
สวัสดีครับ พวกเราทีม Astronut ในฐานะตัวแทนประเทศไทยสำหรับการแข่งขัน The 5th Kibo Robot Programming Challenge (Kibo-RPC) เริ่มต้นจากการเป็นเพื่อนกันตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา ด้วยความสนใจในด้านอวกาศและหุ่นยนต์ที่พวกเรามีร่วมกัน ทำให้พวกเราตัดสินใจสมัครเข้าร่วมการแข่งขันตั้งแต่ The 3rd Kibo-RPC ชื่อทีม Astronut ของพวกเรามาจากการผสมผสานคำว่า ‘Astrobee’ ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่เราต้องเขียนโค้ดควบคุม เข้ากับคำว่า ‘nut’ หรือ ‘ถั่ว’ ที่พวกเราชื่นชอบ ความน่าสนใจคือชื่อ Astronut มีเสียงพ้องกับคำว่า ‘Astronaut’ หรือนักบินอวกาศ อย่างไรก็ตาม กว่าที่พวกเราจะได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงแชมป์นานาชาติ เส้นทางของเราไม่ได้ราบรื่น
ในปีแรกที่เราเข้าร่วมการแข่งขัน (The 3rd Kibo-RPC) พวกเราทำคะแนนได้อันดับที่ 13 ของประเทศ และในปีถัดมา พวกเราก็พัฒนาขึ้นจนได้อันดับที่ 4 ของประเทศ ในปี 2567 นี้ พวกเราจึงมุ่งมั่นอย่างเต็มที่เพื่อคว้าชัยชนะอันดับ 1 ของประเทศ พวกเราจึงรีบสมัครเข้าร่วมการแข่งขันตั้งแต่วันแรกที่เปิดรับสมัคร (1 เมษายน 2567) หลังจากนั้น พวกเราได้ทุ่มเทพัฒนาโค้ดของทีมอย่างสุดความสามารถ จนกระทั่งถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2567 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการส่งผลงานเพื่อคัดเลือกตัวแทนประเทศ และในที่สุด พวกเราก็สามารถคว้าอันดับ 1 มาได้ ผมและเพื่อนๆ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เราสามารถทำสำเร็จได้
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายใหม่ที่เข้ามาคือการเตรียมตัวสำหรับรอบชิงแชมป์นานาชาติ ซึ่งโค้ดของเราจะต้องทำงานจริงในสภาพแวดล้อมบนสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน และด้วยข้อจำกัดที่ว่าหากโค้ดมีปัญหาในระหว่างการแข่งขันจริง จะไม่สามารถแก้ไขได้ พวกเราจึงเร่งปรับปรุงส่วนสำคัญหลายอย่างเพื่อให้โค้ดมีความยืดหยุ่นต่อสภาพแวดล้อมจริงภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน พวกเราศึกษาจากวิดีโอการแข่งขันย้อนหลังของปีก่อนๆ เพื่อค้นหาจุดที่เป็นประโยชน์และสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง รวมถึงรับฟังคำแนะนำจากทีมตัวแทนประเทศไทยในปีที่ผ่านมา ซึ่งมีผลอย่างมากต่อการวางกลยุทธ์ของทีมเรา จนกระทั่งในที่สุด พวกเราสามารถคว้าอันดับ 1 ในระดับนานาชาติมาได้!
