“หญ้าทะเล” เมื่อได้ยินชื่อนี้ ทุกคนก็อดสงสัยไม่ได้ว่า หญ้าทะเลมันจะเหมือนกับหญ้าที่ขึ้นอยู่บนสนามหน้าบ้านของเราหรือเปล่า แล้วมันมีลักษณะและความสำคัญอย่างไรต่อท้องทะเล ซึ่งคำถามมากมายจะผุดขึ้นในสมองยิ่งถ้าได้เห็นหญ้าทะเลเป็นครั้งแรก
หญ้าทะเล (Seagrass) เป็นพืชมีดอกชนิดหนึ่ง มีโครงสร้างต่างๆ คล้ายพืชบก มีใบที่มีคลอโรฟิลล์ ทำหน้าที่สังเคราะห์แสง แต่มันจะมีลักษณะโดดเด่นแตกต่างไปจากพืชดอกทั่วๆ ไป คือ หญ้าทะเลเกือบทุกชนิดมีวงจรชีวิตสมบูรณ์ใต้น้ำ คือมันจะสืบพันธุ์ ออกดอก ผล เมล็ด และ เจริญเติบโตใต้ท้องทะเลนั่นเอง ซึ่งพวกมันต่างก็ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและการดำรงชีวิตให้สามารถอยู่ได้ในทะเล แล้วหญ้าทะเลมันจะเหมือนกับหญ้าที่เราเห็นอยู่ทั่วๆ ไปหรือเปล่า
หญ้าทะเลมี ราก ใบ และลำต้นใต้ดินเหมือนกับหญ้าทั่วๆ ไป แต่มันจะมีความใกล้ชิดกับพืชบก พวกพลับพลึง และขิงข่ามากกว่าหญ้าที่เราพบเห็น ซึ่งหญ้าทะเลจะมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศใต้ท้องทะเลด้วยการเป็นผู้ผลิตเบื้องต้นในระบบนิเวศทางทะเล และการเป็นผู้ผลิตที่มีประสิทธิภาพนั้น ทำให้แนวหญ้าทะเลเป็นแหล่งอาหารชั้นเลิศของสิ่งมีชีวิตในทะเล อาทิเช่น พยูน และ เต่าทะเล ซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ หญ้าทะเลยังเป็นแหล่งหลบภัยและแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนอีกด้วย ซึ่งความซับซ้อนของแหล่งอาศัยในแนวหญ้าทะเล เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายและความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล
“หญ้าทะเลที่เกาะท่าไร่” เกาะท่าไร่เป็นเกาะเล็กๆ ทางตอนใต้ของเกาะแตน อยู่ในเขตตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่แม้จะเป็นแค่เกาะเล็กๆ แต่ก็หลากหลายไปด้วยหญ้าทะเล ซึ่งเราพบทั้งหมด 4 ชนิดด้วยกัน คือ หญ้าชะเงาใบยาว Enhalus acoroides, หญ้าชะเงาเต่า Thalassia hemprichii, หญ้าเขียวใบแฉก Halodule uninervis และหญ้าใบมะกรูด Halophila ovalis โดยเราจะพบแนวหญ้าทะเลขนานไปตามชายฝั่งของเกาะ และพบสัตว์น้ำนานาชนิดทั้งกุ้ง หอย ปู และปลา อาศัยหลบซ่อนตัวอยู่ในแนวหญ้า ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ต่างๆ ยังคงหลงเหลือให้เห็นได้ที่เกาะท่าไร่แห่งนี้
ถึงแม้แนวหญ้าทะเลบริเวณเกาะท่าไร่จะไม่กว้างใหญ่นักเมื่อเปรียบเทียบกับในหลายพื้นที่ แต่หญ้าทะเลเหล่านี้ก็มีความสำคัญในระบบนิเวศทางทะเล อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในการเรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต และเรียนรู้ที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลเหล่านี้ไว้สืบไป
แนวหญ้าทะเล (Seagrass beds) ที่จะพบเป็นแนวยาวขนานไปกับชายฝั่ง
ของเกาะท่าไร่ ซึ่งจะเห็นได้ชัดในช่วงที่น้ำลง
เรื่องและภาพ : จารุวรรณ มะยะกูล
หน่วยวิจัยสาหร่ายและหญ้าทะเล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์