ความพยายามที่จะรวมบริการค้นหาผลงานวิจัยในประเทศไทย ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ในรูปของการแลกเปลี่ยนลิงก์และแบนเนอร์ระหว่างหน่วยงานที่ให้ทุนวิจัยในประเทศไทย จากนั้นในปี พ.ศ. 2544 มีการพัฒนาต่อยอดทำให้เกิดฐานข้อมูลงานวิจัยไทย หรือ Thai Research ขึ้นมาเป็นผลสำเร็จ จากความร่วมมือตั้งต้นจากหน่วยงานที่ให้ทุนวิจัยของประเทศไทย 4 หน่วยงานได้แก่

  1. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
  2. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
  3. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
  4. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

โดยมีที่มาจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วันที่ 8 - 9 มิถุนายน 2544 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิดที่ว่าประเทศไทยควรมีแหล่งข้อมูลที่รวบรวมผลงานวิจัยของประเทศให้บริการสืบค้นทางอินเทอร์เน็ต หน่วยงานที่ให้ทุนวิจัยทั้ง 4 หน่วยงานจึงร่วมประชุมและร่วมพัฒนาระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลวิจัยของทุกหน่วยงาน ภายใต้ชื่อเรียก Thai Research โดยมีวัตถุประสงค์

  1. เพื่อใช้ตรวจสอบความซ้ำซ้อนของโครงการวิจัยที่แต่ละหน่วยงานให้ทุนสนับสนุน
  2. เพื่อให้นักวิจัยสามารถตรวจสอบว่ามีโครงการวิจัยอะไรบ้างที่กำลังดำเนินการอยู่และที่เสร็จไปแล้ว สามารถค้นหางานวิจัยตีพิมพ์และค้นหาข้อมูลสิทธิบัตรก่อนดำเนินการวิจัยได้
  3. เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถสืบค้นงานวิจัยได้สะดวก โดยผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
  4. เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดสรรงบประมาณมีข้อมูลใช้ประกอบการพิจารณา
  5. เพื่อให้ผู้บริหารสามารถมองเห็นภาพรวมการวิจัยในประเทศไทยได้ เช่น สามารถค้นหาจำนวนผู้เชี่ยวชาญทางสาขาเฉพาะด้าน
  6. เพื่อให้นักวิเคราะห์สามารถประเมินแนวโน้มการทำวิจัยในหัวข้อต่างๆ รวมทั้งในหัวข้อที่ยังขาดแคลน ช่วยในการจัดนักวิจัยให้ตรงกับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมในประเทศได้ รวมทั้งช่วยประเมินความสามารถในการแข่งขันทางเทคโนโลยีกับประเทศอื่นๆ และสามารถจัดสรรทุนได้เหมาะสม

Thai Research ได้พัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีการเชื่อมโยงข้อมูลสรรสาร (SanSarn) ของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ดึงข้อมูลที่จัดเตรียมในฟอร์แมต XML เข้ามารวบรวมจัดเก็บและบริการสืบค้นผ่านอินเทอร์เน็ต

จอภาพระบบ Thai Research
จอภาพระบบ Thai Research

ผลลัพธ์จากการสืบค้นสามารถคลิกกลับไปยังต้นแหล่ง ทั้งนี้ Thai Research ยังมีประเด็นปัญหา ได้แก่

  1. ปัญหา Dead Link
  2. ปัญหาการเข้ารหัสภาษาไทย Thai Encoding
  3. หน่วยต้องเสียเวลาเตรียมข้อมูลเพื่อการนำเข้าระบบ thairesearch
  4. ไม่มีข้อกำหนด/มาตรฐานการลงรายการ โดยเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ประมวลผล เช่น Technology Trend
  5. แต่ละหน่วยงานต้องใช้งบประมาณในการพัฒนาระบบคัดโอนข้อมูล
  6. ขาดระบบประมวลผลในเชิงวิเคราะห์และให้ความรู้

ข้อมูลต้นแหล่งที่มีปัญหาการเข้ารหัสภาษาไทย
ภาพแสดงข้อมูลต้นแหล่งที่มีปัญหาการเข้ารหัสภาษาไทย

TNRR

จากการใช้งานพบว่าระบบ thairesearch ที่ทำขึ้น แม้ว่าจะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ไม่เอื้อต่อการปรับปรุงฐานข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงได้มีการปรึกษาหารือกัน ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหากลไกใหม่ๆ เพื่อการเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านการวิจัยของประเทศไทย ตามมติจากการประชุมเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2553 ณ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยการนำเสนอของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยโครงการความร่วมมือใหม่นี้ จะใช้ชื่อว่า คลังข้อมูลงานวิจัยไทย หรือ Thai National Research Repository (TNRR)

