• showcase_1.jpg
  • showcase_2.jpg
  • showcase_3.jpg
  • showcase_4.jpg
  • showcase_5.jpg
  • showcase_6.jpg
  • showcase_7.jpg
  • showcase_8.jpg
  • showcase_9.jpg
  • showcase_10.jpg
  • showcase_11.jpg
  • showcase_12.jpg

ทองผาภูมิตะวันตก

  แนะนำชุดโครงการทองผาภูมิตะวันตก: เป้าหมาย ผลการดำเนินการ และทิศทางในอนาคต
  Fish Abundance in the Rivers of Thong Pha Phum
  Thong Pha Phum; Synthesis of the Aquatic Projectswith a View to the Future
  Ecological Studies on River Fishes in Central Thailand
  The Water Bugs (Hemiptera; Heteroptera) from the Western Thong Pha Phum Research Project Area, Kanchanaburi Province, Thailand
  ความหลากหลายของสโตนฟลาย (Order Plecoptera) และริ้นดำ (Order Diptera: Family Simuliidae) ในเขตป่าทองผาภูมิ
  Effect of Local Land use on Benthic Macroinvertebrates in Headwater Streams, Western Thailand
  Biodiversity, Community Structure and Bioassessment of Water Quality in Thong Pha Phum District, Western Thailand
  Diversity of Aquatic Insects in Some Stream of Thong Pha Phum National Park, Kanchanaburi Province,
  Diversity of Macroalgae and Benthic Diatoms in the Area of the Golden Jubilee Thong Pha Phum Project, Thong Pha Phum District, Kanchanaburi Province, Thailand
  ภาพรวมงานวิจัยจุลินทรีย์ในชุดโครงการทองผาภูมิตะวันตก
  Pteridophyte Flora of Thong Pha Phum National Park, Kanchanaburi Province
  ความหลากหลายของไบรโอไฟต์ในอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
  Diversity of Vascular Plants in Spring Water Swamp Areas of Thong Pha Phum District, Kanchanaburi Province, Thailand
  Pteridophyte Diversity along a Gradient of Disturbance within Mines in Thong Pha Phum District, Kanchanaburi Province
  ความหลากหลายของเฟิร์นและพืชใกล้เคียงเฟิร์นในป่าธรรมชาติและตามแนววางท่อก๊าซธรรมชาติ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
  ความหลากหลายของพืชมีท่อลำเลียงบริเวณพื้นที่พุชุมชนบ้านท่ามะเดื่อ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
  การศึกษาทางอนุกรมวิธานของหญ้า (วงศ์ Gramineae) ในพื้นที่ทองผาภูมิตะวันตก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
  การศึกษาอนุกรมวิธานของไผ่ (วงศ์ Poaceae) สกุลไผ่ป่า (Bambusa Schreber) สกุลไผ่ตง (Dendrocalamus Nees) และสกุลไผ่ไร่ (Gigantochloa Kurz) ในผืนป่าตะวันตก
  การศึกษาอนุกรมวิธานของพืชวงศ์ขิง (Zingiberaceae) ในพื้นที่ป่าทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
  การศึกษาอนุกรมวิธานของพรรณพืชวงศ์เข็ม (Rubiaceae) ในพื้นที่ป่าทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
  การศึกษาอนุกรมวิธานของพรรณไม้วงศ์ถั่ว-อนุวงศ์ราชพฤกษ์ในพื้นที่ป่าทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
  พรรณไม้วงศ์กระดังงาที่พบบริเวณอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
  การพัฒนารูปแบบของไม้ดอกหอมในด้านไม้ดอกไม้ประดับและน้ำมันหอมระเหย
  การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนของพืชที่มีท่อลำเลียงและการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนในพื้นที่ทองผาภูมิตะวันตก
  Carbon Sequestration Potential in Aboveground Biomass of Thong Pha Phum National Forest, Thailand
  ภาพรวมงานวิจัยด้านสัตว์ในชุดโครงการทองผาภูมิตะวันตก
  รูปแบบความหลากหลายและความสัมพันธ์กับถิ่นที่อยู่อาศัยของชุมชนหอยทากบกบริเวณป่าทองผาภูมิ
  ไรน้ำนางฟ้าในตำบลห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
  ความหลากหลายและชีววิทยาของไรฝุ่นในอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และแนวทางการป้องกันกำจัดโดยใช้สมุน
  ความหลากชนิดของผีเสื้อหนอนม้วนใบวงศ์ย่อย Olethreutinae ในอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
  ความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกในผืนป่าทองผาภูมิตะวันตก
  ความหลากชนิดและนิเวศวิทยาบางประการของแมงมุมใยกลมในพื้นที่โครงการทองผาภูมิตะวันตก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
  ชีววิทยาของชันโรงสกุล Trigona และสกุล Hypotrigona ในโครงการทองผาภูมิ 72 พรรษามหาราช อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
  ความหลากหลายและขยายพันธุ์ชันโรง (Trigona spp.) เพื่อช่วยผสมเกสรให้กับลิ้นจี่ในโครงการทองผาภูมิ 72 พรรษามหาราช อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
  ความหลากหลายของชันโรงในสกุล Trigona และสกุล Hypotrigona (Apidae) และพฤติกรรมการเก็บยางไม้จากธรรมชาติ ในโครงการทองผาภูมิ 72 พรรษามหาราช อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
  ขอบเขตการกระจายตัวและนิเวศวิทยาถิ่นอาศัยของผึ้งม้าน (Apis andreniformis) ในตำบลห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
  มดในห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
  สถานภาพของสัตว์กินเนื้อขนาดเล็กในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 72 พรรษามหาราช อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และแนวทางการพัฒนาศักยภาพชุมชนในการจัดการสัตว์ป่า
  การจัดการปัญหาช้างทำลายพืชไร่บนฐานความรู้พฤติกรรมช้างและพฤติกรรมการร่วม มือเพื่อขับไล่ช้างของชุมชนท้องถิ่น กรณีศึกษา ณ อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
  ภาพรวมงานวิจัยจุลินทรีย์ในชุดโครงการทองผาภูมิตะวันตก
  แบคทีเรียผลิตกรดน้ำส้มสายชู (Acetic Acid Bacteria)
  Hirsutella thompsonii Fisher จากป่าเขตอำเภอทองผาภูมิ และผลของสารเมตาโบไลท์ของเชื้อราที่มีต่อหนอนกระทู้ผัก Spodoptera litura (Fabricius)
  ภาพรวมงานวิจัยระบบนิเวศสังคมมนุษย์ในชุดโครงการทองผาภูมิตะวันตก
  การเข้าถึงความรู้ของชุมชนด้วยกระบวนการสนทนาบทเรียนจากห้วยเขย่ง
  การพัฒนาระบบเฝ้าระวังการปนเปื้อนของสารกำจัดศัตรูพืชในพื้นที่เกษตรกรรมในบริเวณทองผาภูมิ
  Comparison of Associated Agrobiodiversity in Terms of Insects and Soil Mites in Two Farming Systems
  Local knowledge of Ethnic Groups on Termite Mushroom Conservation at Huai Khayeng, Kanchanaburi, Tha
  Network of Biodiversity Information Database System for Area-based Research, West Thong Pha Phum Pro

