The First Step of Success งานวิจัยไทยถูกส่งไปอวกาศด้วยจรวด SpaceX CRS-18 เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 เวลา 05:01 น. (ตามเวลาประเทศไทย) โดย CRS-18 ได้ปล่อยส่วนยานอวกาศ SpaceX Dragon และเดินทางไปเทียบท่า ณ สถานนีอวกาศนานาชาติ ISS ได้สำเร็จ
โดยครั้งนี้นับเป็นก้าวแรกของการสำรวจอวกาศของไทย ตามแผนของโครงการ National Space Exploration (NSE) ของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ที่ปลายทางความฝัน คือ การมีนักบินอวกาศคนไทยขึ้นปฏิบัติการทดลองงานวิจัยบนสถานีอวกาศและร่วมสำรวจอวกาศกับนานาชาติ เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไทยต่อไป งานวิจัยดังกล่าวเป็นผลงานของนักวิจัยไบโอเทค/สวทช. โดยมี ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ เป็นหัวหน้าทีมวิจัย
หนึ่งในภารกิจสำคัญที่เกี่ยวข้องกับคนไทยก็คือ การนำเอนไซม์ DHFR ขึ้นไปศึกษาการตกผลึกในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง โครงงานวิจัยดังกล่าวคือ “การวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ของโปรตีน-สารยับยั้ง และโปรตีน-โปรตีน สำหรับการพัฒนายาต้านมาลาเรีย” ของดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพระดับโมเลกุลทางการแพทย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโลโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
ผลึกโปรตีนที่ปลูกในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงบนอวกาศมีลักษณะและคุณภาพดีกว่าผลึกโปรตีนที่ปลูกบนพื้นโลก เมื่อนำผลึกดังกล่าวกลับมาศึกษาบนโลก ทีมวิจัยคาดว่าจะได้ข้อมูลโครงสร้างของโปรตีนเป้าหมายยาดังกล่าวที่ชัดเจนขึ้น ช่วยให้ทีมวิจัยสามารถออกแบบยาต้านมาลาเรียชนิดใหม่ที่มีความจำเพาะต่อโปรตีนเป้าหมายยานี้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันนำไปสู่การสร้างยาต้านมาลาเรียดื้อยาชนิดใหม่เพื่อใช้รักษาโรคที่แต่ละปีมีผู้ป่วยเสียชีวิตทั่วโลกราว 4-5 แสนคน รวมทั้งในประเทศไทย
เมื่อทำการทดลองในสถานีอวกาศราวๆ 30 วัน ณ ห้องปฏิบัติการอวกาศคิโบะขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) แล้ว จากนั้นงานวิจัยจะถูกส่งกลับลงมาด้วย Dragon Capsule และส่งคืนประเทศไทยเพื่อทำการศึกษาผลต่อไป
ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายงานวิจัยไทยที่เข้าคิวรอส่งไปอวกาศกับโครงการ NSE ได้แก่
– การทดลองด้านอาหารไทยไปอวกาศ ของ คุณกฤษณ์ คุนผลิน และทีมงาน จากบริษัท Zignature Marketing
– การทดลองปลูกต้นมันสำปะหลังในอวกาศ ของ ดร.สุริยันตร์ ฉะอุ่ม และทีมงาน จากไบโอเทค สวทช.
– การทดลองผสมอาหารแบบ 3 มิติ ในอวกาศ ของ ดร.วเรศ จันทร์เจริญ และทีมงาน จากบริษัท SpaceZab
– การทดลองเพาะเชื้อแบคทีเรีย PGA ในอวกาศ ของ ดร.สุวิมล เจตะวัฒนะ และทีมงาน จากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ
และการทดลองเลี้ยงไข่น้ำในอวกาศ ของ ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ และทีมงาน จากมหาวิทยาลัยมหิดล
ขณะนี้ยังมีอีกหลายงานวิจัยที่กำลังอยู่ระหว่างการคัดเลือกภายใต้กิจกรรม Space Experiment Ideas Contest (SEIC) ของ GISTDA