สวทช. ขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมโครงการราชพฤกษ์อวกาศ เพื่อศึกษาการเจริญเติบโตของ “ต้นราชพฤกษ์ที่ปลูกด้วยเมล็ดที่เคยเก็บรักษาไว้ที่ Kibo Module บนสถานีอวกาศนานาชาติ” เปรียบเทียบกับ “ต้นราชพฤกษ์ที่ปลูกด้วยเมล็ดปกติบนโลก”
[ แบบฟอร์มใบสมัครขอรับต้นกล้าราชพฤกษ์อวกาศ ]
เปิดรับสมัครเฟสที่ 2 เร็ว ๆ นี้
สอบถามเพิ่มเติม
อีเมล : spaceeducation@nstda.or.th
เฟซบุ๊ก : NSTDA Space Education
เงื่อนไขการสมัคร
- หน่วยงานผู้สมัครต้องมารับมอบต้นกล้าราชพฤกษ์ด้วยตนเอง ณ โรงเรือนพืช คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา จ.นครปฐม
- หน่วยงานผู้สมัครเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการทำป้ายประจำต้นราชพฤกษ์ โดย สวทช. จะส่งไฟล์ออกแบบสำเร็จรูปประจำต้นราชพฤกษ์ให้แก่หน่วยงานผู้รับมอบเพื่อจัดทำป้ายต่อไป
- โครงการจะส่งมอบต้นกล้าราชพฤกษ์ปลูกโดยเมล็ดจากอวกาศและต้นกล้าราชพฤกษ์ปลูกโดยเมล็ดปกติ อย่างละ 1 ต้น ให้หน่วยงานปลูกคู่กัน เพื่อเปรียบเทียบการเจริญเติบโตระหว่างต้นที่ใช้เมล็ดจากอวกาศกับต้นที่ใช้เมล็ดปกติบนโลก
- อัปเดตภาพถ่ายต้นราชพฤกษ์อวกาศอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง โดยส่งไฟล์ภาพถ่ายมาที่อีเมล spaceeducation@nstda.or.th หรือเพจ NSTDA Space Education
- อัปเดตการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับต้นราชพฤกษ์อวกาศส่งมาถึงโครงการอย่างสม่ำเสมอ
- จำกัดการสมัคร 1 หน่วยงาน ต่อ 1 ใบสมัคร
รายละเอียดโครงการราชพฤกษ์อวกาศ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้าร่วมโครงการ Asian Herb in Space (AHiS) ขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) โดยส่งเมล็ดพันธุ์ราชพฤกษ์ จำนวน 350 เมล็ด ไปกับจรวด Falcon-9 ของ บริษัท SpaceX เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 เพื่อเก็บรักษา ณ ห้องทดลอง Kibo Module ของ JAXA ที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ เป็นเวลา 7 เดือน ก่อนส่งกลับถึงพื้นโลก เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564
ปัจจุบัน สวทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานพันธมิตร เพาะเมล็ดพันธุ์ราชพฤกษ์อวกาศ ณ โรงเรือนวิจัย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 นับเป็นจุดเริ่มต้นโครงการปลูกต้นราชพฤกษ์อวกาศ ก่อนที่จะส่งมอบให้แก่หน่วยงานภาครัฐและสถานศึกษาที่มีความประสงค์ และความพร้อมในการปลูกต้นราชพฤกษ์อวกาศต่อไป ซึ่งจะเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่จะได้เห็นต้นไม้จากอวกาศเบ่งบานทั่วพื้นที่ประเทศไทย
พฤษภาคม 2561
ไบโอเทค สวทช. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ราชพฤกษ์ จำนวน 350 เมล็ด เพื่อส่งมอบให้ JAXA
7 ธันวาคม 2563
JAXA ส่งเมล็ดพันธุ์โครงการ Asian Herb in Space ไปกับจรวด Falcon-9 ในภารกิจ SpaceX CRS-21 ของบริษัท SpaceX
ธันวาคม 2563 – กรกฎาคม 2564
เมล็ดพันธุ์ราชพฤกษ์ของไทยเก็บรักษาอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติใน Kibo Module ของ JAXA เป็นเวลา 7 เดือน
2 ธันวาคม 2564
สวทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานพันธมิตร เริ่มโครงการเพาะเมล็ดราชพฤกษ์ ณ โรงเรือนวิจัย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ วิทยาเขตศาลายา
ภาพการเปรียบเทียบการเติบโตของต้นกล้าราชพฤกษ์ระหว่างเมล็ดพันธุ์จากอวกาศกับเมล็ดพันธุ์ปกติ ดำเนินการศึกษาโดย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา
สนับสนุนการเพาะปลูกต้นกล้าราชพฤกษ์โดย ห้องปฏิบัติการ Plant Biology & Astroculture กลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมฯ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล