แนวหญ้าทะเลนับเป็นระบบนิเวศชายฝั่งที่สำคัญมากแหล่งหนึ่ง เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์สูง เป็นแหล่งอาหาร ที่หลบภัยของสัตว์น้ำหลายชนิด และยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำนานาชนิดอีกด้วย ซึ่งสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มีความสำคัญ โดยเป็นต้นทางของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศหญ้าทะเล ที่มีความสำคัญกับระบบนิเวศแหล่งหญ้าทะเล คือ อีพิไฟต์ (epiphytes) อีพิไฟต์ ที่พบในระบบนิเวศหญ้าทะเล เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เกาะอยู่บนใบหญ้าทะเล  ได้แก่  แบคทีเรีย  สาหร่ายขนาดเล็ก  สาหร่ายขนาดใหญ่  และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ผลิตขั้นต้น  หรือเป็นเพียงผู้บริโภคอันดับต้นๆ 

อีพิไฟต์บนใบหญ้าทะเล

        ห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศหญ้าทะเล เริ่มจากอีพิไฟต์ที่เป็นสาหร่ายขนาดจิ๋วถูกกินโดยสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กที่เป็นอีพิไฟต์เช่นเดียวกัน  เช่น ไส้เดือนตัวกลมทะเล (nematodes) ไส้เดือนทะเล (polychaetes) โรติเฟอร์ (rotifers) โคพีพอด (copepods) และออสตราคอด (ostracods) จากนั้นสิ่งมีชีวิตกลุ่มนี้จะถูกสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่อื่นๆ ที่อยู่ในระบบนิเวศหญ้าทะเลบริโภคต่อไปเป็นลำดับ  จึงถือได้ว่าอีพิไฟต์มีส่วนช่วยให้มีสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในการเข้ามาอาศัยอยู่รวมกัน ทำให้เกิดเป็นระบบนิเวศที่ประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย  ตั้งแต่สิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนที่ได้อย่างอิสระในท้องทะเลไปจนถึงสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่อาศัยในแนวหญ้าทะเล  เช่น  ปลา  กุ้ง  เต่าทะเล  และที่สำคัญยังเป็นแหล่งค้ำจุนชีวิตแหล่งสุดท้ายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กำลังถูกคุกคามอย่างหนักนั่นคือ.... พะยูน        

       อย่างไรก็ดี หญ้าทะเลแต่ละชนิดมีรูปร่างลักษณะ รวมถึงอายุของใบที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นตัวกำหนดปริมาณของอีพิไฟต์บนใบหญ้าทะเล จึงต้องมีการศึกษาประชาคมอีพิไฟต์บนใบหญ้าทะเล เพื่อให้ทราบถึงความความสัมพันธ์อันซับซ้อนของสิ่งมีชิวีตในระบบนิเวศหญ้าทะเล  อันจะเป็นแนวทางให้สามารถจัดทำแผนอนุรักษ์และป้องกันแนวหญ้าทะเลต่อผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมโลกในปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้นไป     

อีพิไฟต์บนใบหญ้าทะเล   

Psammodictyon sp. Diploneis sp. Copepod Nematode

   

ข้อมูลจาก ฐิติมา  นิยมศิลป์ชัย
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โดยการสนับสนุนทุนจากโครงการ BRT