ภารกิจโครงการอะพอลโล 7 (Apollo 7) ของนาซา ในช่วงระหว่างวันที่ 11-22 ตุลาคม พ.ศ. 2511 เป็นเที่ยวบินแรกของโครงการอะพอลโลที่มีนักบินอวกาศเดินทางไปด้วย และทำให้เราได้เห็นยุคเริ่มต้นของมนุษย์ในการเดินทางสู่อวกาศ
การส่งสัญญาณถ่ายทอดสดภาพวิดีโอครั้งแรกจากยานอะพอลโล 7 นักบินอวกาศวอลเตอร์ ชีร์รา (Walter Schirra) ผู้บัญชาการภารกิจอะพอลโล 7 ได้แสดงให้ผู้ที่กำลังติดตามรับชมเห็นถึงสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงด้วยการเป่า “ปากกาอวกาศ” (Space Pen) ให้ขยับในอวกาศ
วอลเตอร์ คันนิงแฮม (Walter Cunningham) นักบินอวกาศของนาซา กำลังเขียนด้วยปากกาอวกาศฟิชเชอร์ในเที่ยวบินของอะพอลโล 7 ซึ่งเป็นเที่ยวบินแรกในโครงการอะพอลโลของนาซาที่มีนักบินอวกาศเดินทางไปด้วย และเป็นการเดินทางสู่อวกาศครั้งแรกของปากกาอวกาศ ปากกาถูกใช้ในทุกภารกิจการบินในอวกาศโดยนักบินอวกาศของนาซาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เครดิต: NASA
ในช่วงเวลานั้น ประชาชนชาวอเมริกาเกิดข้อสงสัยเกิดขึ้นว่า ทำไมนาซาถึงต้องใช้เงินหลายล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อประดิษฐ์ปากกาที่สามารถใช้เขียนได้ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง แต่ในขณะที่นักบินอวกาศของรัสเซียกลับเลือกใช้วิธีง่ายๆ คือการใช้ดินสอในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงที่สามารถเขียนบนกระดาษได้
ทีนี้เราลองมาดูข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปากกาอวกาศ ดินสอในอวกาศ และวิธีที่นักบินอวกาศของนาซาเขียนบนสถานีอวกาศกัน
ปากกาอวกาศเป็นของจริงหรือไม่?
แน่นอนว่าเป็นเรื่องจริง โดย “ปากกาอวกาศฟิชเชอร์” (Fisher Space Pen) เปิดตัวทางโทรทัศน์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2511 ขณะที่วอลเตอร์ ชีร์รา ผู้บัญชาการภารกิจอะพอลโล 7 แสดงให้เห็นถึงสภาวะไร้น้ำหนักด้วยการเป่าปากกาเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของปากกา ขณะที่มันลอยอยู่ภายในยานของนักบินอวกาศ
ตั้งแต่นั้นมา “ปากกาอวกาศ” ก็ปรากฏตัวในรายการโทรทัศน์ชื่อดังของอเมริกาหลายรายการ และปากกาอวกาศ ก็ถูกนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์อวกาศ และพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ในนิวยอร์ก
ในปี พ.ศ. 2564 เทคโนโลยีดังกล่าวได้รับการยอมรับจาก Space Foundation ว่าเป็นนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นสำหรับงานด้านอวกาศที่ช่วยปรับปรุงชีวิตบนโลก โดยอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีอื่นๆ อีกประมาณ 80 รายการใน Hall of Fame ของ Space Foundation
ทำไมไม่ใช้ดินสออย่างเดียว?
นาซาต้องการใช้ทางเลือกอื่นแทนดินสอ เพราะไส้ดินสอสามารถแตกออกและลอยออกไปได้ง่าย รวมถึงเศษผงที่เกิดจากไส้ดินสอ ทำให้เกิดอันตรายต่อนักบินอวกาศและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความละเอียดอ่อนบนยานอวกาศ ซึ่งนักบินอวกาศของรัสเซียก็ยังใช้ปากกาอวกาศ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512
ใช้เงินภาษีของชาวอเมริกันหลายล้านดอลล่าร์สหรัฐ?
