บุคลากร สวทช. ที่กำลังจะเกษียณอายุ : นางสาวศิรินาถ แถบทอง

บทสัมภาษณ์นางสาวศิรินาถ แถบทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
ด้านบริหารทั่วไป เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ สวทช. ที่จะเกษียณอายุงาน  

ตามที่ สวทช. มีนโยบายการบริหารบุคลากร ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการบริหารจัดการและดูแลอย่างใกล้ชิด ตามแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) การยกระดับระบบบริหารด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการดูแลพนักงานและพนักงานโครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอายุ

ทั้งนี้ ฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคล ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และฝ่ายผลิตสื่อสมัยใหม่ สวทช. ได้คำนึงถึงความสำคัญขององค์ความรู้ และการถ่ายทอดบทเรียนจากองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงานของ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญ ศักยภาพ ความสามารถในการบริหารจัดการ ตลอดจนประสบความสำเร็จในสายงานอาชีพ และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินงาน KS6-2 (SI3-2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนและองค์ความรู้ของพนักงานและพนักงานโครงการ ที่จะเกษียณอายุงาน เพื่อนำไปแบ่งปันและเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ให้กับบุคลากรของ สวทช. โดยให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในด้านต่างๆ และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของพนักงานและพนักงานโครงการที่จะเกษียณอายุงาน รวมทั้งสามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

สำหรับบทสัมภาษณ์นี้สัมภาษณ์นางสาวศิรินาถ แถบทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ด้านบริหารทั่วไป เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 เพื่อสัมภาษณ์ประเด็นประสบการณ์การทำงานซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรและบุคลากร 

ข้อมูลเบื้องต้น 

  • นางสาวศิรินาถ แถบทอง
  • )

แนะนำตัวเอง 

เริ่มงานครั้งแรกราวปี 2531 หลังจากจบการศึกษา และได้สอบบรรจุเป็นข้าราชการด้วยการสอบ ก.พ. เริ่มทำงานเป็นข้าราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ชื่อกระทรวงในสมัยนั้น) และในปี 2534 มีพระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2534 จึงได้มาร่วมงานกับ สวทช.  

การทำงานในช่วงแรก อยู่ที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) ที่ทำงานอยู่ ศช. ทำงานทางด้านการเงินและบัญชี กระทั่งดำรงตำแหน่งผู้จัดการด้านการเงินและบัญชี และย้ายไปเป็นผู้จัดการงานพัสดุ ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่าในสมัยที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.มรกต ตันติเจริญ เป็นผู้อำนวยการ ศช. โครงสร้างงานพัสดุแยกการบริหารจัดการด้านพัสดุส่วนสำนักงาน และพัสดุส่วนห้องปฏิบัติการออกจากกัน แต่เมื่อพี่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ในตำแหน่งเป็นผู้จัดการงานพัสดุ ศช. โดยผู้บริหารจึงเห็นควรให้มีการรวมพัสดุส่วนสำนักงานและห้องปฏิบัติการ โดยดูแลทั้ง ศช. พี่ได้รวมการบริหารงานด้านพัสดุทั้ง 2 ด้านไว้ที่เดียวกันเพื่อให้การบริหาร การดูแล และการให้บริการ ครอบคลุม บุคลากรได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และมีความเชี่ยวชาญ ชำนาญการยิ่งขึ้น จัดการสะดวกและรวดเร็ว แลพี่ได้รับการต่อมาในช่วงประมาณปี 2556 ศช. ได้ให้พี่ทำหน้าที่ในตำแหน่งเลื่อนตำแหน่งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานทั่วไปราว 3 ปี และในช่วงปลายปี 2559 ได้รับการทาบทามจาก รอง ผพว. ดร.ลดาวัลย์ กระแสร์ชล ให้พี่มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายด้านการเงินและบัญชี เพื่อมาช่วยในบทบาทการทำงานระดับ Share Service ของ สวทช. ที่ว่างลงเนื่องด้วย ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและบัญชี ได้รับตำแหน่ง ผช.ผพว.   

การทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและบัญชี พี่ทำงานและมองไปข้างหน้ากล่าวคือ ในช่วงปี 2560 ประเทศไทย เริ่มรณรงค์เรื่อง paperless ได้เริ่มหารือเรื่องนี้กับทีมไอที ของ สวทช. เพื่อร่วมกันหาแนวทางและปรับรูปแบบการทำงานด้านการเงินจากงานกระดาษให้เป็นงานระบบ เรียกได้ว่า สวทช. เป็นหน่วยงานรัฐหน่วยงานแรกๆ ที่งานด้านการเงินและบัญชีที่ทำงานแบบ paperless และเราได้มี MOU ฉบับแรกของประเทศในสมัย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล (อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559 – 26 สิงหาคม พ.ศ. 2565) ได้ลงนามร่วมกับ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ขอให้มีการตรวจสอบการทำงานด้านการเงินและรับรองรายการการเงินและบัญชี สวทช. ที่อยู่ในระบบและเป็น Soft file ของ สวทช. ซึ่งได้มีการวางรูปแบบไว้ในระบบที่ใช้งานกันแบบระบบ ทั้งหมดและเราได้ทำงานกันเรื่อยมา จากการทำงานด้านการเงินและบัญชี ทำให้พี่มีประสบการณ์ในด้านการบริหารจัดการด้านบุคลากรด้านสำหรับฝ่ายการเงินและบัญชี และเกิดการขับเคลื่อนระบบต่างๆ ให้สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง 

ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (พ.ศ.2566-ปัจจุบัน) ได้ทาบทามให้พี่ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ที่ผู้บริหารมองเห็นความสามารถและไว้วางใจว่าจะสามารถทำประโยชน์ให้กับ สวทช. ได้ จึงอยู่ช่วยงานทางนี้ก่อนและยังไม่ไปรับตำแหน่งที่ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ 

เทคนิคการทำงานในแต่ละช่วงเวลา 

การทำงานในทุก ๆ ตำแหน่งที่ได้รับ สิ่งที่ดีที่สุดเราจะต้องสัมผัสงานด้วยตัวเองทุกงาน เพื่อให้เราได้รู้ในแก่นของงาน เราจะได้รับรู้ในเนื้องานเพื่อการก้าวต่อไปในงาน

ขอเล่าย้อนไปในสมัยที่พี่อายุราว 20 กลางๆ การได้รับการสอนงานหรือการถ่ายทอดงาน พี่เล่าได้เลยว่าในสมัยก่อนเป็นการสอนงานแม้กระทั่งการเขียนหนังสือภายนอก หรือเขียนบันทึกภายใน เจ้านายจับมือเขียน เราต้องใช้เวลาอยู่กับนายนานมาก สอนแม้กระทั่งว่าจะขึ้นเนื้อหาต้นประโยค กลางประโยค และท้ายประโยคกันอย่างไร เนื้อหาช่วงกลางเป็นอย่างไร และลงท้ายอย่างไร เรื่องนี้ถูกฝึกมาโดยตลอด เมื่อเราถูกฝึกถูกสอนมันเหมือนเราได้เรียนรู้เทคนิคจากงานโดยตรงมันก็จะสามารถทำงานไปในเนื้องานอื่นๆ ได้ เพราะฉะนั้นเราจะต้องรู้วิธีการต่างๆ เวลาเราทำงานชิ้นหนึ่งเราอย่ามองว่าทุกอย่างจะเหมือนกันทั้งหมดมันจะต้องสามารถประยุกต์ใช้ได้ และผสมผสานการทำงานไปด้วยกันได้ทั้งหมด

