ประเทศเวียดนามเป็นอีกประเทศหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนที่มีการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจที่ดี นอกจากนั้นความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงเทคโนโลยีอวกาศก็กำลังพัฒนาก้าวไปสู่เทคโนโลยีชั้นสูงอีกด้วย
ในปี พ.ศ.2555 รัฐบาลเวียดนามสร้างศูนย์อวกาศเวียดนาม (Vietnam National Space Center หรือ VNSC) ที่กรุงฮานอย โดยเป็นหน่วยงานภายใต้สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเวียดนาม (Vietnam Academy of Science and Technology-VAST) ในนิคมอุตสาหกรรมหว่าหลากไฮเทค (Hoa Lac Hi-tech Park) โดยมีเป้าหมายที่จะออกแบบ ทดลอง ติดตั้ง และบังคับควบคุมดาวเทียมได้
นอกจากนี้เวียดนามยังได้ก่อตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 4 แห่ง ได้แก่
1. ศูนย์อวกาศเวียดนาม
2. ศูนย์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในเทคโนโลยีอวกาศกรุงฮานอย
3. หอดูดาวเมืองญาจาง
4. ศูนย์ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศ ณ นครโฮจิมินห์
ทีมวิศวกรอวกาศเวียดนามได้รับความช่วยเหลือจากประเทศญี่ปุ่นในด้านการฝึกอบรม และเงินช่วยเหลือประมาณ 54,000 ล้านเยน โดยเวียดนามมุ่งเน้นการส่งดาวเทียมสำรวจสภาพอากาศ เพราะว่าภูมิประเทศของเวียดนามมีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลยาวนับพันกิโลเมตร ซึ่งประสบกับเหตุอุทกภัยเป็นประจำเกือบทุกปี
เวียดนามเริ่มประสบความสำเร็จด้านเทคโนโลยีอวกาศจากการสร้างดาวเทียม PicoDragon ขนาด 10x10x11.35 เซ็นติเมตร น้ำหนัก 1 กิโลกรัม ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกที่สร้างโดยบุคคลากรเวียดนามเองทั้งหมด โดยดาวเทียม PicoDragon ถูกปล่อยขึ้นไปสู่วงโคจรในอวกาศตั้งแต่ปี พ.ศ.2556
ล่าสุดดาวเทียมสำรวจ “ไมโครดรากอน (Micro Dragon)” ซึ่งสร้างโดยทีมวิศวกรเวียดนาม 36 คนนที่ไปศึกษาด้านดาวเทียมที่มหาวิทยาลัยญี่ปุ่นจำนวน 5 แห่ง ส่งขึ้นสู่อวกาศโดยจรวด Epsilon ขององค์กรสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2561 ดาวเทียมดวงนี้ มีขนาด 50x50x50 เซนติเมตร น้ำหนัก 50 กิโลกรัม มีภารกิจหลักคือ เฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงของน้ำทะเลบริเวณชายฝั่งของเวียดนาม ตรวจวัดคุณภาพน้ำเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในอนาคตเวียดนามยังวางแผนจะสร้างดาวเทียม LOTUSat-1 และ LOTUSat-2 ด้วยเทคโนโลยีเรดาร์ขั้นสูงซึ่งจะมีน้ำหนักถึง 600 กิโลกรัม โดยใช้งบประมาณสำหรับโครงการถึง 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อมุ่งเน้นภารกิจสำรวจการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงการเตือนภัยธรรมชาติ
จากความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียม MicroDragon ขึ้นสู่ห้วงอวกาศนับเป็นก้าวย่างที่สำคัญที่ส่งเสริมให้เวียดนามขึ้นเป็นผู้นำแนวหน้าของภูมิภาคอาเซียนในด้านเทคโนโลยีดาวเทียม และเป็นพลังขับเคลื่อนเพื่อให้บรรดาวิศวกรรุ่นใหม่ของเวียดนามทุ่มเทให้แก่การวิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศต่อไป