ปะการังแข็ง (Scleractinian / Corals) คงไม่ใช่ตัวประหลาดของใครส่วนใหญ่ แต่ความที่พวกมันมีโครงสร้างหินปูนอยู่ติดกับที่ และไม่ค่อยถูกเห็นว่าเคลื่อนไหว ทำให้คนส่วนใหญ่นึกไม่ถึงว่าปะการังแข็งเป็นสัตว์ตัวเล็กๆ ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ซึ่งมีความสามารถดึงแคลเซี่ยมจากน้ำทะเลมาสร้างบ้านหินปูนเป็นรูปทรงแตกต่างกันไปในแต่ละชนิด ความหลากหลายของบ้านหินปูนรูปทรงต่างๆ นี้เองที่สร้างความซับซ้อนของโครงสร้างแนวปะการังให้กลายเป็นบ้าน เป็นที่หลบภัย เป็นแหล่งอาหารของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกมากมาย จึงกล่าวได้ว่าความหลากหลายทางชีวภาพของปะการังแข็งสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นตัวสะท้อนถึงความสมบูรณ์และความอยู่รอดของระบบนิเวศแนวปะการัง
โดยทั่วไปแล้ว สิ่งมีชีวิตหนึ่งจะดำรงอยู่ได้ จะต้องมีการสืบเผ่าพันธุ์ เกิดลูกหลานรุ่นใหม่มาแทนรุ่นเก่าที่ตายไป และสมาชิกรุ่นใหม่จะต้องมีความสามารถที่จะอยู่รอดและเติบโตเพื่อสร้างสมาชิกรุ่นต่อๆ ไป ปะการังแข็งก็ผลิตลูกหลานรุ่นใหม่เช่นกัน โดยที่มันมีวิธีการสืบพันธุ์หลายแบบแตกต่างกันไปในแต่ละชนิด ปะการังแข็งบางชนิดมีการปล่อยไข่และสเปิร์มออกมาผสมกันในมวลน้ำทะเล แต่บางชนิดก็ผสมพันธุ์ภายในก่อนปล่อยตัวอ่อนออกมา การปล่อยไข่และสเปิร์มมักจะเกิดขึ้นในตอนกลางคืนช่วงที่น้ำขึ้นสูงสุด (High tide) ของวันขึ้น 15 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ ซึ่งน้ำทะเลจะสูงขึ้นกว่าปกติ จากนั้นตัวอ่อนของปะการังจะเติบโตต่อไปในน้ำทะเลระยะหนึ่งก่อนที่จะกลับมาลงเกาะในแนวปะการังอีกครั้งเพื่อเติบโตสร้างบ้านหินปูนต่อไป
ตัวอ่อนปะการังที่ล่องลอยอยู่ในมวลน้ำและที่ลงเกาะแล้วแต่ยังมีขนาดเล็ก ต่างก็ต้องเผชิญกับผู้ล่าจำนวนมาก คำถามคือตัวอ่อนปะการังจำนวนเท่าใดที่อยู่รอดจนกลับมาลงเกาะ รวมถึงว่าเมื่อลงเกาะแล้วจะอยู่รอดเป็นจำนวนเท่าไร การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปะการัง เพื่อค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับการเพิ่มจำนวนสมาชิกใหม่ของปะการังแข็ง และการอยู่รอดเติบโตตามธรรมชาติของสมาชิกรุ่นใหม่เหล่านั้น จึงมีความสำคัญต่อการจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรปะการัง และนับว่าเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่สำคัญสำหรับแนวปะการังในอ่าวไทย
ปะการังช่องเหลี่ยม Favites sp. กำลังปล่อยไข่ให้ล่องลอยไปผสมกับสเปิร์มในมวลน้ำทะเล
และจะพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนที่จะลงเกาะกลายเป็นปะการังแข็งอีกครั้ง
เรื่อง : ศรีสกุล ภิรมย์วรากร
ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์