และนี่คือประสบการณ์การเข้าร่วมกิจกรรมรอบชิงแชมป์นานาชาติ ณ JAXA Tsukuba Space Center จังหวัดอิบารากิ ประเทศญี่ปุ่น ที่พวกเราอยากมาแชร์ให้ทุกคนได้อ่านกันครับ
11月8日 (8 พฤศจิกายน 2567)
- ประสบการณ์การเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นวันแรก โดยนายชิษณุพงศ์ ประทีปพงศ์ (เป็นต่อ)
หลังจากเครื่องบินลงจอดที่สนามบินนานาชาตินาริตะ สิ่งที่ผมทำเป็นอย่างแรก และเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับผมเมื่อมาถึงญี่ปุ่น คือการหยิบเสื้อกันหนาวมาใส่ ใช่ไหมครับ? หลังจากออกจากเครื่องบินและเข้าห้องน้ำ ตรวจหนังสือเดินทางผ่านเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง และถ่ายรูปคู่กับฮัตสึเนะ มิกุให้เพื่อน (บีบี) เสร็จแล้ว ผมก็เตรียมซื้อตั๋วรถบัสไปเมืองสึคุบะ จังหวัดอิบารากิ พวกเราจึงเริ่มเดินไปที่จุดรอรถบัส
ในขณะที่ก้าวเท้าถึงจุดที่เซนเซอร์ของประตูเลื่อนทำงาน อากาศอันสดชื่นและลมหนาวที่ทำให้หน้าแห้งก็พัดผ่านผมไป ทำให้ผมรู้สึกได้ทันทีว่า “私は今日本に到着しました” (ฉันมาถึงญี่ปุ่นแล้ว) พวกเรายืนรอรถบัสจนกว่าจะถึงกำหนดการที่รถบัสจะมารับ
ในช่วงเช้าวันนั้น อุณหภูมิที่สนามบินนาริตะอยู่ที่ 14.3 องศาเซลเซียส ซึ่งสำหรับผมรู้สึกว่าเป็นอุณหภูมิที่กำลังดี ถึงแม้ว่าหน้าของผมจะแห้งไปบ้างแล้ว เมื่อรถบัสมาถึงที่หมาย พนักงานก็ให้บริการรับฝากกระเป๋าเดินทางเป็นอย่างดี ระหว่างทางไปยังเมืองสึคุบะ จังหวัดอิบารากิ ผมได้ชื่นชมสภาพบ้านเมืองและทิวทัศน์ต่างๆ ในชนบทของญี่ปุ่นอย่างเพลิดเพลิน จนกระทั่งถึงเมืองสึคุบะ เมื่อถึงเมืองสึคุบะอีกครั้ง ผมก็สัมผัสได้ถึงลมหนาวอีกครั้ง จากนั้นพวกเราก็นำสัมภาระไปเก็บที่โรงแรม Hotel JAL City Tsukuba
ถึงแม้อุณหภูมิจะอยู่ที่ 14.3 องศาเซลเซียส แต่ใจผมก็อยากออกไปเที่ยวและเดินทางในประเทศญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ อย่างน้อยก็อยากเก็บเกี่ยวบรรยากาศและประสบการณ์ให้ได้มากที่สุดก่อนกลับประเทศไทย จากนั้นพวกเราก็เดินทางไปยัง Tsukuba Expo Center ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับผู้ที่สนใจด้านวิทยาศาสตร์และอวกาศในเมืองสึคุบะ การได้เข้าชม Tsukuba Expo Center ทำให้ผมรู้สึกเหมือนได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ผมรู้สึกอยากรู้อยากเห็นไปกับทุกสิ่งที่อยู่ในนั้น แม้ว่าเกือบทั้งหมดจะเป็นภาษาญี่ปุ่นก็ตาม
ภายใน Tsukuba Expo Center มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเกมที่เล่นกับขดลวดสนามแม่เหล็ก ตารางธาตุของซูเปอร์คอมพิวเตอร์ K computer และคำอธิบายเกี่ยวกับทวิภาวะคลื่น-อนุภาค หลังจากนั้นพวกเราจึงเดินออกจาก Tsukuba Expo Center เพื่อไปรับประทานอาหารมื้อแรกในการมาญี่ปุ่น
หลังจากรับประทานอาหารกลางวันในญี่ปุ่นเสร็จ พวกผมและเพื่อนๆ ก็ตัดสินใจแยกย้ายกันไปยังสถานที่ที่แต่ละคนสนใจ โดยบีบีจะเดินทางเข้ากรุงโตเกียวก่อน ส่วนพลต้องการเดินชมพื้นที่ธรรมชาติ และผมกับมีนจะไปที่ Aeon mall แต่เนื่องจากเส้นทางไปยังสวนสาธารณะและ Aeon mall เป็นเส้นทางเดียวกัน ผม มีน และพลจึงตัดสินใจท้าทายตัวเองด้วยการเดินเท้าจากที่พักไปยัง Aeon mall ซึ่งมีระยะทางประมาณ 5.7 กม. การเดินบนถนนทำให้พวกเราได้เห็นสภาพความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด
พวกเราใช้เวลาในช่วงบ่ายที่เหลือไปกับการเดินเล่นและซื้อของฝากที่ Aeon mall จากนั้นก็กลับโรงแรมเพื่อเตรียมตัวสำหรับวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันที่ผมและทีมรอคอย… รอคอยจนขอบตาคล้ำ เพราะนอนไม่หลับน่ะเหรอ? เปล่าเลย เล่นเกมต่างหาก!
