท่า บริษัทใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีจรวด 2 บริษัท ได้แก่
– บริษัท Blue Origin ได้ทำสำเร็จไปก่อนหน้าในช่วงปี ค.ศ. 2015 ถึงแม้ว่าจะเป็นโครงการเล็กๆ ที่ส่งมนุษย์ไปขอบอวกาศบริเวณเส้นคาร์แมนหรือที่ความสูงราว 100 กม. จากระดับน้ำทะเล เพื่อวัตถุประสงค์ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสสภาพไร้น้ำหนัก ได้เห็นส่วนโค้งของโลกและอื่นๆภายในเวลา 4 นาที ซึ่งในการปฏิบัติจริงในการศึกษาวิจัยอวกาศ เช่น การส่งดาวเทียมหรือจรวดนั้นจะต้องส่งออกไปให้ถึงวงโคจร Geostationary Transfer Orbit (GTO) ที่ความสูง 90,000 กม. ซึ่งต้องใช้ความเร็วในการส่งจรวดเพิ่มขึ้นอีก 10 เท่า
– บริษัท SpaceX ซึ่งเป็นบริษัทที่มีเป้าหมายแตกต่างจาก บริษัท Blue Origin เนื่องจากบริษัท SpaceX ได้มีการดำเนินการปล่อยดาวเทียมและมีการจัดส่งสัมภาระให้แก่สถานีอวกาศ ซึ่งบริษัท SpaceX ทำสำเร็จเช่นเดียวกัน โดยสามารถบังคับให้จรวดขับดันของยาน Falcon 9 ลงจอดยังฐานยิงด้วยความเรียบร้อย
ข้อมูลจาก : สำนักงานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน (เดือนธันวาคม 2559 ฉบับที่ 12/2559)