เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2552 ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบและการวิจัยพัฒนาด้านพลังงานทดแทน ระหว่างบริษัท บางจากไบโอฟูเอล จำกัด กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ
ชี้รัฐสนับสนุนพลังงานทดแทนช่วยชาติประหยัดเงินจากการนำเข้าน้ำมัน ประมาณ 80,000 ล้านบาท
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กรมอู่ทหารเรือ กรมส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กลุ่มบริษัท สามมิตรมอเตอร์แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (มหาชน) บริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) สมาคมเครื่องจักรกลไทย และบริษัท เกรทอะโกร จำกัด เป็นต้น ได้เข้ามามีส่วนแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวในพื้นที่ทุ่งหลวงรังสิตตอนบน ที่ครอบคลุมอาณาเขตถึง 5 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ
ตอนเหนือ ปทุมธานี สระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา โดยการนำเอาพืชพลังงานมาปลูกในพื้นที่ การจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อแปรรูปผลผลิตพลังงานเหล่านั้น เช่น น้ำมันปาล์มเป็นไบโอดีเซลในกลุ่มเกษตรกร ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่ทุกฝ่ายร่วมกันทำงาน โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยกันแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้ การทดสอบการปลูกปาล์มและสบู่ดำ ปรากฎว่า สามารถแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวเหล่านั้นได้อย่างยั่งยืน และสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ไม่ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อไร่ต่อปี
นอกจากนี้ การลงนามความร่วมมือระหว่าง บริษัท บางจากไบโอฟูเอล จำกัด สวทช. และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ถือเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่ง ด้วยบริษัทน้ำมันของชาติจะเข้ามามีส่วนร่วมในการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร เพื่อนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซล ณ ศูนย์ผลิตไบโอดีเซล อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับทุ่งหลวงรังสิตอยู่แล้ว และจะเป็นส่วนสำคัญที่ให้ผู้ประกอบการ ผู้ปลูกพืชน้ำมันในทุ่งหลวงรังสิตและพื้นที่ภาคกลางทั้งหลาย มีทางออกในการส่งผลผลิตเหล่านั้นเข้ามาแปรรูป มีตลาดที่ยั่งยืนและมั่นคงต่อไป
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของเอ็มเทค/สวทช. มีนโยบายสนับสนุนการใช้ไบโอดีเซล ดังนั้น การร่วมมือในครั้งนี้กับบริษัท บางจากไบโอฟูเอล จำกัด จึงเป็นข่าวดีที่ทั้ง 2 หน่วยงานได้มีโอกาสทำงานร่วมกันในด้านการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานทดแทนและการผลิตไบโอดีเซล ตลอดจนมีความประสงค์จะร่วมมือกันในการซื้อขายปาล์มน้ำมันดิบ จากเกษตกรในโครงการโรงงานสาธิตการผลิตไบโอดีเซลสำหรับชุมชนแบบครบวงจรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ที่ทางเอ็มเทค/สวทช.ได้จัดทำขึ้นจนสามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือดังกล่าว สวทช. จะเป็นผู้ประสานงานการดำเนินงานโครงการการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ ระหว่าง บริษัท บางจากไบโอฟูเอล กับวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการกับเอ็มเทค เพื่อเแปรรูปเป็นน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันไบโอดีเซลในปริมาณ 60 ตันต่อเดือน หรือประมาณ 2 ตันต่อวัน เป็นระยะเวลา 5 ปี รศ.ดร.ศักรินทร์ฯ กล่าว
ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัท บางจากไบโอฟูเอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จะรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ จากวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม ที่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ช่วยวิจัยพัฒนาด้านเมล็ดพันธุ์ปาล์มซึ่งจะให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์และร่วมกันวิจัยและพัฒนาสร้างนวัตกรรมพลังงานทดแทนในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันไบโอดีเซล ทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันร้อยละ 5 ภายในปี 2554 โดยนำไบโอดีเซล B100 ไปใช้ผสมกับน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจาก 1.35 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 2.5 ล้านลิตรต่อวัน พร้อมกำหนดเป้าหมายให้มีการจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล B5 ทั่วประเทศ และ B10 ในบางพื้นที่ ระหว่างปี 2554-2565 ซึ่งการที่จะขับเคลื่อนพลังงานทดแทนไบโอดีเซลให้เป็นไปตามเป้าหมายของภาครัฐได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งต้นน้ำซึ่งเป็นวัตถุดิบโดยเฉพาะน้ำมันปาล์มดิบ และปลายน้ำที่เป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายถึงมือผู้ใช้อย่างกว้างขวางและทั่วถึง “ปัจจุบันปาล์มเป็นพืชพลังงานหลักที่เป็นวัตุดิบในการผลิตไบโอดีเซล การวิจัยและพัฒนาพันธุ์ปาล์มให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ปัจจุบันมีผลผลิตต่อไร่ประมาณ 2.8 ตันต่อไร่ต่อปี ในอนาคตต้องพัฒนาให้ได้มากกว่า 3.2 ตันต่อไร่ต่อปี ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมโรงสกัดน้ำมันปาล์มในประเทศ และลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้ปีละประมาณ 80,000 ล้านบาท” ดร.อนุสรณ์ กล่าว
[singlepic id=131 w=320 h=240 float=]
[singlepic id=129 w=320 h=240 float=]
[singlepic id=130 w=320 h=240 float=]
[singlepic id=132 w=320 h=240 float=]
[singlepic id=133 w=320 h=240 float=]