มติที่ประชุมมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบูรณาการฐานข้อมูลงานวิจัย ดังนี้

  1. มติที่ประชุมเห็นชอบกับแนวทางการเชื่อมโยงด้านการวิจัย 11 ข้อ ตามที่เลขาธิการ วช. นำเสนอ
  2. เลขาธิการ วช. เสนอให้มีการกำหนดชื่อการเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านการวิจัยของประเทศ โดยมติที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้ชื่อ “คลังข้อมูลด้านการวิจัย” (Thai National Research Repository : TNRR)
  3. ให้มีการจัดตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อยให้เป็นรูปธรรมเพื่อบูรณาการฐานข้อมูลร่วมกัน ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงาน วช., สวทช., สวรส., สกว.และ สวทน. โดยในอนาคตอาจรวม สวก. และ Granting Agency ด้านการวิจัยอื่นๆ ร่วมด้วย
  4. ขอให้ทุกหน่วยงานร่วมกันกำหนด Metadata (filed+format) , Taxonomy (classification ) ในส่วนของโครงการวิจัยที่เสร็จแล้ว ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน (ดำเนินการโดยคณะทำงานกลุ่มย่อย)

เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามมติข้างต้น ในการประชุมเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2553 ณ สวทน. จึงมีมติเห็นชอบในแนวทางการแยกปัญหาการพัฒนาระบบ TNRR ออกมาเป็นขั้นตอนง่ายๆ 6 ขั้นตอน และมีคณะทำงาน 6 คณะ และมีการปรับปรุงคณะทำงานโดยยุบเหลือ 5 คณะในปี 2555 โดยคณะทำงานทุกคณะจะทำงานร่วมกันภายใต้วัตถุประสงค์ของแต่ละคณะที่ชัดเจน (แต่มีการเชื่อมต่อกัน) ที่ประชุมได้มอบหมายให้ สวทช. ร่วมกับ วช. กำหนดแนวทางการดำเนินการและนำเสนอต้นแบบ TNRR ต่อที่ประชุม ทั้งนี้การดำเนินงานของ TNRR จะอยู่ภายใต้แนวทางที่ท่านเลขาธิการ วช. เสนอ ดังนี้

  1. การเชื่อมโยงข้อมูลอยู่บนพื้นฐานที่จะไม่มีการรวมศูนย์ ไม่มีการรบกวนการดำเนินงานด้านฐานข้อมูลของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือเข้ามาร่วมเชื่อมโยง
  2. แต่ละหน่วยงาน ยังคงรับผิดชอบฐานข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัยของตนเอง และดูแลจัดทำให้ทันสมัยตามระบบของแต่ละหน่วยงาน แต่ขอให้คำนึงถึงมาตรฐานสากลของการจัดเก็บข้อมูลที่ปรากฏในฐานข้อมูล
  3. การเชื่อมโยงใช้วิธีการทำงานระบบเปิด โดยเสนอให้ทุกฐานข้อมูลสามารถรองรับมาตรฐาน OAI-PMH (Open Archives Initiative – Protocol for Metadata Harvesting)
  4. การเชื่อมโยงในระยะแรก จะเชื่อมโยงข้อมูลการวิจัยที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว และเปิดเผยได้ (ยกเว้นกรณีที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ และการยื่นจอจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา)

คณะทำงาน TNRR

 

ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STKS) ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนโครงการนี้ร่วมกับเนคเทคอย่างเต็มรูปแบบ และได้ศึกษาเทคโนโลยีซึ่งน่าจะแก้ปัญหาของระบบเดิมที่ทำอยู่ จึงได้ทดลองเปลี่ยนจากระบบสรรสารที่ทำงานกับข้อมูลสถิตย์ เป็นการใช้เทคโนโลยีการเก็บเกี่ยวเมทาเดทาแบบเปิด หรือ OAI-PMH (Open Archives Initiative - Protocol for Metadata Harvesting) เพื่อให้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต้นทางของหน่วยงานให้ทุนวิจัย (ที่จัดทำขึ้นตามมาตรฐานนี้) ไหลเข้าสู่ Thai Research ได้อย่างอัตโนมัติ และจากการที่ระบบ Thai Research V.2 เป็นระบบที่สนับสนุน OAI-PMH เช่นกัน จึงทำให้ระบบอื่นๆ ที่สนับสนุน OAI-PMH สามารถเก็บเกี่ยวข้อมูลจาก Thai Researchได้อย่างอัตโนมัติและรวดเร็ว ผลที่ได้จากการใช้มาตรฐานนี้ คือ ทุกหน่วยงาน สามารถบริการค้นหาข้อมูลวิจัยภาพรวมของประเทศไทยได้โดยสะดวก และไม่ต้องเสียงบประมาณจ้างพัฒนาระบบฐานข้อมูลหรือพัฒนาเว็บอีก อันสอดรับกับกระแสโลกเรื่อง Open Access และ Open Archives ซึ่งจะช่วยให้การค้นหาข้อมูลจากต่างประเทศทำได้โดยสะดวกเช่นกัน การดำเนินการโครงการ Thai Research ของ STKS ได้เริ่มจากการนำซอฟต์แวร์ Open Source ในกลุ่ม Institutional Repository และสอดรับกับเทคโนโลยี OAI-PMH มาประยุกต์ใช้ ได้แก่ DSpace (http://www.dspace.org) จากนั้นได้นำข้อมูลจากระบบ Thai Research เดิม Export และ Import เข้าสู่ Dspace

