(ขอบคุณภาพจาก Facebook ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์)
นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนวิจัยทำการทดลองพืชภายใต้สภาวะแรงโน้มถ่วงสูงภายใต้โครงการ HyperGES ของ United Nations Office for Outer Space Affairs (UNOOSA) และ European Space Agency (ESA)
ทีมนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับทุนสนับสนุนการทดลองโครงการ “Watermeal, the Future Food Source for Space Exploration” หรือ “ระบบพยุงชีพที่ยั่งยืนจากไข่น้ำสำหรับการสำรวจอวกาศในอนาคต” จาก United Nation/European Space Agency fellowship เพื่อทำงานวิจัยที่ the European Space Research and Technology Centre (ESTEC), The Netherlands ทีมนักวิจัยประกอบด้วย อาจารย์ ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ กลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ คณะวิทยาศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ นางสาวสุธามาศ สาดทอง นักศึกษาปริญญาตรี กลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ คณะวิทยาศาสตร์ นายนพพล โสมณวัฒน์ นักศึกษาปริญญาตรี ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ นางณัชชา จิตสุข นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ และนายวัฒนพงศ์ สิทธิเสรี นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โครงการ “Watermeal, the Future Food Source for Space Exploration” เป็นโครงการที่ทำการศึกษาการตอบสนองของพืชภายใต้สภาวะแรงโน้มถ่วงสูง โดยการนำไข่น้ำ หรือผำ พืชดอกที่เล็กที่สุดและเจริญเติบโตเร็วที่สุดไปใช้ประโยชน์ในการผลิตก๊าซออกซิเจนและเป็นแหล่งอาหารยังดาวนพเคราะห์ที่มีสภาพแรงโน้มถ่วงแตกต่างจากโลก รวมทั้งยังอาศัยไข่น้ำเป็นพืชโมเดลในการศึกษาการปรับตัวของพืชต่อสภาวะแรงโน้มถ่วงสูง (hypergravity) เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการวิจัยต่อยอดในพืชชนิดอื่น ๆ โดยเป็นแผนงานวิจัยที่สืบเนื่องจากการสนับสนุนการวิจัยด้านอวกาศผ่านโครงการ National Space Exploration (NSE) ของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รวมถึงแผนการวิจัยขั้นแนวหน้า Frontier Research ประเด็นการวิจัยกลุ่ม Origin of Universe and Space Exploration สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)