สมัยทำงานอยู่ที่ ศช. พี่ทำงานกับนักวิจัยได้สัมผัสกับนักวิจัย นักวิจัยเมื่อเดินมาหาเราเค้ามีความต้องการที่จะได้คำตอบ ไม่มีนักวิจัยคนไหนไม่มีความต้องการคำตอบ หากไม่อยากได้คำตอบเค้าไม่เดินมาหาเราเค้าก็ทำงานของเค้าตามปกติเพราะว่านักวิจัยเวลาสำคัญที่สุด นักวิจัยเคยพูดกับพี่ว่า “ถ้ามีคุณแล้วเป็นเพียงแค่หนังสือ 1 เล่มที่เปิดอ่านเมื่อไหร่ก็ได้ไม่จำเป็นต้องมี” เพราะฉะนั้นหากนักวิจัยมีปัญหาเราจะต้องมีทางออกโดยทางออกที่พี่ตั้งปณิธานไว้ว่าทางออกที่จะไปนั้นจะต้องเป็นทางออกที่ถูกต้องและโปร่งใส ถ้าทุกคนทำได้แบบนี้ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในวันนี้ วันพรุ่งนี้ และวันต่อๆ ไปมันก็คือความถูกต้องทั้งหมด การทำงานและต้องไม่หยุดการเรียนรู้ที่จะต้องเรียนรู้ต่อไป และในปัจจุบันเราทำงานกับหลาย generation ในสถานการณ์เดียวกันเวลาเดียวกัน วิธีการทำงานสามารถผสมผสานกันได้ทั้งการทำงานแบบสมัยดั้งเดิม และการทำงานแบบสมัยใหม่ เนื่องจากการทำงานแบบดั้งเดิมมีโครงสร้างที่ดีอยู่แล้วเพียงแต่มาอาศัยวิธีการใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับการทำงานอันนี้เป็นสิ่งที่จะมีประโยชน์กับทุกคน เรื่องของความอดทนเป็นอีกสิ่งที่สำคัญถ้าเราตั้งใจทำงานและมีความอดทน การทำงานมีทั้งความสุขมีทั้งความทุกข์เราต้องมองทุกเรื่องให้อยู่กลาง “ถ้าเรามองสูงเราก็ทุกข์ เรามองต่ำเราก็สุข” ฉะนั้นขอให้มองทุกเรื่องแบบกลาง และเราก็มีอะไรก็คุยกันถามกันการคุยกันเป็นสิ่งที่ทำให้การทำงานได้ผลที่เป็นประโยชน์ที่สุด 

ความท้าทายสำคัญในการทำงานและการรับมือ 

ความท้าทายในการทำงาน แน่นอนในการทำงานและภาระหน้าที่ที่รับผิดชอบวนอยู่กับเรื่องการเงินและบัญชี มีหลายเหตุการณ์ที่เป็นความท้าทาย โดยขอยกเหตุการณ์สำคัญ ๆ 3 เหตุการณ์มาบอกเล่าให้ฟัง

เหตุการณ์แรก เรื่องการขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวนเงินประมาณ 50,000 กว่าบาทที่ สวทช.จะต้องสูญเสียเนื่องจากใบกำกับภาษี และใบเสร็จรับเงินไม่ใช่ชื่อของ สวทช. เพราะฉะนั้นเราจะไม่สามารถของคืนเงินกับกรมสรรพากรได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นพี่รวม 3 กำลัง ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและบัญชี และพี่ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในสมัยพี่ยังทำงานที่ ศช. ก็จำเหตุการณ์ไม่ได้แล้วว่าทำไมมาชวนพี่ไป [หัวเราะ] เพื่อไปชี้แจงข้อมูลเพื่อขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มกับผู้อำนวยการด่านศุลกากรที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ความท้ายทายที่เกิดขึ้นคือเราจะสามารถต่อรองและให้ข้อมูลเพื่อขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่ ด้วย ผอ.ด่านศุลากรฯ ท่าทีในตอนแรกไม่พร้อมที่จะพบพวกพี่ แต่พวกพี่ไม่ย่อท้อเรียกว่า “ดื้อ” [หัวเราะ] ที่จะอยู่เพื่อให้มีโอกาสได้พบกับท่านและหาทางออกไปด้วยกัน เพื่อให้ข้อเท็จจริง จนสุดท้าย สวทช. ได้เงินคืน เราผ่านปัญหาตรงนี้มาได้ด้วยทีมเวิร์ค 

