หลายท่านอาจยังไม่คุ้นหูกับคำว่า "ไบรโอไฟต์" แต่หากบอกว่า "มอสส์" บางท่านอาจจะพอนึกภาพออก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มอสส์จัดเป็นสมาชิกกลุ่มหนึ่งของไบรโอไฟต์เท่านั้น ดังนั้นเราลองมาทำความรู้จักกับไบรโอไฟต์กันให้มากยิ่งขึ้นกันดีกว่า
ไบรโอไฟต์มักขึ้นในที่ร่มและชุ่มชื้น เช่น ก้อนหิน เปลือกไม้ พื้นดิน เป็นต้น แต่บางครั้งเราอาจพบไบรโอไฟต์ขึ้นอยู่บนวัตถุที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติ เช่น ท่อน้ำพีวีซี พื้นซีเมนต์ ตุ๊กตาดินเผา เป็นต้น ไบรโอไฟต์เป็นพืชบกสีเขียวที่มีขนาดเล็ก ไม่มีเนื้อเยื่อลำเลียง ไม่มีดอก และไม่มีรากที่แท้จริง มีไรซอยด์ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ช่วยในการยึดเกาะ การลำเลียงน้ำและแร่ธาตุสามารถเข้าสู่ภายในของต้นโดยผ่านเซลล์ได้ทุกเซลล์ ด้วยคุณสมบัติข้อนี้ จึงได้นิยมนำไบรโอไฟต์มาใช้เป็นดัชนีชี้วัดทางชีวภาพ (bioindicator) โดยเฉพาะเพื่อใช้ในการศึกษาผลกระทบทางด้านมลพิษในอากาศ เพราะไบรโอไฟต์สามารถดูดซับน้ำและแร่ธาตุจากสิ่งแวดล้อมได้โดยตรง
ไบรโอไฟต์แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ มอสส์ ลิเวอร์เวิร์ต และฮอร์นเวิร์ต ไบรโอไฟต์มีความสำคัญต่อระบบนิเวศของป่าในด้านต่างๆ เช่น เป็นแหล่งอาหารและแหล่งที่อยู่ของสัตว์ขนาดเล็ก เช่น แมลงต่างๆ นอกจากนี้ยังเป็นพืชบุกเบิกในธรรมชาติ ซึ่งช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนป่าที่รกร้างและแห้งแล้ง ให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง ที่สำคัญเซลล์ของไบรโอไฟต์ มีคุณสมบัติพิเศษในการดูดซับน้ำได้โดยตรงอย่างรวดเร็ว สามารถดูดซับได้ถึง 200-500% ของน้ำหนักแห้ง พืชกลุ่มนี้จึงเปรียบเหมือนฟองน้ำของป่าที่ช่วยดูดซับน้ำให้กับผืนป่า ไบรโอไฟต์จึงนับว่าเป็นพืชตัวน้อยที่นับเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศป่าเป็นอย่างมากกลุ่มหนึ่ง
ปัจจุบันมีการนำไบรโอไฟต์มาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น เช่น นำมาจัดตู้ปลา จัดสวน หรือแม้แต่นำมาเป็นวัสดุช่วยปลูกกล้วยไม้ นอกจากนี้ยังมีการค้นคว้าวิจัยในการสกัดสารเคมีจากไบรโอไฟต์บางชนิด เพื่อนำมาประยุกต์ใช้เป็นยารักษาโรคได้ เช่น มอสส์สกุลข้าวตอกฤาษี (Sphagnum) สามารถรักษาอาการตกเลือดอย่างเฉียบพลัน และโรคที่เกี่ยวกับตา (Pant, 1998) สำหรับประเทศไทยการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ซึ่งบางประเทศที่มีการปลูกไบรโอไฟต์เป็นสินค้าส่งออกสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างมากมาย อย่างไรก็ตามเราทุกคนควรมีจิตสำนึกในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า เพื่อให้ทรัพยากรเหล่านั้นสามารถดำรงอยู่ได้อย่างดีตลอดไปด้วย
ข้อมูลจาก สุนทรี กรโอชาเลิศ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โดยการสนับสนุนทุนจากโครงการ BRT
เอกสารอ้างอิง
สมใจ รัตนยันต์. 2541. ไบรโอไฟต์. นพบุรีการพิมพ์. เชียงใหม่.
Glime, J. M. 2006. Bryophyte Ecology: Physiological Ecology Volume 1. [Online]. available: http://www.bryoecol.mtu.edu/
Pant, G. 1998. Topics in Bryology: Medicinal Uses of Bryophytes. Allied Publishers Pvt. Ltd. pp. 112-124.