ป้ายเรียนรู้ บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติพุหนองปลิง

เส้นทางศึกษาธรรมชาติพุหนองปลิง ต.ห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี แหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศ พุ ระบบนิเวศเฉพาะถิ่น จ.กาญจนบุรี ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวความสัมพันธ์ของพืช สิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อมที่เกื้อหนุนกัน


เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โครงการ BRT ได้เข้าไปดำเนินการติดป้ายการเรียนรู้ และป้ายพรรณไม้ ตลอดเส้นทางศึกษาธรรมชาติพุหนองปลิง เพื่อสะดวกแก่นักท่องเที่ยวและผู้ที่จะเข้าไปท่องเที่ยวเรียนรู้ธรรมชาติในพุหนองปลิง


ตลอดเส้นทางกว่า 500 เมตรของสะพานศึกษาธรรมชาติ จะมีป้ายจุดการเรียนรู้ที่จะชี้ชวนให้ได้สังเกต เช่น ไบรโอไฟต์ ที่จะเกาะขึ้นอยู่หนาแน่นบนเปลือกไม้ อาจมีการขึ้นปะปนของเฟิร์นใบบาง ซึ่งเป็นเฟิร์นหายาก และขึ้นเฉพาะในที่มีความชื้นสูงเท่านั้น การสังเกตจะทำให้เห็นความน่าสนใจที่แอบซ่อนอยู่ หรือ รากพูพอน ชี้ชวนให้สังเกตการปรับตัวของพืช ให้สามารถคงลำต้นอยู่บนพื้นที่ชื้นแฉะตลอดเวลาได้ โดยไม่โค่นล้มลงมา

เส้นทางศึกษาธรรมชาติ และบรรยกาศในพุหนองปลิง


นอกจากนี้ยังมีป้ายบอกชื่อพรรณไม้ ทั้งไม้ยืนต้น มอส เฟิร์น กล้วยไม้ ซึ่งมีหลากหลายชนิด บางชนิดก็สามารถพบเห็นได้เกือบตลอดปี เช่น เตยใหญ่ ตังหนใบใหญ่ ชมพู่น้ำ ห้อมช้าง ผักหนาม หรือพวกกล้วยไม้ เช่น เอื้องกาบดอก เอื้องขาไก่ป่า กล้วยไม้กะเรกะร่อน พวกเฟิร์น เช่น กระปรอกหางสิงห์ กูดแต้ม ว่านหางนกยูง ข้าหลวงหลังลาย เป็นต้น


แต่บางชนิดต้องมาชมเฉพาะฤดูกาล เช่น กล้วยไม้ผีเสื้อน้อย เฟิร์นใบบาง และปูราชินี ซึ่งจะมีให้ชมเฉพาะในฤดูฝนเท่านั้น


การติดป้ายตามสะพานเส้นทางศึกษาธรรมชาติพุหนองปลิง จะช่วยให้ผู้เข้าชมได้รับความรู้ที่มีอยู่เต็มเปี่ยมในพุหนองปลิง และช่วยให้เข้าใจระบบนิเวศพุมากยิ่งขึ้น เหมาะกับการเข้าไปศึกษาพรรณไม้ และความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับระบบนิเวศ และยังได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ได้ทั้งความรู้และพักผ่อนไปพร้อมๆ กัน


ป้ายเรียนรู้ ดงห้อมช้าง


ป้ายชื่อพรรณไม้ เฟิร์นใบบาง

ความหลากหลายของสโตนฟลาย (Order Plecoptera) ในเขตป่าทองผาภูมิ

สโตนฟลาย (Stoneflies) เป็นแมลงที่จัดอยู่ในอันดับ Plecoptera ตัวอ่อนของสโตนฟลายทุกระยะอาศัยอยู่ในน้ำไหลที่มีอุณหภูมิค่อนข้างเย็นและคุณภาพน้ำค่อนข้างดีจึงมีการใช้สโตนฟลายเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำเช่นเดียวกันกับแมลงอีก 2 กลุ่มคือ อันดับ Ephemeroptera (ชีปะขาว) และ Trichoptera (แมลงหนอนปลอกน้ำ)  เรียกรวมกันว่า EPT (Ephemeroptera Plecoptera Trichoptera) แต่เนื่องจากสโตนฟลายส่วนใหญ่จะมีความไวต่อสภาพแวดล้อมมากกว่าชีปะขาวและแมลงหนอนปลอกน้ำ   ดังนั้นสโตนฟลายจึงเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญในการวัดคุณภาพน้ำโดยการใช้แมลงน้ำ นอกจากนี้ตัวอ่อนสโตนฟลายที่อาศัยอยู่ในน้ำยังมีความสำคัญในการเป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติอีกด้วย  

จากการศึกษาสโตนฟลายในแหล่งน้ำไหลในเขตพื้นที่ทองผาภูมิตะวันตก พบตัวอ่อนสโตนฟลายทั้งหมด 3 วงศ์ 1 วงศ์ย่อย 8 สกุล 9 ชนิด เมื่อนำมาเปรียบเทียบความหลากชนิดระหว่างแหล่งน้ำในพื้นที่ที่ถูกรบกวนกับแหล่งน้ำในพื้นที่ที่ไม่ถูกรบกวนพบว่ามีความแตกต่างกันเล็กน้อย โดยสโตนฟลายที่พบในพื้นที่ที่ถูกรบกวนมี  7 ชนิด ในขณะที่พื้นที่ที่ไม่ถูกรบกวนพบ 8 ชนิด ชนิดที่พบเฉพาะพื้นที่ที่ถูกรบกวนคือ Amphinemura sp. และชนิดที่พบเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่ถูกรบกวนคือ Phanoperla sp. และ Indonemoura sp. สรุปได้ว่า Amphinemura sp. เป็นชนิดที่มีความทนต่อมลภาวะในพื้นที่ที่ถูกรบกวนได้ ในขณะที่ Phanoperla sp. และ Indonemoura sp. มีความอ่อนไหวต่อมลภาวะและจำกัดแหล่งอาศัยอยู่เฉพาะในพื้นที่ที่ไม่ถูกรบกวนเท่านั้น

 

Amphinemura sp.สโตนฟลายที่ทนต่อมลภาวะและพบเฉพาะในพื้นที่ที่ถูกรบกวนเท่านั้น

 

Phanoperla sp. (ซ้าย) Indonemoura sp.(ขวา) สโตนฟลายสองชนิดนี้มีความไวต่อมลภาวะและพบเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่ถูกรบกวนเท่านั้น

 

เรื่อง/ภาพ : จริยา จันทร์ไพแสง, จำนงจิต ผาสุข และ กรกต ดำรักษ์
ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

สาหร่ายแห่งลุ่มน้ำทองผาภูมิ

สาหร่ายมีความสำคัญต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำ  ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตเบื้องต้นในห่วงโซ่อาหารและผลิตออกซิเจนสู่แหล่งน้ำในกระบวนการสังเคราะห์แสง  นอกจากนี้ยังเป็นอาหารคนและอาหารสัตว์  สามารถใช้บำบัดน้ำเสียและเป็นดัชนีชีวภาพบ่งชี้คุณภาพน้ำได้

