สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ได้มีความร่วมมือกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA (Japan Aerospace Exploration Agency) ในการดำเนินการโครงการ Space Seeds for Asian Future 2011
โดยจรวดเอชทีวี 2 (HTV-II) ซึ่งเป็นจรวดขนส่งสัมภาระของ JAXA ไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) มีพื้นที่ว่างสำหรับการจัดกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ และประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่ได้สิทธิในการส่งสัมภาระไม่เกิน 100 กรัม ขึ้นไปโคจรในอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติ
ทาง สวทช. ได้มอบเมล็ดพันธุ์พริกขี้หนูของไทยให้กับทาง JAXA ประเทศญี่ปุ่น เพื่อส่งไปกับจรวดเอชทีวี 2 (HTV-2) ซึ่งถูกยิงจากฐานปล่อยจรวดทาเนกะชิมะ (Tanegashima) ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2554 โดยเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวโคจรรอบโลกเป็นเวลากว่า 4 เดือน และได้เดินทางกลับสู่พื้นโลกพร้อมกับกระสวยอวกาศเอนเดฟเวอร์ (Endeavour) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐฯ หรือ NASA เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554
เที่ยวบินดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเที่ยวบินสุดท้ายของยานกระสวยอวกาศ ยานเอนเดฟเวอร์ก็เป็นยานกระสวยอวกาศลำสุดท้ายของชุดยานดังกล่าวด้วย โดยมีเที่ยวบินครั้งแรกในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 และเป็นยานลำแรกที่นำชิ้นส่วนของสถานีอวกาศนานาชาติหรือ ISS ส่วนที่เป็นของสหรัฐฯ ขึ้นไปก่อสร้างอีกด้วย และภายใน ISS นี่เอง ที่เมล็ดพันธุ์พริกจากประเทศไทยได้ขึ้นไปโคจรรอบโลกอยู่นานกว่า 4 เดือน
สวทช. ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่วิจัย รวมทั้งสนับสนุนและผลักดันองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของเยาวชนกับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ จึงได้จัดตั้งโครงการเมล็ดพันธุ์พริกจากอวกาศเพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์แก่เยาวชนขึ้น เพื่อเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ อีกทั้งเปิดโอกาสให้เยาวชนของเราได้มีโอกาสร่วมในงานวิทยาศาสตร์สาขาสำคัญของโลก คือวิทยาศาสตร์อวกาศ
พิธีแจกเมล็ดพริกขี้หนูอวกาศแก่นักเรียนและโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกใน โครงการเมล็ดพันธุ์อวกาศเพื่ออนาคตภูมิภาคเอเชีย (Space Seed for Asian Future 2010-2011) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2555 ณ โรงแรมสยามซิตี โดยมี นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีดังกล่าว
สวทช. ได้พิจารณาข้อเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์พริกจากอวกาศ ที่ส่งมาจากนักเรียนผู้สนใจทั่วประเทศ โดยมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้คัดเลือก ซึ่งมีผู้ที่ได้รับคัดเลือกทั้ง 14 โครงงาน ดังนี้
1. โรงเรียนประชาวิทย์
2. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
3. โรงเรียนผ่องสุวรรณวิทยา สายไหม
4. โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์) จำนวน 2 โครงงาน
5. โรงเรียนไม้ยาวิทยาคม
6. โรงเรียนหนองเต่าวิทยา
7. โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า
8. โรงเรียนกันทรารมย์ จำนวน 2 โครงงาน
9. โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์
10. โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
11. โรงเรียนเทพศิรินทร์
12. ด.ช.อินทัช บรูเซอร์แฟนเกอร์โน
ดาวน์โหลดไฟล์รายงานสรุปการทดลองโครงการ Space Seeds for Asian Future 2011 (ภาษาอังกฤษ)