เมื่อกล่าวถึงความงดงามใต้ท้องทะเล สิ่งแรกที่คนทั่วไปมักจะนึกถึงก็คือ ปะการังแสนสวยและสัตว์ทะเลสีสันสดใสนานาชนิด น้อยคนนักที่จะนึกถึงอีกสิ่งหนึ่งซึ่งอยู่คู่กันนั่นก็คือ “สาหร่ายทะเล” (Seaweeds) ผู้ผลิตเบื้องต้นที่สำคัญในระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งเราสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ ตามสีสัน คือ สาหร่ายสีแดง สาหร่ายสีเขียว สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน และสาหร่ายสีน้ำตาล สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลกลุ่มนี้ดำรงชีวิตคล้ายกับพืชบนบกทั่วๆไป สร้างอาหารได้เองด้วยการสังเคราะห์ด้วยแสง เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญอย่างมากของสัตว์น้ำจำพวกปลาทะเล และหอยทะเลหลายชนิด
สาหร่ายทะเลมีรูปร่างแตกต่างกันไปหลากหลายรูปแบบ เช่น สาหร่ายสกุล Sargassum จะมีลักษณะคล้ายใบไม้ สกุล Turbinaria จะคล้ายกระบอง สกุล Halimida คล้ายใบมะกรูด ส่วนสกุล Padina จะมีรูปร่างคล้ายพัด นอกจากนี้สาหร่ายทะเลยังมีรูปร่างแบบอื่นๆ อีกมากมาย
“เกาะแตน” เกาะๆ หนึ่งในเขตอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ ใกล้ๆ กับเกาะสมุยอันเลื่องชื่อ เป็นเกาะที่มีธรรมชาติใต้ทะเลที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะด้านความหลากชนิดของสาหร่ายทะเล ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นเมื่อเดือนตุลาคม 2548 พบว่ามีสาหร่ายทะเลครอบครองพื้นที่ชายฝั่งน้ำตื้นเป็นบริเวณกว้าง เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งหลบภัยที่สำคัญของสัตว์ทะเลหลายชนิด ในด้านความหลากชนิดแล้วที่เกาะแตนพบสาหร่ายทะเลมากถึง 41 ชนิด ซึ่งสาหร่ายสีน้ำตาลเป็นสาหร่ายกลุ่มเด่นที่พบเห็นได้ทั่วไป และมีขนาดใหญ่กว่าสาหร่ายกลุ่มอื่นๆ
เกาะแตนยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมในการดำน้ำชมปะการังและสัตว์ทะเล โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากเกาะสมุย ซึ่งการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสาหร่ายทะเลนอกจากจะเป็นความรู้พื้นฐานแล้ว ยังสามารถใช้ช่วยในการให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวและใช้จัดการการท่องเที่ยวได้อีกด้วย
เรื่องและภาพ : อนุชิต ดาราไกร
หน่วยวิจัยสาหร่ายและหญ้าทะเล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์