เมื่อนำผลงานวิจัย ผลงานวิชาการจากหน่วยงานต่างๆ เข้าระบบแล้ว STKS ได้พัฒนาระบบรายงานผลข้อมูลแบบออนไลน์ Online Report รวมทั้งขอรับการสนับสนุนจากนักวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เพื่อนำข้อมูลจากระบบไปประมวลผลในรูปแบบระบบสืบค้นนักวิจัย หรือ Expert Finder เพื่อสามารถค้นหานักวิจัยจากคำค้น อันเป็นต้นแบบการพัฒนาระบบค้นหาผู้เชี่ยวชาญต่อไป

เนื่องจาก TNRR รุ่นนี้ใช้วิธีการดึงข้อมูลเดิมจาก Thai Research เดิมทำให้ข้อมูลที่มีอยู่ไม่ทันสมัย และยังไม่สามารถเชื่อมจากแหล่งข้อมูลต้นทางจริงๆ ได้อย่างอัตโนมัติ STKS จึงประสานกับหน่วยงานให้ทุนวิจัย ร่วมมือกันพัฒนาฐานข้อมูลงานวิจัยของหน่วยงานที่ให้ทุนวิจัยตามมาตรฐาน OAI-PMH โดยใช้ Open Source Software เป็นฐาน หน่วยงานเพียงบรรจุข้อมูลลงสู่ฐานต่างๆ ได้ผลสรุปดังนี้ 

  1. สวทช. เลือกใช้ Drupal + Bibliography + OAI2 พัฒนาฐานข้อมูลงานวิจัยที่สามารถเผยแพร่ได้และเสร็จสิ้นโครงการวิจัย โดยเข้าถึงได้ที่ http://nstda.or.th/thairesearch 
  2. สกว. เลือกใช้ Drupal + Bibliography + OAI2 พัฒนาฐานข้อมูลงานวิจัย 
  3. สวรส. เลือกใช้ DSpace พัฒนาฐานข้อมูลงานวิจัย 

จากนั้นจึงใช้โปรแกรม DSpace ทำหน้าที่เป็น Harvester ดึงบรรณานุกรมจากฐานข้อมูลข้างต้นมาเก็บอย่างอัตโนมัติ

เอกสารการประชุมเชิงปฏิบัติการ "การพัฒนาความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลผลงานวิจัยข้ามหน่วยงาน ตามแนวทางมาตรฐาน TH e-GIF (ครั้งที่ 4) เรื่อง แนวทางการพัฒนาระบบคลังข้อมูลงานวิจัยไทย  Thai National Research Repository

ทังนี้ STKS ยังได้ช่วยสนับสนุนด้านเทคนิคให้กับหน่วยงานอื่นๆ ที่ยังไม่มีระบบตามมาตรฐาน OAI-PMH พัฒนาระบบให้กับหน่วยงาน โดยแนะนำโปรแกรม Drupal เป็นเครื่องมือหลัก รวมทั้งได้ทำงานร่วมกับ วช. ในการพัฒนา IR Data Center ซึ่งเป็นอีกเครื่องมือที่ทำหน้าที่เสมือนคลังผลงานวิจัยรายหน่วยงาน ที่นำเข้าด้วยการนำเข้าแฟ้ม CSV และเชื่อมผ่าน OAI ให้อัตโนมัติ เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนระบบให้รองรับ OAI-PMH ได้

นอกจากนี้ยังได้พัฒนาส่วนแสดงผลข้อมูลให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้เข้าใช้งาน โดยเลือกใช้ Joomla เป็นส่วนพัฒนาหน้าเว็บสำหรับผู้ใช้งาน TNRR ดังแผนภาพ

TNRR

ปี 2556 คณะทำงานฯ ยังได้ร่วมกันพัฒนาระบบยื่นขอทุนวิจัยแบบที่เดียว รวมทั้งระบบฐานข้อมูลนักวิจัย และระบบความสามารถระบบค้นหาผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม เพื่อให้ทันต่อการยื่นขอทุนแบบมุ่งเป้าในปีงบประมาณ 2557