เหตุการณ์ที่สอง เรื่องการขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม 100 กว่าบาท แม้จะเป็นเงินเพียงหลักร้อยบาท แต่พี่
ก็ต้องการขอคืนเพื่อพิสูจน์ให้รู้ว่าของสิ่งนี้เป็นของเรา สิ่งที่เกิดขึ้น สวทช. ได้รับใบเสร็จเถื่อน ซึ่งส่วนนี้เราไม่สามารถ
รู้ได้ว่าใบเสร็จทุกฉบับ ฉบับไหนเป็นใบเสร็จเถื่อนในเมื่อมีเอกเสารถูกต้องครบถ้วนทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นชื่อ ที่อยู่ รายการ จำนวนเงิน ลายมือชื่อผู้รับเงิน เราจะไปรู้ได้อย่างไรว่าใบเสร็จนี้เถื่อนหรือไม่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ สวทช. ซื้อกระดาษ flipchart เพื่อใช้ในการอบรม/สัมมนา โดยซื้อกับบริษัทรีไซเคิลแห่งหนึ่ง ซึ่งกระดาษ flipchart ไม่ควรจะต้องไปซื้อกับบริษัทรีไซเคิลแห่งนี้ กรมสรรพากรทำการตรวจ สวทช. ในฐานะผู้ซื้อ แต่ปรากฏว่าเอกสารชุดนี้เซลล์ใช้เป็นเอกสารเถื่อนมันเหมือนมีใบเสร็จอีกฉบับหนึ่ง กรมสรรพากรเรียกพี่เข้าไปพบว่าเอกสารชุดนี้ไม่สามารถขอคืน Vat 7% ได้เนื่องจากเป็นเอกสารเถื่อนตามข้อกฎหมาย พี่ให้ข้อมูลกับทางกรมสรรพากรไปว่า “เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเอกสารชุดนี้เป็นเอกสารที่ไม่ถูกต้อง” ดังนั้นในฐานะผู้จ่ายเงินและได้เอกสารมาครบถ้วนก็จะต้องยื่นเรื่องเพื่อขอคืนเงิน Vat เนื่องจากเป็นหน่วยงานรัฐที่เข้าสู่ระบบ Vat  กรมสรรพากรถามกลับมาว่า “ทำไมถึงไม่ทำการซื้อผ่านกระบวนการทางพัสดุ” พี่แจ้งกลับไปว่า “ทาง สวทช. มีดำเนินการภายใต้ระเบียบในการดำเนินการจัดซื้อโดยในวงเงินไม่เกิน 5,000 บาท เราสามารถจัดซื้อได้โดยตรงผ่านกระบวนการเบิกจ่าย” กรมสรรพากรแจ้งว่าหาก สวทช. ยังยืนยันที่จะขอคืนเงินจำนวนนี้เค้าจะทำเรื่องถึงกรมบัญชีกลางหน่วยงานในระดับประเทศ เพื่อตรวจสอบ สวทช. เรื่องนี้สอนว่า บางครั้งการอธิบายการทำงานที่ให้ความคล่องตัว มีวิธีและระเบียบหน่วยงานให้ปฏิบัติก็ยากในการอธิบายให้กับหน่วยงานภายนอกเข้าใจในลักษณะการทำงาน และบางครั้งสื่อสารแล้วผู้รับฟังก็อาจจะไม่เห็นอุปสรรคในการทำงาน เมื่อเราทราบเรื่องนี้จึงนำเรื่องนี้กลับมาหาแจ้งต่อ รอง ผพว. ดร.ลดาวัลย์ กระแสร์ชล ผู้บริหารว่า “ไม่ขอสู้แล้วนะคืนเงินจำนวนนี้ขอจ่ายเอง” ดร.ลดาวัลย์ ผู้บริหารรับทราบและแจ้งว่าไม่ต้องสู้แล้วเพราะหากสู้ต่อไปเรื่องราวจะยาว เหตุการณ์นี้มีจุดที่จะต้องตัดสินใจเพราะฉะนั้นเวลาเราไปคุย “เรื่องไหนควรหยุดก็ต้องหยุแต่เราจะต้องรับผิดชอบ” อันนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ

เหตุการณ์ที่สาม การต่อรองการรับทุนมูลค่า 500 ล้านบาท สวทช. โดย ผช.ผพว. คุณวลัยทิพย์ โชติวงศ์พิพัฒน์ และพี่ เข้าพบสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เพื่อหารือโครงการขนาดใหญ่มูลค่าหลักร้อยล้าน การให้ทุนของ สอวช. ไม่ได้วางแผนเรื่องของภาษีเอาไว้ กล่าวคือ หากเรารับเป็นรายได้ด้วยมูลค่า 500 ล้านบาท จะต้องนำมาคูณภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ดังนั้นตัวเงินจะเพิ่มเป็น 535 ล้านบาท สอวช. ขอต่อรองกับว่าจะขอจ่ายแค่ 500 ล้านบาท เรื่องนี้พี่ยอมไม่ได้ยืนยันว่าไม่ได้เพราะ สวทช. ไม่มีเงินจ่าย 35 ล้านบาทให้กับกรมสรรพากร เพราะมูลค่าทุน 500 ล้านบาท เงินทุนที่เราได้รับนำมาใช้ในการดำเนินโครงการ
แต่ทาง สอวช. ยืนยันว่าไม่มี เมื่อการหารือหาข้อสรุปไม่ได้ ผช.ผพว. คุณวลัยทิพย์ หันมาบอกกับพี่ว่า “กลับกัน”
พี่ 2 คนก็กลับกันออกมาเลย ระหว่างทางก็ถามกับ ผช.ผพว. คุณวลัยทิพย์ ไม่เสียดายเงินหรือ ผช.ผพว. คุณวลัยทิพย์ ตอบกลับมาว่าไม่ต้องเสียดาย โครงการที่เราไปหารือมานี้ในประเทศไทยไม่มีใครทำได้นอกจาก สวทช. เพราะ “งานชิ้นนี้คืองานของ สวทช.” และในที่สุด สอวช. ก็ให้ทุนเราทำโครงการที่ 535 ล้านบาทตามที่ได้หารือ (ยิ้ม) 

ความท้าทายที่เกิดขึ้นและการรับมือกับความท้าย เราต้องดูว่าความท้าทายที่เกิดขึ้นนั้นเราสามารถสู้ได้หรือไม่ ลองสู้ไปให้สุดก่อนหากผลออกมาว่าเราทำสำเร็จ เราก็ยิ้มรับ แต่ถ้าหากเราทำไม่สำเร็จก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมาเสียใจ แต่ให้นำสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นบทเรียนเพื่อให้เกิดความรอบครอบ และไม่ให้เกิดเหตุการณ์เดิมซ้ำอีก หรือในบางเรื่องไม่ต้องพูดเยอะไม่ต้องเสียเวลา บางเรื่องเราต้องมองให้ออกว่าสิ่งที่เราไปคุยนั้นคือ ศักยภาพและความสามารถของ สวทช. เราต้องรู้จุดนี้ให้ได้เพื่อที่จะสามารถต่อรองได้

แนวทางในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับทีม 

วิธีการส่งต่อหรือถ่ายทอด คือ 1. ให้เจอเหตุการณ์จริง 2. ร่วมทำงานไปกับทีม 3. รีบเข้าไปหากพบว่ามีปัญหา อุปสรรค หรือมีข้อผิดพลาดเราจะไม่ปล่อยผ่านจะเข้าไปช่วยและให้คำแนะนเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทันที จาก 3 ข้อที่กล่าวไว้ สิ่งที่สอนน้องเสมอถ้ามีปัญหา อุปสรรค อย่าหยุดต้องบอกให้เร็วที่สุดเพราะปัญหาและอุปสรรค ต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาด้วยความรวดเร็ว  

ขณะที่เป็น ผอ.ฝ่ายการเงินและบัญชี และจะต้องมอบหมายงานต่อให้กับ นายสุภัค พงศ์ปิยะประเสริฐ เพื่อมารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและบัญชี เนื่องจากพี่ต้องขยับไปรับตำแหน่ง ผช.ผพว. ด้านบริหารทั่วไป เวลาในการถ่ายทอดงานค่อนข้างกระชั้นชิดมาก การถ่ายทอดงานจึงต้องให้คุณสุภัค มาทำงานพร้อมไปกับพี่ ทำงานกันแบบ on  the job training สอนกันจนค่ำ [ยิ้ม] 

อนาคตอยากเห็น สวทช. ไปในทิศทางไหน 

วันนี้ สวทช. เป็นองค์กรใหญ่เบอร์ต้นๆ ของประเทศ สวทช. มีนักวิจัยที่มีคววามเชี่ยวชาญในหลายแขนง มีความรู้มีความสามารถ มีความเก่ง อนาคต สวทช. อาจจะต้องปรับปรูแบบเพื่อให้มีการดูแลบุคลากรอย่างทั่วถึง อยากเห็น สวทช. split บางส่วนไปสู่ภาคเอกชน หรือว่าจะเป็นหน่วยงานเกิดขึ้นใหม่โดยนำประสบการณ์ที่มีอยู่นี้ไปต่อยอด
จะได้ไปเติบโตและสร้างความสามารถให้กับประเทศในมิติต่างๆ 

ปัจจุบันนี้ ผพว. มุ่งเน้นไปทางด้าน Core Business ยกตัวอย่าง FoodSERP จะเน้นทางภาคอุตสาหกรรมอาหารแบบครบวงจร ตรงนี้มองเห็นว่า สวทช. มีองค์ความรู้ มีความพร้อมแล้วก็น่าจะไปตั้งเป็นหน่วยงานใหม่ได้เลย เพราะจะทำให้ภาคอุตสาหกรรม หรือภาคอาหารของประเทศ ได้รับประโยชน์ จากการประชุมวิชาการ สวทช. NAC2023 ที่ผ่านมามีหลายคนพูดถึง FoodSERP น่าจะเป็นสิ่งที่ยั่งยืนให้กับ สวทช. และประเทศไทย  

ความประทับใจที่มีต่อ สวทช. 

ประทับใจหลายส่วน สวทช. ดูแลบุคลากรดีมาก ให้ความพร้อมกับบุคลากรได้เป็นอย่างดี อีกความประทับใจหนึ่งคือ
พี่สามารถคุยกับนักวิจัยและได้รับการถ่ายทอดความรู้ที่ดีจากนักวิจัย ยกตัวอย่างเช่น พี่ไม่เข้าใจเรื่องสารเคมีบางตัวว่าชื่อสารเคมีชื่อเดียวกัน ความเข้มข้นเท่ากัน ทำไมจะต้องซื้อสารเคมียื่ห้อนี้ พี่ต้องขอเข้าไปคุยกับนักวิจัย โดยนักวิจัยจะให้ความรู้ว่าการทำงานกับสารเคมีต้องผ่านการทดลองความเข้มข้น ถึงแม้ว่าจะพิสูจน์ออกมาแล้วเป็นตัวเลข แต่ว่าในผลการทดลองจะต้องทำการทดลองเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ เค้าจะไม่กลับไปตั้งต้นใหม่ เมื่อเค้าเริ่มต้นด้วยสารตัวนี้เค้าก็จะต้องไปต่อกับสารตัวนี้เพราะฉะนั้นจะมีบ่งชี้บริษัท เค้ายอมรับเพราะทุกอย่างผ่านการทดลองมาหมดแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้นักวิจัยจะบอกเล่าให้เราได้รับทราบข้อมูล การจะไปคุยกับนักวิจัยเราจะต้องกล้าที่จะถามเค้าจะอธิบายให้เราได้รับสิ่งที่เราจะกลับมาทำงานได้ เราก็จะสามารถจัดการหรือสนับสนุนเรื่องอุปกรณ์เรื่องสารเคมีต่างๆ เพื่อกลับไปทำงานได้อย่างโปร่งใส 

การวางแผนการใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างไรบ้าง 

ชีวิตหลังเกษียณมีจุดหันเหนิดหน่อย เพราะตั้งใจไว้ว่าหากเกษียณอายุงานในวัย 60 ปีจะหยุดการทำงาน และตั้งใจกลับภูมิลำเนาเพื่อไปใช้ชีวิตหลังเกษียณที่ จังหวัดนครราชสีมา แต่ระหว่างนี้มี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
ได้ทาบทามให้ไปช่วยงาน พี่มองตัวเองว่ายังพอมีกำลังจึงตัดสินใจไปช่วยงานต่ออีกประมาณ 5 ปี

การเตรียมตัวก่อนเกษียณ ไม่พ้น 2 เรื่อง คือ เรื่องการเตรียมตัวเรื่องของสุขภาพ เรื่องของสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพสำคัญต่อให้เรามีความรู้แต่ถ้าสุขภาพไม่เอื้ออำนวยก็จะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เพราะฉะนั้นสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ ขอให้ทุกคนดูแลสุขภาพ ดูแลชีวิต ดำรงชีวิตที่อยู่ในสายกลาง และทำงานโดยไม่หักโหมเกินไป และเรื่องที่สองคือ การออม พี่มีโอกาสได้ฟังประธานตลาดหลักทรัพย์ ขอมาบอกเล่าต่อน้องๆ ว่า ถ้าอยากจะออมอะไรในชีวิตหลังการทำงานหรือเกษียณอายุงาน ขอให้เริ่มออมตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน เราออมไปเลยจนกระทั่งครบอายุ 60 เราจะมีเงินประมาณ 100 เท่า ของเงินปกติ มันจะทวีขึ้่นทั้งหมด ถ้าพี่เปรียบเทียบนะ ในชีวิตการทำงานของพี่สามารถซื้อทองได้ปีละ 1 บาท ถ้าพี่หวนเวลากลับไปได้พี่จะมีทองประมาณ 35 บาทส่วนต่างราคาทองเมื่อ 30 ปีก่อน กับปัจจุบันนี้สามารถสร้างมูลค่าให้เราไม่น้อยเลย [ยิ้ม] 

ข้อมูลที่กล่าวถึง