11月9日 (9 พฤศจิกายน 2567)
- ประสบการณ์การเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น วันที่ 9 พฤศจิกายน 2567 โดยนายธรรญธร ไชยกายุต (มีน)
ในวันที่ 9 พฤศจิกายน ทีมของพวกเราได้เข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขัน The 5th Kibo-RPC รอบชิงแชมป์นานาขาติ โดยพวกเราออกเดินทางไปยังสถานีรถบัสของเมืองสึคุบะ เพื่อให้ทันเวลารถออก 09:14 น. อากาศในยามเช้าสดใสและเย็นสบาย ประกอบกับเป็นช่วงฤดูใบไม้เปลี่ยนสี ทำให้บรรยากาศสวยงามเป็นอย่างยิ่ง
จุดหมายปลายทางของพวกเราคือ JAXA Tsukuba Space Center ซึ่งเป็นสถานที่จัดกิจกรรม ทั้งการประกาศผลและกิจกรรมศึกษาดูงาน จุดสำคัญที่พวกเราตั้งใจไปถ่ายรูปคือการถ่ายภาพคู่กับจรวด H-II ของ JAXA ที่นั่น พวกเราได้พบกับตัวแทนเยาวชนจากไต้หวัน ญี่ปุ่น และเนปาล ทุกคนดูตื่นเต้นและเป็นมิตรมาก
หลังจากนั้น พวกเราได้แวะที่ Planet cube ซึ่งเป็นร้านค้าที่รวมของที่ระลึกต่างๆ จาก JAXA ที่เกี่ยวข้องกับอวกาศมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า อาหารแบบ freeze dried และโมเดลจรวดต่างๆ ส่วนตัวผมตั้งใจจะซื้อแกงกะหรี่ freeze dried เสื้อยืด JAXA และหมวก ซึ่งดูเท่มาก
หลังจากนั้น พวกเราได้เข้าไปในเขตหวงห้าม โดยสถานที่แรกที่พวกเราไปเยี่ยมชมคือ พิพิธภัณฑ์จรวดและดาวเทียมต่างๆ ของญี่ปุ่น ภายในมีการเล่าถึงความเป็นมาและการพัฒนาจรวด การแบ่งการวิจัยเชื้อเพลิงทั้งแบบแข็งและแบบเหลว รวมถึงโมเดลจำลองของจรวด H-IIA-B และทิศทางการพัฒนาด้านอวกาศของประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงดาวเทียมต่างๆ พร้อมคำอธิบายหน้าที่ เช่น ดาวเทียม GOSAT ซึ่งมีหน้าที่ตรวจวัดค่าแก๊สเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลก พวกเราได้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อให้ได้ข้อมูลต่างๆ ที่เราไม่เคยทราบมาก่อน ซึ่งช่วยเปิดมุมมองเชิงลึกเกี่ยวกับโลกของเรา ในส่วนสุดท้ายของการจัดแสดง พวกเราได้ชม EVA Suit อาหารต่างๆ ที่เคยถูกส่งไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) และแบบจำลองรถ Luna cruiser ที่ญี่ปุ่นจะนำไปใช้บนดวงจันทร์
หลังจากนั้น พวกเราได้เดินทางไปยัง Mission Control Room ของ JAXA ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งที่ได้ชมการทำงานของศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินในการวางแผนและติดต่อกับนักบินอวกาศบน ISS นอกเหนือจากนั้น พวกเรายังได้รับทราบข้อมูลที่น่าสนใจต่างๆ เช่น การใช้เวลามาตรฐานกรีนิช (Greenwich Mean Time) บน ISS และแม้ว่าไม่มีนักบินอวกาศจาก JAXA ปฏิบัติภารกิจอยู่ ก็จะมีนักบินอวกาศจาก NASA หรือ ESA คอยดูแลโมดูล Kibo หลังจากเยี่ยมชมเสร็จ พวกเราก็เดินทางไปรับประทานข้าวปั้นญี่ปุ่น และเตรียมตัวเข้าร่วมงาน The 5th Kibo-RPC Final Round ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดทางช่อง YouTube ของ JAXA ทำให้พวกเราต้องเตรียมความพร้อมอย่างเป็นระเบียบ
