แพลงก์ตอน (Plankton) มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก แปลว่า “drifting” หรือ “wanderer” ซึ่งมีความหมายว่า ล่องลอย หรือ ผู้พเนจร ดังนั้นคำว่าแพลงก์ตอนจึงหมายถึง สิ่งมีชีวิตที่ล่องลอยอยู่ในมวลน้ำและมีแรงต้านทานกระแสน้ำน้อย อีกทั้งการที่แพลงก์ตอนมีขนาดเล็กมากจึงทำให้เรามีโอกาสที่จะมองเห็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มนี้ได้น้อย อย่างไรก็ตามหากเราลองตักน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ มาส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ก็จะทำให้เรามองเห็นแพลงก์ตอนตัวใสหลากสีสันได้ชัดเจนขึ้นและจะพบว่าแพลงก์ตอนเป็นสิ่งมีชีวิตอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความหลากหลายทางด้านจำนวนชนิดที่สูงมาก นอกจากนี้จะสังเกตเห็นว่าแพลงก์ตอนที่เราพบจากแหล่งน้ำแต่ละแหล่งก็จะมีองค์ประกอบของชนิดและปริมาณแตกต่างกันไป เช่น องค์ประกอบของชนิดและปริมาณแพลงก์ตอนในน้ำจืดก็จะไม่เหมือนกับในน้ำทะเล และองค์ประกอบของชนิดแพลงก์ตอนในน้ำที่มีคุณภาพดีก็จะไม่เหมือนกับที่เราพบในน้ำเสีย เป็นต้น ซึ่งความแตกต่างนี้เกิดขึ้นเนื่องจากแพลงก์ตอนแต่ละชนิด มีความต้องการอาหารและสามารถเติบโตได้ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมือนกันนั่นเอง

        แพลงก์ตอนแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มคือ แพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์ ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีส่วนสำคัญในการเป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ในแหล่งน้ำ โดยที่แพลงก์ตอนพืชมีบทบาทหลักในการเป็นผู้ผลิตเบื้องต้น (Primary producer) ของห่วงโซ่อาหาร และเป็นอาหารของแพลงก์ตอนสัตว์ จากนั้นแพลงก์ตอนสัตว์ก็จะถูกกินด้วยสัตว์น้ำวัยอ่อน ตามด้วยสัตว์น้ำอื่นๆ ต่อกันไปเรื่อยๆ จนถึงมนุษย์ เมื่อเป็นเช่นนี้ชนิดและปริมาณของสิ่งมีชีวิตทุกๆ ชนิดในห่วงโซ่อาหารจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ได้ นั่นคือ ชนิดและปริมาณของแพลงก์ตอนพืชจะเป็นตัวกำหนดชนิดและปริมาณของแพลงก์ตอนสัตว์ต่อเรื่อยไปจนสิ้นสุดห่วงโซ่อาหาร ดังนั้นปัจจัยสิ่งแวดล้อมทุกด้านจึงมีความสำคัญในการกำหนดชนิดและปริมาณของแพลงก์ตอนพืช ซึ่งมนุษย์เองก็มีอิทธิพลอย่างมากในการเข้าไปเปลี่ยนแปลงความสมดุลของห่วงโซ่อันนี้ในรูปแบบต่างๆ ที่เห็นกันอย่างชัดเจนก็คือการทิ้งของเสียลงแหล่งน้ำ ทั้งจากชุมชนหรือจากแหล่งอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้คุณสมบัติของน้ำมีการเปลี่ยนแปลงจนทำให้องค์ประกอบของชนิดและปริมาณแพลงก์ตอนมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งจะส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในห่วงโซ่อาหาร

        ด้วยเหตุนี้จึงอยากให้ทุกคนได้ตระหนักว่าในมวลน้ำที่กว้างใหญ่ ยังมีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่มีความสำคัญอาศัยอยู่ด้วย เพื่อจะได้ยั้งคิดสักนิดก่อนที่จะกระทำสิ่งใดก็ตามที่ทำให้เกิดการสูญเสียความสมดุลในระบบนิเวศ ซึ่งจะส่งผลกระทบกลับมาสู่ตัวเราเองไม่ช้าก็เร็ว


 
ความหลากหลายของแพลงก์ตอนนานาชนิดในกระแสน้ำ ซึ่งแม้จะมีขนาดเล็ก
แต่เป็นผู้ผลิตที่สำคัญในห่วงโซ่อาหาร
ภาพ :
www.worldproutassembly.org

 

เรื่อง : สุปิยนิตย์ ไม้แพ
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์