โครงการกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ที่เป็นความร่วมมือกันของ NASA และ ESA ถูกปล่อยออกสู่วงโคจรในวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1990 ได้ฉลองครบรอบ 17 ปี เมื่อปี ค.ศ. 2007 ด้วยภาพปรากฏการณ์ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมี มันคือการระเบิดที่รุนแรงของดาวฤกษ์ในเนบิวลา Carina
24 เมษายน ค.ศ. 2007 เป็นวันฉลองครบรอบ 17 ปีของกล้องฮับเบิลที่อยู่ในห้วงอวกาศ
เป็น 17 ปีแห่งการสำรวจเอกภพ มีการสังเกตการณ์เกือบ 800,000 ครั้งกับวัตถุท้องฟ้าที่แตกต่างกันมากกว่า 25,000 อย่าง ได้ภาพมากมายในเอกภพ ที่ถ่ายขณะอยู่ในวงโคจรรอบโลก ด้วยความเร็วสูงมากถึง 28,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ในช่วง 17 ปี ได้โคจรรอบโลกเกือบ 100,000 รอบแล้ว หรือ คิดเป็นระยะทาง 4 พันล้านกิโลเมตร พอๆ กับเดินทางไปดาวเสาร์ทีเดียว
วันนี้ เรามาฉลองวันเกิด 17 ปี ด้วยภาพที่น่าประหลาดใจ มีพื้นที่กว้างใหญ่ถึง 50 ปีแสง
ที่เห็นโดดเด่นอยู่ตรงศูนย์กลางของเนบิวลา Carina ที่ดูไม่สงบนิ่ง เพราะมีดาวฤกษ์เกิดใหม่และตายดับอยู่ตรงนั้น
ในส่วนฟ้าซีกใต้ ไม่ไกลจากกลุ่มดาวกางเขนใต้มากนัก มีกลุ่มดาวกลุ่มหนึ่งคือ Carina หรือกระดูกงูเรือ ที่นี่ อยู่ห่างออกไป 8,000 ปีแสง คือเนบิวลา Carina ที่ใหญ่โต ภาพถ่ายเนบิวลานี้จากกล้องฮับเบิลแสดงให้เห็นขั้นตอนต่างๆ ในกระบวนการเกิดดาวฤกษ์ ที่เห็นเนบิวลานี้มีแสงสว่างปรากฏออกมา เกิดจากปฏิกิริยาที่อนุภาคต่างๆ เคลื่อนตัวตลอดเวลาและได้รับพลังงานสูงของรังสีอัลตราไวโอเลตจากดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ที่อยู่ภายในเนบิวลา
ณ ใจกลางเนบิวลา เราได้พบ Eta Carinae มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 100 เท่า เป็นขั้นตอนดาวระเบิด วาระสุดท้ายของดาวฤกษ์ แรงมหาศาลดันก๊าซและฝุ่น กระจายออกมา 2 ก้อน เป็นการระเบิดของดาวฤกษ์ขนาดยักษ์ ที่เรียกว่า ซูเปอร์โนวา
Eta Carinae เป็นพื้นที่ที่ดาวยักษ์เกิดระเบิดอย่างรุนแรงเมื่อประมาณ 150 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นมันจึงเป็นดาวสว่างที่สุดในท้องฟ้าซีกใต้ เป็นตัวอย่างสำคัญในการศึกษาเกี่ยวกับดาวฤกษ์
เมื่อมองเนบิวลานี้ใกล้ๆ เราได้พบสิ่งที่น่าสนใจมากๆ คือแท่งของฝุ่นและก๊าซที่เห็นได้อย่างชัดเจน เป็นหลักฐานว่ากำลังมีดาวฤกษ์เกิดใหม่ภายในแท่งเหล่านี้ เห็นลำก๊าซพุ่งออกมาจากแท่งนี้และกระจายผ่านไปสู่กลุ่มก๊าซรอบๆดูเหมือนการพ่นไฟไปยังแผ่นทราย
ลำก๊าซที่พุ่งออกมาอย่างแรงนั้น มาจากดาวฤกษ์ที่กำลังก่อตัว ที่ซ่อนอยู่ภายในแท่งเหล่านั้น
ในทุกพื้นที่ เราพบชิ้นส่วนที่เป็นโมเลกุลของไฮโดรเจนและฝุ่นกระจายอยู่ทั่วไป เห็นเป็นเงาดำของเม็ดกลมเล็กๆ เป็นภาพย้อนแสงจากแสงเนบิวลาที่อยู่เบื้องหลัง แสงที่เห็น เกิดจากสสารกลมๆ เหล่านั้นกำลังเกิดปฏิกิริยาเรืองแสงขึ้นมาโดยถูกกระตุ้นจากดาวฤกษ์ที่อยู่รอบๆ จึงตั้งสมมติฐานว่าดาวฤกษ์อาจเกิดจากฝุ่นก๊าซที่อยู่ภายในนั้นเอง
ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 กล้องฮับเบิลเริ่มมีปัญหาในการปฏิบัติงาน กล้องถ่ายภาพหลักกล้องหนึ่งเกิดไฟฟ้าลัดวงจร จึงมีการซ่อมบำรุงครั้งที่ 5 ที่มีแผนปฏิบัติงานในเดือนกันยายน ค.ศ. 2008 โดยยานขนส่งอวกาศของ NASA นำอุปกรณ์ใหม่ 2 ชิ้นไปติดตั้ง ทำให้ระบบต่างๆ มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
เนบิวลา Carina เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกล้องฮับเบิล
แต่ละวันกล้องฮับเบิลจะส่งข้อมูลมายังโลก 10 กิกะไบต์ คือมากกว่า 30 เทราไบต์ตลอด 17 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลที่มีค่าเหล่านี้เป็นเสมือนขุมทรัพย์ของนักดาราศาสตร์ทั้งในยุโรปและอเมริกา
ทุกๆ วันข้อมูลประมาณ 66 กิกะไบต์จะถูกดาวน์โหลดจากฐานข้อมูลมากมายให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มากกว่า 7,000 เรื่องที่ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ กล้องฮับเบิล จึงเป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุดชิ้นหนึ่งเท่าที่เคยมีมา
แปลและเรียบเรียง
อ.สิทธิชัย จันทรศิลปิน