มีกระจุกกาแล็กซีที่หนาแน่นมาก ปรากฏในซีกฟ้าเหนือ ในกลุ่มดาวผมของเบเรนิซ
เป็นบริเวณที่มีกาแล็กซีอยู่ร่วมกันมากมายไม่น้อยกว่า 1,000 กาแล็กซี โดยมีกาแล็กซีสว่างที่สุด คือ NGC 4921 ซึ่งได้ค้นพบครั้งแรก ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 โดยนักดาราศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ วิลเลียม เฮอร์สเชล
ในกระจุกกาแล็กซีที่หนาแน่น กาแล็กซีนี้คงมีการชน และเข้ารวมกันหลายครั้ง จนมันจะค่อยๆ เปลี่ยนจากรูปทรงกังหันที่มีฝุ่นและก๊าซมากมาย กลายมาเป็นกาแล็กซีรูปทรงรีที่แทบไม่มีดาวฤกษ์เกิดใหม่เลย
ในที่สุด กระจุกกาแล็กซีก็จะมีแต่กาแล็กซีรูปทรงรี และที่ขอบนอกเอกภพยิ่งมีกาแล็กซีรูปทรงรีมากกว่า
ภาพใหม่ของกล้องฮับเบิลทำให้เห็น NGC 4921 ซึ่งเป็นกาแล็กซีรูปกังหันที่มีน้อยมากในกระจุกนี้ อาจมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น และดูไม่เป็นรูปกังหันที่ชัดเจน
มีดาวฤกษ์เกิดใหม่มากมายอยู่ที่แขนกังหัน แต่เห็นไม่ค่อยสว่างนัก เพราะว่ามีฝุ่นที่หมุนวนเป็นแถบวงแหวนล้อมรอบกาแล็กซีไว้ บดบังดาวฤกษ์เกิดใหม่มากมายที่อยู่บริเวณนั้น แต่กล้องฮับเบิลสามารถถ่ายภาพให้เห็นได้ชัดเจน
เมื่อดาวฤกษ์บริเวณส่วนนอกของกาแล็กซีไม่สว่างมาก จึงเห็นกาแล็กซีนี้หม่นมัว ดูเหมือนตัวแมงกะพรุนโปร่งใส
กล้องฮับเบิลถ่ายภาพโดยเปิดหน้ากล้องนาน เห็นรายละเอียดมากมายในกาแล็กซีนี้ และเห็นเอกภพเบื้องหลังไกลๆ
เมื่อสังเกตตรงกลางภาพ จะเห็นกาแล็กซีนี้มีแกนกลางที่สว่างมากและเหยียดแขนออกไปทุกทิศทาง ถัดออกไปเราเห็นแถบวงแหวนของฝุ่น และดาวฤกษ์เกิดใหม่ที่ร้อนแรงสีฟ้ามากมาย
กาแล็กซีที่ดูโปร่งใสนี้ ทำให้เรามองทะลุผ่านไปเห็นกาแล็กซีเบื้องหลังไกลๆ อีกมหาศาล และเห็นจุดสว่างมากมายเหมือนเป็นแสงดาวฤกษ์ ซึ่งอาจเป็นกระจุกดาวทรงกลมที่โคจรรอบศูนย์กลางกาแล็กซีไปอย่างช้าๆ และยังเห็นกาแล็กซีอีกนับเป็นพันที่อยู่ไกลออกไป ซึ่งมีหลายขนาดและหลายรูปทรง
กาแล็กซีหลายแห่งมีรูปร่างเป็นก้อนกลม เพราะมีดาวฤกษ์เกิดใหม่มาเกาะกลุ่มกันในช่วงเริ่มกำเนิดเอกภพ
กาแล็กซีที่อยู่ใกล้กว่าจะเห็นมีขนาดใหญ่กว่า ดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ในภาพนี้ อยู่ในกาแล็กซีของเราเอง
กาแล็กซีมากมายเหล่านั้นต่างก็เป็นสมาชิกที่อยู่ร่วมกันกับ NGC 4921
เรายังได้เห็นกลุ่มแสงจางๆ มากมาย ดูเหมือนเป็นระบบที่มีดาวบริวารโคจรรอบดาวฤกษ์ขนาดใหญ่
แปลและเรียบเรียงโดย
อาจารย์สิทธิชัย จันทรศิลปิน