ตัวผมเองรู้สึกตื่นเต้นมากที่จะได้ทราบผลการแข่งขัน รวมถึงบทพูดในฐานะหัวหน้าทีม เนื่องจากทีมประเทศไทยอยู่ในลำดับท้ายๆ ทำให้พวกเราได้เห็นผลของทีมอื่นๆ ก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นมาก พวกเราลุ้นว่าจะมีทีมใดที่ทำเวลาได้ดีกว่าทีมของเราหรือไม่ จนในที่สุดก็ได้ชมผลการแข่งขันของทีมตัวเอง ซึ่งทีมของเราสามารถทำภารกิจได้ครบถ้วน และรอการประกาศผลคะแนนอย่างเป็นทางการ และในที่สุด พวกเราก็คว้าชัยชนะอันดับที่ 1 มาได้ จากความพยายามและการทุ่มเทของทีมพวกเรา ทีมอื่นๆ ต่างเข้ามาแสดงความยินดีกับความสำเร็จของเรา ทำให้พวกเรารู้สึกดีใจมากที่ได้พบปะกับทีมจากชาติต่างๆ
หลังจากจบงาน พวกเราได้เข้าร่วมฟังบรรยายที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อการแข่งขัน ได้แก่ หัวข้อ “JAXA’s Robotic Crew Assistance” โดยคุณ Seiko Yamaguchi และหัวข้อ “Robot Guidance, Navigation, Control in Space and Real World Considerations” โดย Dr. Shinichi Nakasuka รวมถึงการแลกเปลี่ยนกลยุทธ์ของทีมต่างๆ ซึ่งเปิดมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับการแข่งขันนี้เป็นอย่างมาก หลังจากที่พวกเราเรียนรู้อย่างเข้มข้น ก็ถึงเวลาจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ร่วมกับทุกทีมและบุคลากรจาก JAXA หลายท่าน พวกเราได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวของแต่ละทีม และได้เพื่อนใหม่หลายคนที่มีความสนใจในด้านอวกาศเหมือนกัน รวมถึงช่องทางการติดต่อสื่อสาร ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่มีความสุขมากสำหรับผม
ก่อนเดินทางกลับ พวกเราได้แวะเยี่ยมชม Astronaut training facility และได้ทราบถึงเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับขั้นตอนการเป็นนักบินอวกาศ ทำให้วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันที่น่าจดจำที่สุดสำหรับผม
11月10日 (10 พฤศจิกายน 2567)
- ประสบการณ์การเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น วันที่ 10 พฤศจิกายน 2567 โดยนายสิรวิชญ์ แพร่วิศวกิจ (บีบี)
