[singlepic id=577 w=320 h=240 float=]
5 กันยายน 2554 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย รังสิต ปทุมธานี : ดร. ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานร่วมประชุมหารือกับภาคธุรกิจเอกชน ผู้เช่าสถานที่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย กว่า 40 ราย เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแนวทางการพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและบริการต่างๆที่จะรองรับความต้องการและสนับสนุนภาคเอกชน เพื่อเร่งสร้างและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ออกสู่สังคม
[singlepic id=580 w=320 h=240 float=]
ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วท กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 หนึ่งในนโยบายหลักทั้งแปด คือ นโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม โดยมีนโยบายที่สำคัญอยู่หนึ่งข้อ คือ การสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสร้างแหล่งงานเพื่อรองรับบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา ดังนั้น เพื่อเป็นการเร่งผลักดันนโยบายดังกล่าวสู่เชิงปฏิบัติและสร้างบรรยากาศการลงทุนและเพิ่มกำลังแข่งขันของธุรกิจใหม่ๆ ที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นฐานที่จะก้าวสู่ตลาดทุนในอนาคต กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ซึ่ง มีหน้าที่สร้างคุณค่าให้แก่เศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐาน ด้วยการนำองค์ความรู้ใหม่ที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาถ่ายทอดสนับสนุนให้ภาคเอกชนได้ใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดการนำไปต่อยอดเชิงธุรกิจ เกิดมูลค่าเพิ่มและสร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง อันจะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการรวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน
[singlepic id=586 w=320 h=240 float=]
นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเอกชนเพื่อทำการวิจัย หรือร่วมวิจัยกับภาครัฐ โดย อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย(Thailand Science Park) ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมุ่งหวังให้เป็นศูนย์รวมการขับเคลื่อนการวิจัยพัฒนาด้าน ว และ ท ที่ครบวงจร เชื่อมโยงกิจกรรมวิจัยพัฒนาให้เกิดการขยายผลในเชิงพาณิชย์และเกิดประโยชน์ต่อชุมชน ต่อพื้นที่ ตลอดจนเป็นแหล่งพัฒนากำลังคนและสร้างมวลรวม (Critical Mass) ด้านวิจัยพัฒนา ให้กับประเทศ และกระตุ้นจูงใจให้เอกชนมีการลงทุนด้านธุรกิจเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันได้ขยายการดำเนินงานในระยะที่ 2 โดยอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารนวัตกรรม 2 ซึ่งจะมีขนาดพื้นที่อาคารเพิ่มขึ้นอีก 124,000 ตารางเมตร จะเปิดดำเนินการได้ในปี 2556 ในช่วง 2 ปีต่อจากนี้
ดร.ปลอดประสพฯ รมว.วท. กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทช. คงจะเน้นหนักในเรื่องการเตรียมความพร้อมที่จะรองรับ phase 2 และเติมเต็มสิ่งที่ขาด เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการเทคโนโลยีเพิ่มเติมจากระยะที่ 1 ที่ให้บริการเต็มพื้นที่แล้ว ซึ่ง สวทช. ได้ลงทุนเพิ่มเติมในส่วนห้องปฏิบัติการวิจัยของภาครัฐเพื่อรองรับความจำเป็นเร่งด่วนด้าน ว และ ท ของประเทศ คาดว่าเมื่อเปิดดำเนินการเต็มรูปแบบแล้วจะมีผู้ประกอบการเทคโนโลยีเช่าพื้นที่ประมาณ 200 ราย เกิดการจ้างงานประมาณ 2,000 คน และจะทำให้ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย(Thailand Science Park) เป็นแกนกลางในการเหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาทั้งจากนักลงทุนไทยและต่างประเทศได้อย่างเต็มศักยภาพ
[singlepic id=583 w=320 h=240 float=]
ด้านดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผอ.สวทช.กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการทั้งหมดที่เช่าใช้พื้นที่Thailand Science Park ใน Phrase 1เพื่อทำวิจัยพัฒนาปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้น 115 บริษัท แบ่งเป็นประเภทของธุรกิจ เช่น ด้านอาหาร การเกษตร และการแพทย์ ยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบ พลังงานและสิ่งแวดล้อม คอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ และ Business Support โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการมีความพึงพอใจและได้รับประโยชน์ในการใช้โครงสร้างพื้นฐานต่างๆเพื่อทำการวิจัยพัฒนา อาทิ เครือเบทาโกร ซึ่งได้มาจัดตั้ง Betagro Science Center เพื่อเป็นศูนย์วิจัยพัฒนาของเครือเบทาโกร และให้บริการตรวจวิเคราะห์และเป็นห้องปฏิบัติการกลางเพื่อการทดสอบอาหารสัตว์ การเฝ้าระวังสุขภาพและวินิจฉัยโรคสัตว์ และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เพื่อการบริโภค หรือบริษัท ไฮกริม เอนไวรอลเมนทอล แอนด์ รีเสิร์ช จำกัด ซึ่งร่วมทุนวิจัยกับไบโอเทค สวทช.วิจัยและผลิตสารชีวบำบัดจากจุลินทรีย์ เพื่อขจัดและบำบัดน้ำมัน น้ำเสีย ในโรงงานอุตสาหกรรม และปั๊มน้ำมัน และยังเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเป็นกลยุทธ์การสร้างความสามารถทางการแข่งขันใหม่ (Green Strategy) ซึ่งเป็นเรื่องที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ และบริษัท แอร์ โพรดักส์ เอเชีย (เทคโนโลยีเซ็นเซอร์) จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำระดับโลกในเรื่องเทคโนโลยีการแปรรูปอาหาร ที่ตัดสินใจตั้งศูนย์เทคโนโลยีอาหารแห่งใหม่ในเอเชีย เพื่อที่จะนำเอาเทคโนโลยีการแช่เย็น และระบบบรรจุภัณฑ์แบบใหม่มาสู่ลูกค้าในเอเชีย ก็ตัดสินใจเข้ามาทำงานในอุทยานวิทยาศาสตร์เนื่องจากเล็งเห็นความพร้อมในเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือและอุปกรณ์ตลอดจนห้องปฏิบัติการทางจุลวิทยาที่จำเป็นที่อยู่ที่ศูนย์ไบโอเทค สิ่งนี้ได้ช่วยทำให้สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันได้ ฯลฯ