คำตอบคือไม่ใช่ เพราะว่า พอล ฟิชเชอร์ เจ้าของบริษัทฟิชเชอร์เพ็น (Fisher Pen) ได้ออกแบบและพัฒนาปากกาแรงดันอยู่แล้ว ซึ่งมีกลไกด้ามปากกาที่สามารถอัดอากาศลงไปที่ไส้ปากา เพื่อให้ความดันภายในหลอดหมึกมากกว่าความดันภายนอก ทำให้หมึกปากกาสามารถไหลออกมาได้อย่างต่อเนื่อง
“ปากกาลูกลื่นดั้งเดิมนั้นคุณภาพแย่มาก” คำกล่าวของ แครี ฟิชเชอร์ ลูกชายของพอล และประธานบริษัทคนปัจจุบันของบริษัท ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในเมืองโบลเดอร์ซิตี้ รัฐเนวาดา เขาตั้งข้อสังเกตว่าปากกาลูกลื่นยุคแรกมักจะรั่วซึม ลายเส้นไม่ต่อเนื่อง และหมึกแห้งง่าย
ปากกาอวกาศรุ่นแรก Fisher AG7
เมื่อทางนาซาได้ติดต่อไปที่บริษัทฟิชเชอร์เพ็น เพื่อหาปากกาที่ไม่ต้องใช้แรงโน้มถ่วง และบริษัทฟิชเชอร์เพ็นก็ได้พัฒนาปากกาจนสำเร็จโดยตั้งชื่รุ่นปากกาด้ามนี้ว่า Fisher AG7 และได้ส่งปากกาหลายด้ามไปให้นาซา
จากนั้นทางนาซาได้ทำการทดสอบปากกาอย่างละเอียด ซึ่งพบว่าปากกาสามารถใช้งานได้ทั้งในอุณหภูมิร้อนจัดและเย็นจัด และในบรรยากาศตั้งแต่ออกซิเจนบริสุทธิ์ไปจนถึงสุญญากาศ และปากกา Fisher AG7 มีหมึกมากพอที่จะลากเส้นได้ยาวประมาณ 5 กิโลเมตร
พอล ฟิชเชอร์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Fisher Pen Company ฉลองครบรอบ 50 ปีของบริษัท โดยจัดแสดงปากกาอวกาศรุ่นต่างๆ ที่เขาคิดค้น
จากการทดสอบดังกล่าวช่วยเร่งการพัฒนาปากกาจากต้นแบบไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้
บางครั้งปากกาก็เป็นที่รู้จักในด้านของความน่าเชื่อถือ แต่ก็เป็นสัญลักษณ์ในความเฉลียวฉลาดของชาวอเมริกันด้วย เมื่อนักประดิษฐ์และเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กได้ก้าวขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาปากกา ในขณะที่นาซามุ่งเน้นไปที่การลงจอดบนดวงจันทร์อย่างปลอดภัย
นักบินอวกาศยังใช้ปากกาอวกาศอยู่หรือไม่?
ปากกาอวกาศยังถูกใช้อยู่ในทุกภารกิจของนาซาที่มีนักบินอวกาศปฎิบัติหน้าที่ ตั้งแต่โครงการอะพอลโล 17 จนถึงปัจจุบัน
ปากกาอวกาศใช้เฉพาะบนอวกาศหรือเปล่า?
ในตอนนี้มีปากกาอวกาศออกมาจำหน่ายในท้องตลาด ประมาณ 80 รุ่น
นอกจากซื้อเป็นของขวัญหรือของที่ระลึกแล้ว ปากกาอวกาศยังเป็นที่ต้องการใช้งานกองทัพ อุตสากรรมผลิตเครื่องบิน คนงานปิโตรเลียม และนักกิจกรรมกลางแจ้ง ที่ต้องการเขียนได้ในทุกๆ สถานการณ์
เรียบเรียงข้อมูลจาก https://go.nasa.gov/3mNqIOo