วันที่ 10 พวกเราเริ่มต้นวันด้วยการปรับเปลี่ยนเวลาจากตารางที่วางไว้ จาก 6:30 น. เป็น 8:00 น. เนื่องจากในช่วงเวลานั้นในโตเกียวยังไม่มีร้านอาหารเปิด พวกเราจึงเลื่อนเวลาเพื่อให้มีเวลานอนพักผ่อนมากขึ้น ทีมของพวกเราออกเดินทางจากโรงแรม JAL Tsukuba ไปยัง Tsukuba Station ในช่วงเวลา 8:26 – 8:33 น. จากนั้น พวกเราได้ขึ้นขบวนรถไฟ Semi-Rapid Train หมายเลข 4032 จาก Tsukuba Station ไปยัง Akihabara และถึงที่หมายตรงตามกำหนดเวลา 9:46 น. หลังจากนั้น พวกเราเดินจาก Akihabara ไปยัง Comfort Hotel Tokyo เพื่อฝากกระเป๋าเดินทางที่โรงแรม แล้วจึงเดินไปยังสถานี Kanda เพื่อขึ้นรถไฟสาย Yamanote Line ไปยัง Ueno
รถไฟฟ้ารุ่น E231-1000 series ของสาย Utsunomiya Line ขณะจอดรอเวลาออกจากสถานี
ผม (บีบี) ได้มีโอกาสเข้าชม Railway Museum ที่สถานี Tetsudō-Hakubutsukan ครับ ผมวางแผนที่จะขึ้นรถไฟสาย Utsunomiya Line ไปยังสถานี Omiya แต่เนื่องจากรถไฟ Delay ประมาณ 20 นาที ผมจึงเปลี่ยนไปขึ้นรถไฟสาย Keihin-Tohoku Line แทน ซึ่งผมพบว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่ถูกต้องนัก ผมจึงกลับไปขึ้นรถไฟสาย Utsunomiya Line ที่สถานี Oji และไปถึงสถานี Omiya ในเวลา 11:20 น. จากนั้น ผมเดินไปขึ้นรถไฟฟ้าล้อยางสาย New Shuttle ซึ่งคล้ายกับรถไฟฟ้าสายสีทองของประเทศไทย ไปยังสถานีถัดไป โดยรถไฟฟ้าสายนี้ให้บริการทุก 15 นาที ผมขึ้นรถรอบ 11:30 น. และถึงสถานี Tetsudō-Hakubutsukan ในเวลา 11:33 น. พิพิธภัณฑ์รถไฟแห่งนี้มีค่าเข้าชม 1,600 เยน ภายในจัดแสดงรถไฟหลากหลายรุ่นที่ประเทศญี่ปุ่นเคยสร้างมาเกือบทั้งหมดครับ
รถไฟฟ้าชินคันเซ็นรุ่น Series 400 และ E5 ชินคันเซ็น
ภายในพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงประวัติศาสตร์ของรถไฟในญี่ปุ่น และมีกิจกรรมให้เรียนรู้เกี่ยวกับการขับรถไฟต่างๆ โดยจะต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน The Railway Museum Raffle App ผมโชคดีได้รับโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมจำลองการขับรถไฟฟ้าของญี่ปุ่น ซึ่งการบรรยายเป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด แต่มีเอกสารบางส่วนที่เป็นภาษาอังกฤษให้เพื่ออำนวยความสะดวก กิจกรรมนี้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม 600 เยน ครับ
ภาพการสอนขับรถไฟ
หลังจากนั้น ผมได้นั่งรถไฟฟ้าสาย New Shuttle กลับมาที่สถานี Omiya และต่อด้วยรถไฟสาย Utsunomiya Line กลับไปยังสถานี Tokyo รอบนี้ ผมได้พักและถ่ายรูปบริเวณหน้าสถานี Tokyo ประมาณ 10 นาที จากนั้น ด้วยความที่ไม่แน่ใจว่าจะไปที่ไหนดี เนื่องจากเวลาเดินทางจาก Tokyo ไปยังสถานที่ต่างๆ อาจจะไปถึงเมื่อสถานที่ปิดแล้ว ผมจึงตัดสินใจลองไป Meiji Jingu ตามแผนเดิม โดยผมนั่งรถไฟสาย Yamanote Line ต่อด้วยสาย Chuo-Sobu Line ไปยังสถานี Yoyogi หลังจากนั้น ผมได้เดินไปยังทางเข้า Meiji Jingu แต่ก็พบว่าในวันนั้นปิดทำการ
แต่ด้วยความโชคดี รุ่นพี่ที่ผมรู้จักได้แนะนำว่า ในเวลา 17:20 น. ที่สถานี Ueno จะมีรถไฟขบวนพิเศษ Shiki-Shima ซึ่งเป็นหนึ่งในขบวนรถไฟสุดพิเศษของญี่ปุ่น โดยรถไฟจะเข้าจอดที่ชานชาลา 13 ผมจึงรีบเดินทางกลับไปยังสถานี Yoyogi และขึ้นรถไฟฟ้าสาย Chuo Rapid มายังสถานี Ueno โดยผมไปถึงช้ากว่าเวลารถไฟขบวน Shikishima เข้าสถานีเล็กน้อย คือเวลา 17:27 น. แต่โชคดีที่รถไฟขบวนนั้นยังไม่ออกเดินทาง
รถไฟฟ้าขบวน Shikishima รุ่น E001 series ขณะจอดส่งผู้โดยสารที่สถานี Ueno
หลังจากที่รถไฟขบวนพิเศษ Shiki-Shima ออกจากสถานีไปแล้ว ผมก็ได้เดินทางต่อไปยังสถานี Shinjuku โดยนั่งรถไฟฟ้าสาย Yamanote ไปยังสถานี Shinjuku เมื่อถึงสถานี Shinjuku ผมก็ได้เดินเล่นบริเวณรอบๆ สถานีจนถึงเวลาประมาณ 21:30 น. หลังจากนั้น ผมก็นั่งรถไฟฟ้าสาย Yamanote กลับมายัง Akihabara และเดินทางกลับถึงโรงแรมโดยสวัสดิภาพ
11月11日 (11 พฤศจิกายน 2567)
- ประสบการณ์การเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น วันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 โดยนายชยพล เดชศร (พล)
ในช่วงเช้าของวันที่ 11 พฤศจิกายน พวกเราได้เข้าเยี่ยมคารวะท่านวิชชุ เวชชาชีวะ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว เพื่อรายงานผลการแข่งขัน และแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่นในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงจุดแข็งที่น่าเรียนรู้จากญี่ปุ่น
เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ ทุกคนรวมตัวกันเพื่อรับประทานอาหารกลางวัน ก่อนจะแยกย้ายกันไปทัศนศึกษาตามความสนใจส่วนตัว พวกผมเลือกร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วไป เช่น ราเมงและเกี๊ยวซ่า แม้จะเป็นร้านอาหารเล็กๆ และดูธรรมดา แต่ร้านที่เราไปใช้หุ่นยนต์ในการเสิร์ฟอาหาร มีระบบสั่งอาหารด้วยคิวอาร์โค้ด และมีห้องน้ำ รวมถึงน้ำเปล่าบริการตนเอง ซึ่งค่อนข้างน่าแปลกใจสำหรับผม
ในช่วงบ่ายของวัน ผมและเพื่อนอีกคนเดินทางด้วยกัน โดยส่วนใหญ่เป็นการนั่งรถไฟไปยังสถานีฮามามัตสึโจ เพื่อเดินชมอ่าวโตเกียว แล้วเดินกลับมาเพื่อชมโตเกียวทาวเวอร์
จากนั้น พวกผมเดินไปชมการประดับไฟต้นไม้ และนั่งพักผ่อนที่รปปงงิฮิลล์ ซึ่งมีบรรยากาศค่อนข้างโรแมนติก
ในช่วงเย็น พวกผมนั่งรถไฟไปยังชิบูยา เพื่อไปยังร้านซูชิสายพานที่ได้นัดหมายกับทุกคนไว้ ซึ่งเป็นร้านที่สามารถหยิบซูชิจากสายพานได้ตามปกติ แต่ก็มีสายพานความเร็วสูงแยกไว้สำหรับสั่งอาหารผ่านคิวอาร์โค้ดได้เช่นกัน ที่โต๊ะมีบริการน้ำร้อนและผงชาให้ นอกจากนี้ ในช่วงที่เราไปเป็นช่วงที่มีกิจกรรมพิเศษ กินแล้วได้สุ่มกาชาเพื่อร่วมกับแบรนด์อื่นด้วย