ในระบบนิเวศน้ำไหล สาหร่ายที่เจริญได้ส่วนใหญ่จะเป็นชนิดเกาะติดกับพื้นท้องน้ำ ได้แก่ สาหร่ายขนาดใหญ่และไดอะตอมพื้นท้องน้ำ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง สาหร่ายแต่ละชนิดในกลุ่มดังกล่าวสามารถเจริญได้ในแหล่งน้ำที่มีสภาพแวดล้อมแตกต่างกันไป ดังนั้นจึงสามารถนำมาใช้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใช้ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำได้ อีกประการหนึ่งสาหร่ายในกลุ่มที่กล่าวมามีการศึกษากันน้อยมากในประเทศไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณภาคตะวันตกของประเทศ เช่น ในอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรีแห่งนี้ยังไม่มีรายงานการศึกษาสิ่งมีชีวิตเหล่านี้

การศึกษาความหลากหลายของสาหร่ายขนาดใหญ่และไดอะตอมพื้นท้องน้ำในพื้นที่โครงการทองผาภูมิ 72 พรรษามหาราช อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2544 – มกราคม 2546  จากจุดเก็บตัวอย่างทั้งหมด 8 จุด พบสาหร่ายขนาดใหญ่ทั้งหมด 61 สปีชีส์ จัดอยู่ใน 4  ดิวิชัน ส่วนใหญ่เป็นสาหร่ายสีเขียว Zygnema spp., Spirogyra spp. และ Stigeoclonium spp. ซึ่งจัดอยู่ใน Division Chlorophyta นอกจากนี้ยังพบสาหร่ายสีแดง Batrachospermum spp. และ Audouinella spp. ใน Division Rhodophyta และสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน Nostochopsis lobatus Wood และ Phormidium spp. ใน Division Cyanophyta

ส่วนไดอะตอมพื้นท้องน้ำ พบ 162 สปีชีส์ ใน Division Bacillariophyta ส่วนใหญ่เป็นไดอะตอมที่มีรูปร่างยาวเรียวคล้ายกระสวย (pennate diatoms) เช่น Achnanthes spp., Frustulia spp., Navicula spp. และ Gomphonema spp. นอกจากนี้ได้พบสาหร่ายชนิดที่ยังไม่มีรายงานมาก่อนในประเทศไทย 56 สปีชีส์  โดยเป็นสาหร่ายขนาดใหญ่ 11 สปีชีส์  และไดอะตอมพื้นท้องน้ำ 45  สปีชีส์ 

จากการใช้โปรแกรม Multivariate Statistical Package (MVSP) เวอร์ชั่น 3.1 เพื่อนำมาหาชนิดของสาหร่ายที่สามารถนำมาใช้ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำได้  พบว่า สาหร่ายขนาดใหญ่ Batrachospermum gelatinosum (Linnaeus) de Candolle และไดอะตอมพื้นท้องน้ำ Achnanthes minutissima Kützing var. minutissima และ Brachysira cf. neoexilis Lange-Bertalot สามารถใช้ติดตามตรวจสอบน้ำที่มีคุณภาพดีถึงปานกลางได้ ส่วนสาหร่ายขนาดใหญ่ Stigeoclonium lubricum (Dillwyn) Kützing และ Nostochopsis lobatus Wood และไดอะตอมพื้นท้องน้ำ Achnanthes biasolettian Grunow var. biasolettiana และ Gomphonema lagenula Kützing สามารถใช้ติดตามตรวจสอบน้ำที่มีคุณภาพปานกลางค่อนข้างเสียได้ 

องค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยในครั้งนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในสถาบันการศึกษาหรือชุมชนท้องถิ่นที่อยู่บริเวณที่ทำการวิจัยหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจในการใช้สาหร่ายขนาดใหญ่มาติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำ ทั้งนี้เนื่องจากสาหร่ายขนาดใหญ่นั้นสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าแตกต่างกับไดอะตอมที่จะต้องดูภายใต้กล้องจุลทรรศน์เท่านั้น ดังนั้นจึงมีความเหมาะสมในการที่ชุมชนนั้นๆ จะนำมาใช้ในการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำในบริเวณที่อาศัยอยู่ และช่วยกันคอยสอดส่องดูแลระวังภัยให้กับแหล่งน้ำที่ตนต้องใช้ในชีวิตประจำวันให้มีน้ำคุณภาพดีใช้ต่อไปอย่างยั่งยืน

 

สาหร่ายขนาดใหญ่ซึ่งแต่ละชนิดสามารถนำมาติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำที่แตกต่างกันได้

 

ไดอะตอมพื้นท้องน้ำ ในลุ่มน้ำทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

 

ข้อมุล/ภาพ : สุทธวรรณ สุพรรณ
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

การค้นพบสาหร่ายสีแดงน้ำจืดแห่งลุ่มน้ำทองผาภูมิ

สาหร่ายสีแดงเป็นสาหร่ายขนาดใหญ่ที่พบน้อยมากในน้ำจืด  สาหร่ายเหล่านี้จะอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่จำเพาะ เช่น สารอาหารค่อนข้างต่ำ ปริมาณแสงน้อย อุณหภูมิของน้ำต่ำ ดังนั้นจึงมักพบสาหร่ายน้ำจืดสีแดงในบริเวณต้นน้ำ  และอีกประการหนึ่งการศึกษาสาหร่ายกลุ่มนี้ในประเทศไทยยังมีน้อยมาก

เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่โครงการวิจัยเรื่องความหลากหลายของสาหร่ายขนาดใหญ่และไดอะตอมพื้นท้องน้ำ ในพื้นที่โครงการทองผาภูมิ 72 พรรษามหาราช อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ได้พบสาหร่ายสีแดงน้ำจืดเป็นจำนวนมากทั้งชนิดและปริมาณ โดยพบถึง 8 ชนิด และพบว่ามีถึง 5 ชนิด เป็นชนิดที่พบใหม่ (new record) และยังไม่เคยมีรายงานมาก่อนในประเทศไทย

หนึ่งในจำนวนนั้นคือ สาหร่ายสีแดงน้ำจืด Batrachospermum gelatinosum (Linnaeus) de Candolle ซึ่งพบเป็นจำนวนมากเหมือนป่าสาหร่ายสีแดง สาหร่ายดังกล่าวกระจายตัวครอบคลุมทั่วทั้งจุดเก็บตัวอย่างในลำธารบริเวณเขาจ๊อกต่อง พื้นที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ  ลักษณะสำคัญของสาหร่ายชนิดนี้คือ มีลักษณะเป็นพุ่มสีเขียวเข้ม ขนาดของแต่ละพุ่มประมาณ 0.1-0.2  เซนติเมตร เมื่อจับจะรู้สึกลื่นมือ และเมื่อนำมาศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์จะพบทัลลัสที่สวยงาม โดยมีลักษณะเป็นเส้นสายเล็กๆ ที่แตกแขนงได้ คล้ายลูกปัดเรียงต่อกันอย่างเป็นระเบียบ นอกจากนี้สาหร่ายชนิดนี้ยังสามารถนำมาใช้ในการติดตามตรวจสอบน้ำที่มีคุณภาพดีได้อีกด้วย

 

พบสาหร่ายสีแดงน้ำจืดจำนวนมาก ในลำธารบริเวณเขาจ๊อกต่อง




สาหร่ายสีแดงน้ำจืด Batrachospermum gelatinosum (Linnaeus) de Candolle ภายใต้กล้องจุลทรรศน์

 


ข้อมูล/ภาพ : สุทธวรรณ สุพรรณ
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

รายงานแมลงชีปะขาวพบครั้งแรกในประเทศไทย.....ที่ทองผาภูมิตะวันตก

แมลงชีปะขาวจัดอยู่ในกลุ่มของแมลงอันดับอีฟีเมอรอปเทอรา (Ephemeroptera) เป็นกลุ่มแมลงน้ำที่พบอาศัยอยู่ทั้งแหล่งน้ำนิ่งและแหล่งน้ำไหล ใช้ชีวิตส่วนมากเป็นตัวอ่อนอาศัยอยู่ในน้ำ ลักษณะเฉพาะของแมลงชีปะขาว คือ ระยะที่มีปีกมี 2 ระยะ คือ ตัวรองตัวเต็มวัย (subimago) ระยะนี้ปีกจะมีสีขุ่น ปกคลุมด้วยขนขนาดเล็ก กันน้ำได้ อวัยวะเพศยังเจริญไม่เต็มที่ จากนั้นจะลอกคราบอีกครั้งกลายเป็นตัวเต็มวัย (imago) ปีกใสเป็นเงา อวัยวะเพศเจริญเต็มที่พร้อมที่จะผสมพันธุ์และวางไข่ ตัวเต็มวัยของแมลงชีปะขาวจะไม่กินอาหารเนื่องจากโครงสร้างของส่วนปากลดรูปไป ทำให้ตัวเต็มวัยของแมลงชีปะขาวมีอายุสั้น คือ มีอายุประมาณ 1-2 ชั่วโมง จนถึง 14 วัน ตัวเต็มวัยของแมลงชีปะขาวทำหน้าที่ผสมพันธุ์และวางไข่เท่านั้น จากนั้นจะตายไปในช่วงผสมพันธุ์ 

โดยทั่วไปตัวอ่อนแมลงชีปะขาวมีแนวโน้มอาศัยอยู่ในแม่น้ำ ลำธาร ทะเลสาบ บ่อ หนอง บึงที่ไม่มีหรือมีการปนเปื้อนของมลพิษน้อย จัดเป็นกลุ่มที่มีความไวต่อมลพิษ ดังนั้นจึงมีการใช้ตัวอ่อนแมลงชีปะขาวเป็นดัชนีชีวภาพบ่งชี้คุณภาพน้ำ และนิยมใช้ร่วมกับตัวอ่อนแมลงสโตนฟลาย และตัวอ่อนแมลงหนอนปลอกน้ำในการประเมินคุณภาพน้ำทางชีวภาพ

จากการศึกษาความหลากหลายของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดินในลำธารอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี พบแมลงชีปะขาวที่ยังไม่มีรายงานมาก่อนในประเทศไทย (first record)  2 ชนิด คือ Prosopistoma sinense Tong & Dudgeon, 2000 จัดอยู่ในวงศ์ Prosopistomatidae และ Epeorus tiberius Braasch and Soldan, 1984 จัดอยู่ในวงศ์ Heptageniidae

 

แมลงชีปะขาววงศ์ Prosopistomatidae นี้มีขนาดเล็ก มีลักษณะคล้ายด้วงตัวเต็มวัย เนื่องจากแผ่นอกมีขนาดใหญ่คลุมส่วนท้อง และเหงือก และพบแพนหาง 3 เส้น ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นทรายและก้อนหินขนาดเล็ก

ส่วนแมลงชีปะขาวสกุล Epeorus เป็นแมลงชีปะขาววงศ์ Heptageniidae มีแพนหางเพียง 2 เส้น เนื่องจากแพนหางเส้นกลางลดรูปไป แมลงชีปะขาวสกุลนี้มีลักษณะเด่น คือ แผ่นเหงือกมีขนาดใหญ่และขอบแผ่นเหงือกมีหนามแหลมขนาดเล็กจำนวนมาก ช่วยในการเกาะกับก้อนหินเพื่อต้านกระแสน้ำที่ไหลแรง และชอบอาศัยอยู่ตามก้อนหินขนาดใหญ่หรือขนาดกลางบริเวณน้ำไหลแรง และมีคุณภาพดี แมลงชีปะขาวทั้งสองชนิดนี้มีความไวต่อมลพิษ พบเฉพาะลำธารในพื้นที่ป่าเท่านั้น จึงสามารถใช้เป็นดัชนีบ่งชี้คุณภาพน้ำได้

เรื่อง/ภาพ บุญเสฐียร  บุญสูง
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

“ไรน้ำ” อาหารสัตว์น้ำสายพันธุ์ใหม่ในห้วยเขย่ง


ไรน้ำ (water flea) เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กกลุ่มหนึ่งที่ล่องลอยอยู่ในมวลน้ำ เมื่ออยู่เดี่ยวๆ มักมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่หากอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก็จะสามารถมองเห็น มีลักษณะคล้ายลูกน้ำสีขาวใส ลอยเป็นแพอยู่ในแหล่งน้ำ  ไรน้ำมีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อน นอกจากความสำคัญในระบบนิเวศแหล่งน้ำดังกล่าวแล้ว เรายังพบไรน้ำบางชนิดอาศัยอยู่เฉพาะในบางแหล่งน้ำเท่านั้น จึงมีการประยุกต์ใช้ไรน้ำบางชนิดเป็นตัวประเมินคุณภาพของแหล่งน้ำได้เบื้องต้นอีกด้วย 

ไรน้ำพบแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำจืด ซึ่งจำนวนชนิดที่พบอาจแตกต่างกันในแต่ละแหล่งน้ำ ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางกายภาพและเคมีของแหล่งน้ำนั้นๆ   จากการศึกษาลำน้ำห้วยเขย่ง ห้วยทึม ห้วยภู จนถึงปลายลำน้ำที่เชื่อมต่อกับเขื่อนเขาแหลม พบไรน้ำทั้งสิ้น 40 ชนิด ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่ง ได้แก่ หนองน้ำ สระ บึง และอ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะบริเวณที่มีพืชน้ำหรือสาหร่ายขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น  บริเวณที่พบไรน้ำมากที่สุดได้แก่ ปลายลำน้ำที่เชื่อมต่อกับเขื่อนเขาแหลม  พบหนาแน่นที่สุดในเดือนกันยายน และชนิดที่พบมาก คือ Ceriodaphnia cornuta, Diaphanosoma excisum, D. sarsi, และ Simocephalus mesorostris โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความหนาแน่นและการแพร่กระจายของไรน้ำในห้วยเขย่ง ได้แก่ ค่าการนำไฟฟ้า อัตราการไหลของน้ำ ความเป็นกรด-ด่าง และอุณหภูมิ

จากการศึกษาข้างต้นสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการขยายผลทางเศรษฐกิจภายในพื้นที่ โดยการนำไรน้ำชนิดที่เหมาะสม ได้แก่ Diaphanosoma excisum และ Simocephalus mesorostris มาเพาะเลี้ยงเป็นอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อนในตำบลห้วยเขย่ง เนื่องจากไรน้ำทั้งสองชนิดพบได้ชุกชุมและกระจายอยู่ทั่วไปในหลายแหล่งน้ำภายในห้วยเขย่ง ได้แก่ สระบัวบ้านไร่ป้า ห้วยทีโพสะทอรา ห้วยน้ำขุ่น ฝายปากลำปิล็อก ไร่วิฑูรย์ บ้านเตาถ่าน และปากแม่น้ำที่เชื่อมต่อกับเขื่อนเขาแหลม  ดังนั้นหากเกษตรกรในตำบลห้วยเขย่งต้องการลดต้นทุนการสั่งซื้ออาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำวัยอ่อนพวกลูกกุ้ง ลูกปลา หรือลูกอ๊อดแล้ว  ก็สามารถใช้ไรน้ำดังกล่าวมาเพาะเลี้ยงเป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อนได้ เพราะนอกจากเกษตรกรสามารถหาแม่พันธุ์ไรน้ำได้ง่ายภายในท้องถิ่นแล้ว ขนาดลำตัวของไรน้ำทั้งสองชนิดยังโตกว่าไรน้ำชนิดอื่นๆ ที่พบในบริเวณเดียวกัน รวมทั้งขนาดใหญ่และพบง่ายกว่าไรแดงซึ่งมักนิยมเลี้ยงในท้องตลาด  จึงน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง และเป็นทางเลือกแรกๆ สำหรับเกษตรกรที่จะใช้ไรน้ำทั้งสองชนิดมาเป็นอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อนทดแทนการใช้ไรแดงในพื้นที่ห้วยเขย่งอีกด้วย

ส่วนอาหารที่ใช้เลี้ยงไรน้ำ ได้แก่ สาหร่ายขนาดเล็กและแพลงก์ตอนพืช หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “น้ำเขียว” นั่นเอง นอกจากนี้สิ่งที่ต้องคำนึงระหว่างการเพาะเลี้ยงไรน้ำทั้งสองชนิดนี้คือ การควบคุมสภาวะแวดล้อมภายในแหล่งน้ำที่เพาะเลี้ยงให้มีสภาพใกล้เคียงกับธรรมชาติที่ไรน้ำทั้งสองชนิดอาศัยอยู่ให้มากที่สุด ได้แก่

Diaphanosoma excisum มักพบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีสภาพเป็นด่าง (pH 7.0-8.3) อุณหภูมิค่อนข้างสูง (29-31องศาเซลเซียส) และสภาพการนำไฟฟ้าปานกลาง (125-264 uS cm-1)
Simocephalus mesorostris มักพบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีสภาพเป็นกรด (pH 6.6-7.0) อุณหภูมิค่อนข้างต่ำ (26-29 องศาเซลเซียส) และสภาพการนำไฟฟ้าปานกลาง (125-264 uS cm-1)

เพราะหากลืมข้อจำกัดดังกล่าวแล้วอาจจะส่งผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยง ทำให้ได้ผลผลิตต่ำกว่ามาตรฐาน ทั้งด้านการเจริญเติบโตของไรน้ำไม่เต็มที่  ลำตัวไม่ได้ขนาด  ตลอดทั้งไรน้ำที่ได้มีความหนาแน่นต่ำ ปริมาณไม่เพียงพอสำหรับใช้เป็นอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อนได้

 

Diaphanosoma excisum                                           Simocephalus mesorostris

 

เรื่อง/ภาพ : พรรณี สอาดฤทธิ์
พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารี
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

การตรวจวัดคุณภาพน้ำโดยใช้สัตว์หน้าดิน...ขยายผลสู่ชุมชน

สายน้ำห้วยเขย่งเป็นสายน้ำหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวบ้านในตำบลห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี  ไหลทอดยาวผ่านหลายหมู่บ้านเริ่มตั้งแต่บ้านไร่ป้า บ้านประจำไม้ บ้านห้วยเขย่ง จนถึงบ้านลำปิ
ล็อก วิถีชีวิตของชุมชนจึงผูกพันอยู่กับสายน้ำนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร และเลี้ยงสัตว์  ในขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งรับของเสียและสิ่งปฏิกูลต่างๆ จากครัวเรือน และจากพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งนับวันจะมีมากขึ้นจนเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสายน้ำในบางพื้นที่

โครงการ BRT และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงได้สนับสนุนงานวิจัยเพื่อตรวจวัดคุณภาพน้ำทั้งทางกายภาพและชีวภาพโดยใช้สิ่งมีชีวิตหน้าดินเป็นดัชนีชี้วัดที่ลำธารห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี  สัตว์หน้าดินแต่ละกลุ่มมีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแมลงน้ำกลุ่มแมลงชีปะขาว (อันดับ Ephemeroptera) แมลงหนอนปลอกน้ำ (อันดับ Trichoptera) และแมลงเกาะหิน (อันดับ Plecoptera) หรือ กลุ่ม EPT เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อการปนเปื้อน การเปลี่ยนแปลงชนิดและขนาดประชากรของสัตว์หน้าดินเกิดขึ้นเมื่อสภาพแวดล้อมของน้ำเปลี่ยนแปลงไป งานวิจัยดังกล่าวดำเนินการโดยนายบุญเสฐียร บุญสูง นิสิตปริญญาเอกจากภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งผลการวิจัยพบความหลากหลายของสัตว์หน้าดินรวมทั้งสิ้น 15 อันดับ 96 วงศ์ 218 สกุล 224 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นตัวอ่อนแมลงน้ำ ผลวิเคราะห์การกระจายตัวของสัตว์หน้าดินในแต่ละพื้นที่ทำให้สามารถคัดเลือกกลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดินในกลุ่ม EPT ที่มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อมได้  10 สกุล  ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพน้ำในสายน้ำห้วยเขย่งได้ต่อไป

จากผลการวิจัยยังสามารถแบ่งกลุ่มพื้นที่ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) พื้นที่ป่า 2) พื้นที่เกษตรกรรม และ 3) เขตชุมชน โดยพบว่าการใช้พื้นที่เพื่อเกษตรกรรมและเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนมีผลการต่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างชุมชนสัตว์หน้าดิน ทำให้กลุ่มสัตว์ที่ไวต่อมลพิษ ได้แก่ ตัวอ่อนแมลงน้ำกลุ่ม EPT มีความหลากชนิดลดลง สัตว์ที่มีความทนทานต่อมลพิษ (หนอนแดง) มีจำนวนเพิ่มขึ้น และความหลากชนิดของสัตว์หน้าดินทั้งหมดลดลง นอกจากนั้นยังพบว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในพื้นที่ใกล้ลำธารไม่ว่าจะเป็นการถางป่า การพังทลายของดิน และการสะสมของตะกอนละเอียดปกคลุมพื้นท้องน้ำนั้น เป็นการทำลายแหล่งที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตในลำธารส่งผลให้ความหลากหลายของสัตว์หน้าดินลดลงและสัตว์ที่ทนทานต่อมลพิษมีจำนวนมากขึ้น การใช้ปุ๋ยและสารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชในพื้นที่เกษตรกรรมนั้น เมื่อมีฝนตกทำให้เกิดการไหลชะลงสู่ลำธารและเกิดการสะสมของสารเคมีทำให้น้ำมีคุณภาพต่ำและความหลากหลายของสัตว์หน้าดินก็ลดลงด้วย

ผลงานดังกล่าวก่อให้เกิดข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการลุ่มน้ำห้วยเขย่ง อันได้แก่ 
     1. การรวบรวมข้อมูลพื้นฐานด้านสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดินในพื้นที่ต้นน้ำเพื่อนำไปสู่การจัดทำเป็นสถานีอ้างอิง (reference sites) ใช้เป็นสถานีเปรียบเทียบข้อมูลกับสถานีทดสอบ (test sites) และการพัฒนาดัชนีชีวภาพโดยใช้ตัวแปรชีวภาพหลายตัว (multimetric approach) ในขณะเดียวกันจะเป็นข้อมูลเพื่อใช้ในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยรูปแบบ BACI (Before-After-Control-Impact)
     2. ควรสร้างแนวกันชนในพื้นที่รอบแหล่งน้ำ เช่น การปลูกหญ้า ต้นไม้รอบลำธาร เพื่อลดการไหลชะของสารเคมีทางการเกษตร และการพังทลายของดิน ซึ่งยังช่วยฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำได้
     3. ควรส่งเสริมให้ชุมชนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลลำธารต้นน้ำ ป่าไม้ และการเฝ้าระวังคุณภาพแหล่งน้ำ โดยผสมผสานเข้ากับความเชื่อและภูมิปัญญาท้องถิ่น
     4. ควรส่งเสริมให้ชุมชนในท้องถิ่นตระหนักถึงผลกระทบการใช้สารกำจัดวัชพืช และศัตรูพืชต่อระบบนิเวศ เพื่อให้ประชาชนหันมาใส่ใจกับการทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น
     5. ควรจัดให้มีการศึกษาระบบนิเวศน้ำในระยะยาว เพื่อจะได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงคุณภาพแหล่งน้ำโดยให้ชุมชน ครูและนักเรียนเป็นผู้ดำเนินการ

จากข้อเสนอแนะดังกล่าว โครงการ BRT ได้ร่วมกับนายบุญเสฐียร จัดทำคู่มือการตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่าง่ายโดยใช้สัตว์หน้าดิน และนำคู่มือดังกล่าวไปขยายผลกับกลุ่มชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ครูและนักเรียนในพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับสายน้ำ 6 โรงเรียน เพื่อให้คนในชุมชนสามารถทำการตรวจสอบคุณภาพน้ำได้ด้วยตนเองทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการเก็บตัวอย่าง การจัดจำแนกกลุ่มและการแปรผลคุณภาพน้ำ ซึ่งหากมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง จะช่วยในการเฝ้าระวังและติดตามคุณภาพน้ำให้กับชุมชนได้ อีกทั้งข้อมูลที่ได้ยังสามารถใช้ในการวางแผนจัดการดูแลรักษาสายน้ำร่วมกันของคนในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

เรื่องและภาพ : บุญเสฐียร บุญสูง
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ไรน้ำนางฟ้าที่ตำบลห้วยเขย่ง

พื้นที่ตำบลห้วยเขย่งตั้งอยู่บนเทือกเขาตะนาวศรีที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลระหว่าง 162-286 เมตร จากการสำรวจไรน้ำนางฟ้าพบว่ามีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ไรน้ำนางฟ้าไทยและไรน้ำนางฟ้าสิรินธร  พบอยู่ตามแหล่งน้ำชั่วคราวที่มีน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝนและแห้งในฤดูแล้ง และอยู่นอกพื้นที่ที่มีน้ำไหลบ่าในช่วงที่ฝนตก

ไรน้ำนางฟ้าไทย ไรน้ำนางฟ้าสิรินธร

                      ไรน้ำนางฟ้าไทย                                          ไรน้ำนางฟ้าสิรินธร

แหล่งน้ำที่มีลักษณะดังกล่าวถึงแม้จะมีจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่มีความลาดเท แต่ก็พบแหล่งน้ำที่มีสภาพเหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยของไรน้ำนางฟ้ากระจายอยู่ทั่วพื้นที่ในตำบลห้วยเขย่ง แหล่งน้ำที่พบไรน้ำนางฟ้าประกอบด้วยแอ่งข้างถนน คูระบายน้ำธรรมชาติ แอ่งตื้นในแปลงนา แอ่งรับน้ำ บ่อตื้น และบ่อลึกที่ขุดไว้สำหรับเก็บกักน้ำ โดยพบไรน้ำนางฟ้าถึงร้อยละ 73 ของแหล่งน้ำที่สำรวจ (19 แหล่งจาก 26 แหล่ง) นอกจากนี้ยังพบว่าทั้งไรน้ำนางฟ้าไทย และไรน้ำนางฟ้าสิรินธร อาศัยอยู่ร่วมกันหรือแยกกันอยู่ในแต่ละแหล่งน้ำ จำนวนแหล่งน้ำที่พบไรน้ำนางฟ้าทั้ง 2 ชนิดอยู่ร่วมกันคิดเป็นร้อยละ 36.84 ส่วนที่พบเฉพาะไรน้ำนางฟ้าสิรินธรคิดเป็นร้อยละ 42.11 และที่พบเฉพาะไรน้ำนางฟ้าไทยคิดเป็นร้อยละ 21.05

ไรน้ำนางฟ้าที่อยู่บนพื้นที่สูงนี้มีพฤติกรรมการฟักแตกต่างจากไรน้ำนางฟ้าที่อยู่ตามพื้นราบอย่างชีวิตมีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ การฟักเป็นตัวจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อเติมน้ำครั้งที่ 2 และ 3 ซึ่งการฟักทั้งสองครั้งนี้มีจำนวนใกล้เคียงกัน

ถ้าชาวบ้านในตำบลห้วยเขย่งเก็บไข่ไรน้ำนางฟ้าในท้องถิ่นมาฟักเพื่อการเพาะเลี้ยงจะต้องเติมน้ำอย่างน้อย 2 ครั้ง จึงจะได้ไรน้ำนางฟ้าในปริมาณที่มากพอ โดยครั้งแรกเติมน้ำและปล่อยไว้ 1 วัน จึงเทน้ำออก ตากแดดไว้ 3 วันและเติมน้ำใหม่เพื่อกระตุ้นการฟักครั้งที่ 2 และ 3 ตามลำดับ หลังจากเติมน้ำแล้วควรปล่อยไว้ 5 วัน จึงเทน้ำออกพร้อมกับแยกไรน้ำนางฟ้าออกมาเลี้ยงในน้ำที่สะอาด ส่วนไข่ที่เหลือนำไปตากแดดก่อนที่จะนำมาฟักอีกครั้งหรือหลายครั้ง จากดินประมาณ 1 กิโลกรัม จะได้ไรน้ำนางฟ้า 1-10 ตัว

เรื่องและภาพ : นุกูล แสงพันธุ์ และราเมศ  ชูสิงห์
คณะวิชาประมง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี

“ปูราชินี” ราชินีแห่งทองผาภูมิตะวันตก

ราชินีแห่งทองผาภูมิตะวันตก

ในบรรดาปูน้ำจืดทุกชนิด “ปูราชินี” จัดว่าเป็นปูน้ำจืดประเภทปูป่าที่มีสีสันสวยงามที่สุด โดยจะมีสีสันมากถึง 3 สี คือ ขาเป็นสีแดง ตรงโคนขา ก้ามหนีบ และบริเวณขอบกระดองเป็นสีขาว ตรงกลางกระดองเป็นสีน้ำเงิน ดูแล้วคล้ายกับธงชาติไทย ชาวบ้านจึงมักจะเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “ปูสามสี”

“ปูราชินี” Thaiphusa sirikit (Naiyanetr, 1992) ราชินีแห่งทองผาภูมิตะวันตก ปูราชินี ได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ พ.ศ.2535 มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thaiphusa sirikit (Naiyanetr, 1992) และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Regal Grab ปัจจุบันปูราชินีจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่หายากในสภาพธรรมชาติ

สำหรับใครที่ยังไม่เคยเห็นและอยากเห็นปูที่สวยที่สุดนี้ต้องลองเดินทางไปแถวอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เพราะปูชนิดนี้เป็นปูเฉพาะถิ่นและปัจจุบันจัดอยู่ในสภาพหายากในสภาพธรรมชาติ ปูราชินีจึงกลายเป็นความภาคภูมิใจของชุมชนเพราะเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งผืนป่าทองผาภูมิตะวันตกที่เกรงว่าใกล้จะสูญพันธุ์  ดังนั้น โครงการ BRT จึงได้ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สนับสนุนให้นายสิทธิพงศ์ วงศ์วิลาส ผู้ช่วยนักวิจัยโครงการ BRT ทำการศึกษาปูราชินีเพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการที่จะส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนให้เห็นคุณค่าและร่วมกันอนุรักษ์ปูราชินีให้อยู่คู่กับท้องถิ่นสืบไป

พบปูราชินีได้ที่ไหน?

จากการสอบถามชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในตำบลห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี พบว่า ปูราชินีชอบอาศัยอยู่ตามริมลำห้วยและในพื้นที่พุ ได้แก่  บริเวณห้วยพัสดุกลาง (บ้านพัสดุกลาง) ห้วยปากคอก พุท่ามะเดื่อ และพุปูราชินี (ออป.) โดยเฉพาะพุปูราชินีจะพบมากกว่าที่อื่น ปูราชินีที่พบมักจะมีความหลากหลายของสี คือ กลุ่มที่มีขาสีส้มสด และกลุ่มที่มีสีขาเป็นสีขาว โดยปกติปูราชินีจะออกจากรูมาเดินให้เห็นเต็มไปหมดในช่วงที่มีฝนตกหนักๆ ซึ่งบางครั้งสามารถจับได้เป็นกาละมังเลยทีเดียว แต่ถ้าฝนฟ้าครึ้มก็จะพบอยู่แค่ปากรู รูปูราชินีจะเป็นรูที่ดิ่งตรงลงไป แล้วหักเป็นแนวระนาบยาวออกไป ความลึกของรูขึ้นอยู่กับความลึกของน้ำใต้ดิน ในหน้าแล้งปูจะเอาดินมาพอกที่ปากรูให้สูงขึ้นเพื่อกันน้ำเข้า และปิดปากรูด้านบน ชาวบ้านยังบอกอีกว่าปูราชินีน่าจะออกลูกปีละครั้ง โดยจะเห็นปูราชินีเริ่มมีไข่และออกลูกประมาณปลายเดือนกันยายน

บ้านหลังน้อยๆ ของปูราชินี

เมื่อสังเกตการกระจายของรูปูที่พุปูราชินี พบว่า มีการกระจายแบบไม่สม่ำเสมอ โดยจะรวมกันอยู่เป็นกระจุกๆ ตามโคนต้นไม้หรือพื้นที่โล่งๆ สภาพทั่วไปของพุปูราชินีบริเวณที่ปูขุดรูอาศัยอยู่จะร่มรื่น มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุม ปริมาณแสงส่องถึงพื้นน้อยมาก ไม้ชั้นกลางมีมากแต่ไม่แน่นทึบ พื้นดินล่างมีเศษใบไม้ปกคลุมทั่วไป ไม้พื้นล่างและกล้าไม้มีน้อย

ลักษณะรูปูราชินีที่พบจะมีอยู่ 3 แบบ ดังนี้
      1. เป็นกองมูลดิน และมีดินปิดปากรู กองมูลดินจะมีความสูง 8-15 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของกองมูลดิน จะอยู่ในช่วง 15-20 เซนติเมตร รูลักษณะนี้จะพบน้อย ประมาณร้อยละ 15 ของรูที่พบทั้งหมด
      2. เป็นกองมูลดิน แต่ไม่มีดินปิดปากรู กองมูลดินจะมีความสูง 6-10 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของกองมูลดิน 14-17 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของปากรู 1.8-4.2 เซนติเมตร รูลักษณะนี้จะพบมากกว่าแบบแรก ประมาณร้อยละ 35 ของรูที่พบทั้งหมด
      3. เป็นรูแบบเปิด ไม่มีกองมูลดินและไม่มีดินปิดปากรู เส้นผ่าศูนย์กลางของปากรู 1.5-4.8 เซนติเมตร รูลักษณะนี้จะพบมากที่สุดประมาณร้อยละ 50 ของรูที่พบ รูลักษณะนี้ รอบๆ ปากรูจะสะอาด ในรัศมีจากขอบปากรู 2-3 เซนติเมตร จะไม่มีเศษใบไม้กิ่งไม้อยู่เลย

พฤติกรรมน่ารักๆ ที่พบเห็นได้จากปูราชินี

จากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมปูราชินี พบว่า ปูราชินีมีพฤติกรรมที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น พฤติกรรมการกินอาหารซึ่งปูราชินีสามารถกินอาหารได้หลายชนิดทั้งเศษซากพืชซากสัตว์ และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น หอย, เนื้อปลา, ไส้เดือน, จิ้งเหลน, ปูตัวเล็ก, อาหารแมว และข้าวสุก โดยปูราชินีสามารถกินอาหารได้ทั้งในน้ำและบนบก นอกจากนี้ยังพบว่าปูนำอาหารลงไปกินในรูอีกด้วย โดยส่วนใหญ่ปูจะออกมาหาอาหารเมื่อมีฝนตก

สำหรับการขุดรูนั้นปูราชินีจะใช้ก้ามและปลายเล็บเท้าข้างใดข้างหนึ่งจิกลงดินแล้วโกยเข้าหาตัว ดินจะเป็นขุย แล้วปูจะใช้ก้ามและขาคู่ที่ 1 หนีบดินเข้าหาตัวแล้วเดินขึ้นมาบนปากรูแล้วใช้ก้ามดันดินออกไปวางไว้รอบๆ รู ในบางครั้งอาจเห็นการต่อสู้เพื่อแย่งรูกันเกิดขึ้น โดยปูที่แข็งแรงกว่าจะใช้ก้ามหนีบตัวปูที่อยู่ในรูออกมา หากปูเจ้าของรูสามารถต่อสู้ได้ก็จะได้ครอบครองรูต่อไป แต่หากว่าแพ้ก็ต้องสละรูนั้นให้กับผู้ชนะ ส่วนการตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ พบว่าปูจะวิ่งลงรูทันทีแม้ว่าจะไม่ใช่รูของตนก็ตาม จากนั้นประมาณ 15 นาทีก็จะออกมาจากรู  สิ่งเร้าที่ปูตอบสนองน้อยที่สุด ก็คือ แสงไฟ เมื่อเทียบกับเสียงเดินและเสียงพูดคุย

พฤติกรรมน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ ปูจะพ่นน้ำออกมาบางครั้งเป็นฟองอากาศแต่บางครั้งก็เป็นทางยาว ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 10-20 นาทีหรือมากกว่านั้น นอกจากนี้ปูราชินียังมีการขับถ่ายโดยจะเปิดจับปิ้งแล้วใช้ก้ามหนีบเอาแท่งอุจจาระออกมา

สำหรับใครที่ยังไม่รู้จะไปเที่ยวที่ไหนหรือกำลังมองที่เที่ยวเพื่อดื่มด่ำกับธรรมชาติ ลองหาโอกาสมาเยือนทองผาภูมิโดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน เพราะนอกจากจะได้สัมผัสกับธรรมชาติอันเขียวขจีของผืนป่าทองผาภูมิตะวันตกแล้วยังเป็นโอกาสดีที่จะได้เห็น “ปูราชินี” ปูน้ำจืดที่สวยและหายากชนิดหนึ่งของเมืองไทย

เรื่องและภาพ : สิทธิพงศ์ วงศ์วิลาส
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ค้างคาวกิตติ...สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เล็กที่สุดในโลก

ค้างคาวกิตติ (Craseonycteris thonglongyai)ค้างคาวกิตติ Kitti’s Hog-nosed Bat (Craseonycteris thonglongyai) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก (โดยน้ำหนัก) โดยมีน้ำหนักตัวเฉลี่ยประมาณ 2 กรัม มีความยาวปีกเหยียด 2 ข้าง (wingspan) ประมาณ 15 ซม. ความยาวแขนช่วงข้อมือถึงข้อศอก (forearm) ประมาณ 25 มม. หน้ามีจุดเด่นที่จมูกขนาดใหญ่มองดูคล้ายจมูกหมู ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “Hog-nosed Bat” ขนตามลำตัวค่อนข้างยาว สีขนมีทั้งที่เป็นสีเทา และสีน้ำตาล กินแมลงเป็นอาหาร โดยจะออกไปหากินนอกถ้ำเพียงวันละ 2 ครั้ง คือในตอนเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้นประมาณครึ่งชั่วโมง และตอนเย็นหลังพระอาทิตย์ตกประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง และใช้เวลาถึงวันละประมาณ 23 ชั่วโมงอาศัยอยู่ในถ้ำ

ค้างคาวกิตติถูกค้นพบเป็นครั้งแรกที่ถ้ำวังพระในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค ในปี พ.ศ. 2516 โดย คุณกิตติ ทองลงยา นักอนุกรมวิธานชาวไทย ซึ่งหลังจากได้มีการตรวจสอบและทบทวนเอกสารทางด้านอนุกรมวิธานแล้ว จึงได้รับการประกาศเป็นชนิดใหม่ของโลก (new species) ในปี พ.ศ. 2517 พร้อมๆ กับการประกาศยอมรับว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก (โดยน้ำหนัก)

เมื่อเริ่มแรกที่มีการค้นพบค้างคาวกิตติ เชื่อกันว่าค้างคาวกิตติเป็นสัตว์ถิ่นเดียวมีการกระจายพันธุ์อยู่เฉพาะทางตะวันตกของประเทศไทย บริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2544 มีการพบประชากรค้างคาวกิตติทางตะวันออกของประเทศพม่าด้วย โดยประชากรค้างคาวกิตติที่พบทั้งในไทยและพม่ามีรูปร่างลักษณะภายนอกเหมือนกัน แต่พบความแตกต่างกันในเรื่องของการใช้คลื่นเสียงในการนำทางหรือกำหนดทิศทาง (echolocation) ซึ่งต้องการการตรวจสอบอย่างละเอียดเกี่ยวกับวิวัฒนาการของทั้งสองประชากรต่อไป

ค้างคาวกิตติมีลูกในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกจะอาศัยเกาะอกแม่ จนกระทั่งสามารถออกไปเกาะอยู่อิสระและบินออกไปหากินได้ด้วยตัวเอง ในขณะที่ลูกค้างคาวยังช่วยตัวเองไม่ได้และแม่ค้างคาวออกไปหากิน มันจะทิ้งลูกเกาะไว้ในถ้ำ

จากการสำรวจถ้ำในเขตจังหวัดกาญจนบุรี พบค้างคาวกิตติจำนวน 35 ถ้ำ ซึ่งส่วนใหญ่กระจายอยู่ในเขตอำเภอไทรโยคมากถึง 23 ถ้ำ (ประมาณ 66% จากจำนวนถ้ำทั้งหมดที่พบ) ส่วนที่เหลือพบในเขตอำเภอทองผาภูมิ ท่าม่วง และอำเภอเมือง จำนวน 7, 2 และ 3 ถ้ำ ตามลำดับ

สำหรับภัยคุกคามต่อประชากรค้างคาวกิตตินั้นมีทั้งการล่าค้างคาวโดยตรง และการใช้ประโยชน์ในถ้ำที่อยู่อาศัยของค้างคาวไม่ว่าจะเป็นการพักแรม การอยู่อาศัย การประกอบพิธีกรรม การท่องเที่ยว การเก็บ-ขุดปุ๋ยขี้ค้างคาว การขุดถ้ำ การสูบน้ำในถ้ำ ล้วนมีผลทำให้จำนวนประชากรและการปรากฏตัวของค้างคาวกิตติมีแนวโน้มลดลงเมื่อมีการรบกวนภายในถ้ำเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่รอบๆ ถ้ำ ก็เป็นอุปสรรคต่อการใช้พื้นที่หากิน เนื่องจากค้างคาวกิตติหลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่บางลักษณะ เช่น พื้นที่โล่งกว้างอย่างไร่มันสำปะหลัง

เรื่องและภาพ : สุรพล ดวงแข
มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย

 

Magazine

สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่

ราก่อโรคบนเพลี้ยกระโดด

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hirsutella nivea Hywel-Jones

วงศ์ : Ophiocordyceps

ชื่อสามัญ : -

ที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์ : เนื่องจากตัวอย่างราก่อโรคบนเพลี้ยกระโดดนี้ชนิดนี้สร้างเส้นใยราสีขาวคลุมแมลง จึงให้ชื่อตามสีของตัวอย่าง

Read more

ราก่อโรคบนเพลี้ยหอย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aschersonia luteola Hywel-Jones & Mongkolsamrit

วงศ์ : Clavicipitaceae

ชื่อสามัญ :

ที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์ : เนื่องจากตัวอย่างราก่อโรคบนเพลี้ยหอยชนิดนี้สร้างเส้นใยราสีเหลืองอ่อนคลุมแมลง จึงให้ชื่อตามสีของตัวอย่าง

Read more

กิ้งกือมังกรสีชมพู

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Desmoxytes purpurosea

วงศ์ :  Paradoxosomatidae

ชื่อสามัญ :  pink dradon millipede

ที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์ : purpurosea เป็นภาษาลาติน แปลว่า สีชมพูม่วง

Read more