ในการรับประทานอาหารครั้งนี้ พวกเราได้นัดเจอกับเพื่อนเก่าที่กำลังศึกษาอยู่ที่ Institute of Science Tokyo ในญี่ปุ่น ซึ่งเขาคือนายกรปภพ สิทธิฤทธิ์ หนึ่งในสมาชิกทีมผู้ชนะการแข่งขัน The 2nd Kibo-RPC รอบชิงแชมป์เอเชีย และพวกเราทุกคนเคยศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเดียวกัน คงกล่าวได้ว่าคนใกล้ชิดมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเราจริงๆ
11月12日 (12 พฤศจิกายน 2567)
- ประสบการณ์การเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 โดยนายธรรญธร ไชยกายุต (มีน)
วันที่ 12 พฤศจิกายน เป็นวันเดินทางกลับประเทศไทย วันนี้ผมอาจจะดูซึมๆ ไปบ้าง ตลอด 4 วันที่ผ่านมาพวกเราได้ท่องเที่ยว เปิดโลก และพบเจอมิตรภาพใหม่ๆ มีแต่ช่วงเวลาที่ดีและน่าตื่นเต้น ผมคิดว่าหากมีโอกาสได้เล่าทุกประสบการณ์ที่พบเจอ คงสร้างความตื่นเต้นให้หลายคนไม่น้อย พวกเราออกจากโรงแรมเวลา 8:30 น. และนั่งรถไฟฟ้าไปยังสถานีฮามามัตสึโจ ซึ่งเริ่มมีผู้คนหนาแน่นเล็กน้อย จากนั้นก็นั่ง Tokyo monorail ซึ่งเป็นเส้นทางที่เลียบไปกับอ่าวโตเกียว ทำให้ได้เห็นสะพานรุ้งและอาคารต่างๆ ที่สวยงามมาก
พวกเราลงที่ Haneda Terminal 3 หลังจากผ่านด่านตรวจต่างๆ ก็ถึงเวลาซื้อของฝากกลับ ซึ่งผมซื้อมาค่อนข้างมาก จึงต้องขอให้เพื่อนๆ ช่วยแบ่งของกลับ ในเที่ยวบินขากลับ ผมได้นั่งที่นั่งริมหน้าต่าง สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือ runway ของสนามบินฮาเนดะตั้งอยู่บนทะเล ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน และในขากลับ เราจะได้บินผ่านภูเขาไฟฟูจิ แต่ด้วยโชคไม่ดี ตอนนั้นภูเขาไฟฟูจิยังไม่มีหิมะปกคลุม
การเข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้มอบประสบการณ์และมุมมองต่อชีวิตที่มีค่าอย่างยิ่ง แต่สิ่งเหล่านี้คงไม่เกิดขึ้นได้เลย หาก JAXA และ สวทช. ไม่ได้วางแผนและจัดการให้พวกเรา รวมถึง บริษัท เดลว์ แอโรสเปซ จำกัด และ บริษัท 168 ลักกี้ เทรด จำกัด ที่สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พวกผมมีโอกาสมาถึงจุดนี้ได้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่สนใจด้านอวกาศจะได้รับโอกาสเช่นนี้
ตอนนี้ โครงการแข่งขัน The 6th Kibo-RPC กำลังเปิดรับสมัครอยู่ พวกเราขอเชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมการแข่งขันนี้กันให้มากๆ นะครับ สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเตรียมตัวล่วงหน้า พวกเราได้จัดทำ source code ของปีนี้ไว้ให้แล้ว หรือหากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามได้ในกลุ่ม กลุ่มเยาวชนโครงการ Kibo Robot Programming Challenge พวกเรายินดีให้ความช่วยเหลือครับ ขอบคุณครับ